การเดินทางครบปีที่ 5 ของโครงการ ‘ไทยเด็ด’ ที่ริเริ่มโดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และพันธมิตร คือหนึ่งในบทพิสูจน์ความสำเร็จของการเติมเต็ม ‘โอกาส’ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ หรือ ‘เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน’ ของ OR
เพราะ OR เชื่อเสมอว่า ‘โอกาส’ ไม่ได้ถูกสร้างจากคนเพียงคนเดียว แต่จะต้องสร้างไปด้วยกันกับสังคมชุมชน ดิษทัต ปันยารชุน CEO OR เน้นย้ำเรื่องการทำงานเป็นทีมด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อให้ OR เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ดิษทัต ปันยารชุน CEO OR
ลงพื้นที่ชุมชนผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร
ปีนี้สิ่งที่ OR โฟกัสเป็นพิเศษคือ SDG ในแบบฉบับของ OR หรือ OR SDG เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจของ OR จะเติมเต็มโอกาสให้กับคนไทยได้อย่างไร และจะสร้างการเติบโตในรูปแบบไหนถึงจะทำให้ทุกคนก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
SDG ในแบบฉบับของ OR แบ่งออกเป็น
- SMALL (S) สร้างโอกาสเพื่อคนตัวเล็ก ผ่านการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน
- DIVERSIFIED (D) พัฒนาโอกาสเพื่อการเติบโตหลากหลายรูปแบบ ด้วยการใช้ศักยภาพของ OR ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ค้าปลีกที่รวมถึง พีทีที สเตชั่น Café Amazon และธุรกิจไลฟ์สไตล์ในเครือทั้งหมด
- GREEN (G) โอกาสเพื่อสังคมสะอาด ผ่านการส่งเสริมธุรกิจสีเขียว เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 ตลอดจนมุ่งสู่การบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมง
สานต่อโครงการ ‘ไทยเด็ด’ ตอกย้ำการสร้างโอกาสให้คนตัวเล็ก
หนึ่งในโครงการที่อยู่ในแนวทางการสร้างอนาคตธุรกิจที่ยั่งยืนในแบบฉบับของ OR ก็คือ ‘ไทยเด็ด’ โครงการที่สร้างโอกาสให้คนตัวเล็กได้เติบโตไปพร้อมกัน
‘ไทยเด็ด’ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายมุ่งมั่นในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับชาวบ้าน และเติมเต็มคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีให้แก่ชุมชน เกษตรกร ผู้คนในชุมชนโดยรอบ และสังคมไทย ด้วยการคัดเลือกของดีของเด็ด หรือสินค้าประจำท้องถิ่นทั่วประเทศจากกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน นำมาสนับสนุนด้านการตลาดและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดย OR รับหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้และสนับสนุนช่องทางการขายให้กับสินค้าชุมชนผ่านทาง พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ เพื่อโอกาสทางธุรกิจที่เข้าถึงผู้ซื้อทั่วประเทศไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนกว่า 170 ชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs กว่า 130 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ มีสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าและมุมไทยเด็ดภายในกว่า 300 รายการ มีความหลากหลายตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ
ตอนนี้ OR กำลังเดินหน้ากระตุ้นการสร้างโอกาสให้ประชาชนและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศผ่านโครงการไทยเด็ดที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในหลายด้าน พร้อมประกาศเป้าหมายปี 2566 จะขยายช่องทางจัดจำหน่ายผ่าน พีทีที สเตชั่น เป็น 300 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้รวมจากปีละกว่า 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนสินค้าในกลุ่ม ‘ไทยเด็ด Select’ มากขึ้น เพื่อทำให้การขับเคลื่อนการสร้างโอกาสเพื่อคนตัวเล็ก และวิสัยทัศน์ ‘เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน’ เห็นผลมากยิ่งขึ้น
ผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร ต้นแบบสินค้า ‘ไทยเด็ด Select’
ภายใต้โครงการไทยเด็ด จะมีการคัดเลือกสินค้าที่มีความโดดเด่นด้านเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นเข้ามาเป็น ‘ไทยเด็ด Select’ ทุกปี โดยปี 2565 สินค้าไทยเด็ดที่ได้รับเลือก ได้แก่ ถั่วลายเสือ จ.แม่ฮ่องสอน, ข้าวบุญบันดาล จ.มหาสารคาม, ขนมโบว์อิสตานา จ.ปัตตานี, สแน็คบาร์ผลไม้ ไรซ์ มี จ.ระยอง และผ้าทอย้อมครามบ้านคำประมง จ.สกลนคร
ฝ้ายซีกวงมาย้อมสีธรรมชาติ เช่น คราม โคลน และเปลือกไม้
อย่างที่รู้กันว่าสกลนครเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องผ้าฝ้ายย้อมคราม อันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษโดยเฉพาะ กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมงที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านวัยกลางคน ใช้เวลาว่างจากการทํานา ทําสวน มาทอผ้าเพื่อจําหน่ายเป็นรายได้เสริม ก็ได้พัฒนาแนวคิดผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับงานดีไซน์ใหม่ๆ โดยนำฝ้ายซีกวงมาย้อมสีธรรมชาติ เช่น คราม โคลน และเปลือกไม้ ก่อนนําไปทอเป็นลวดลายต่างๆ สามารถสร้างผลงานผ้าทอที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง
โครงการไทยเด็ดได้เข้ามาสนับสนุนด้านการตลาดและขยายช่องทางจำหน่ายให้กับกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมงตั้งแต่ปี 2564 โดยเข้าไปให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้โดดเด่น และนำสินค้าไปจัดจําหน่ายในกรุงเทพฯ และ พีทีที สเตชั่น กว่า 80 แห่ง โดยปี 2566 มีแผนจะเพิ่มเป็น 300 แห่งทั่วประเทศ
สินค้าจากกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมง จ.สกลนคร
จินตนา พงพานิชย์ ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เล่าว่า เดิมทีคนในหมู่บ้านมีอาชีพทำนาและปลูกพริกเป็นหลัก การทอฝ้ายย้อมครามคือภูมิปัญญาที่ตกทอดมาของชุมชนนี้ และด้วยความรักในการทอผ้าและมีไอเดียด้านการออกแบบและการย้อมสีธรรมชาติจึงสละที่ดินสร้างโรงทอผ้าย้อมคราม ชักชวนแม่บ้านและผู้สูงวัยที่มีฝีมือรวมกลุ่มกัน สร้างสรรค์ลายผ้าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบ้านคำประมง เช่น ผ้าพันคอย้อมครามและผ้ามัดหมี่ลวดลายกลีบมะเฟืองและลายโค้งภูพาน ก็ได้รับการส่งเสริมให้เป็น OTOP 5 ดาว ในปี 2566
“การที่ OR คัดเลือกให้ผ้าย้อมครามบ้านคำประมงเป็น ‘ไทยเด็ด Select’ สร้างโอกาสให้กับชุมชนเราอย่างมาก ทำให้ช่างทอทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน มีเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนมาร่วมพัฒนาการทอ ช่วยกันวางแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และพัฒนาลวดลายใหม่ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ พอสินค้าถูกเห็นมากขึ้นก็มีผู้จัดจำหน่ายติดต่อเข้ามาทำให้มียอดสั่งจองตลอดทั้งปี สร้างรายได้ให้คนในชุมชนจากเดิมได้รับ 300 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 15,000 บาทต่อเดือน การได้รับเลือกยังทำให้เราได้ฟื้นฟูร่วมสร้างคุณค่ามรดกวัฒนธรรมผ้าทอสกลนครให้เป็นที่ประจักษ์ และสร้างความยั่งยืนจากการใช้ผ้าทอได้จริงกับหลากหลายแฟชั่นทันสมัย”
กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมงถือเป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จของโครงการ ‘ไทยเด็ด’ ในการนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับวัฒนธรรมเพื่อนำชุมชนสู่ความยั่งยืน
นอกจากโครงการไทยเด็ด OR ยังเดินหน้าปั้น ‘ตลาดเติมสุข’ ใน พีทีที สเตชั่น เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรหรือคนในชุมชนมาจำหน่ายสินค้าชุมชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยนำรูปแบบตลาดนัดมาผสมผสานกับโครงการด้านชุมชน และจุดเด่นของ พีทีที สเตชั่น เพื่อสร้างความสุขให้ผู้คนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งยังเป็นการตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางชุมชน (Living Community) และเป็นผู้นำสถานีบริการที่มุ่งช่วยเหลือชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีร้านค้าและกิจกรรมต่างๆ เช่น โซนร้านค้าวิสาหกิจชุมชนไทยเด็ด พื้นที่ปันสุขเพื่อชุมชน ร้านดังห้ามพลาด และมุมถ่ายรูปที่สื่อถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงมุมดนตรีให้ฟังเพลินๆ
วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากไฮโซ บานาน่า จากโครงการไทยเด็ด
‘ตลาดเติมสุข’ ที่ พีทีที สเตชั่น สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
ดิษทัตเผยว่า ปีนี้เริ่มต้นตลาดเติมสุขที่ พีทีที สเตชั่น สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นที่แรก ภายใต้แนวคิด ‘สืบสานหัตถศิลป์ถิ่นสกลนคร’ นำสินค้าหัตถศิลป์ อาหาร ผลผลิตจากชุมชนเกษตรกรรมสกลนคร รวมถึงสินค้าไทยเด็ดกว่า 25 รายการ ไม่ว่าจะเป็นผ้าย้อมคราม งานจักสาน เครื่องประดับผ้าจากชุมชน ผลิตภัณฑ์อาหารจากโครงการไทยเด็ด ฯลฯ โดยจะเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมภายใน พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า OR สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์ ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ หรือ ‘เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน’ ได้อย่างแท้จริง ไปพร้อมๆ กับ ‘คนตัวเล็ก’ ด้วยการเติมเต็มโอกาสผ่านการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน