กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติการขายขีปนาวุธร่อน (Cruise Missile) จำนวน 220 ลูกให้กับออสเตรเลีย ภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 895 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ข้อเสนอขายดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการลงนามอนุมัติจากสภาคองเกรส ยังรวมถึงขีปนาวุธโทมาฮอว์ก (Tomahawk Missile) ซึ่งเป็นขีปนาวุธร่อนนำวิถีระยะไกล ความเร็วต่ำกว่าเสียง ตลอดจนการสนับสนุนทางเทคนิค
โดยขีปนาวุธที่ออสเตรเลียสั่งซื้อนี้จะใช้ในเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนีย ที่ออสเตรเลียจะได้รับจากสหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคง AUKUS ซึ่งเป็นสนธิสัญญาไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย มั่นใจว่า การสั่งซื้อขีปนาวุธดังกล่าวจะเป็นการเสริมศักยภาพทางทหารที่สำคัญยิ่งแก่ออสเตรเลีย และจะช่วยในการรักษาความมั่นคงนอกชายฝั่งได้มากขึ้น
ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การขายขีปนาวุธดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของออสเตรเลียในการปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังทางทะเลของสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตรอื่นๆ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการมีส่วนร่วมในภารกิจที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ ในช่วงต้นก่อนที่จะได้รับมอบเรือดำน้ำจากสหรัฐฯ ขีปนาวุธที่ออสเตรเลียสั่งซื้อนี้จะถูกใช้กับเรือพิฆาตชั้นโฮบาร์ตของกองทัพเรือออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในการทำข้อตกลงซื้อขายขีปนาวุธระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ มีขึ้นหลังการเปิดตัวสนธิสัญญา AUKUS เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มีนาคม) ซึ่งเป็นแผนสร้างกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เห็นพ้องร่วมกันเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
โดยภายใต้สนธิสัญญา ออสเตรเลียจะได้กองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชุดแรกของประเทศ ซึ่งอย่างน้อย 3 ลำจะได้จากสหรัฐฯ
ขณะที่จีนประณามสนธิสัญญา AUKUS ว่า “ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแข่งขันด้านอาวุธและการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่”
ภาพ: U.S. Navy via Getty Images
อ้างอิง: