×

โครงการวิลโลว์คืออะไร ทำไมจึงถูกต่อต้านจากนักสิ่งแวดล้อม

14.03.2023
  • LOADING...
โครงการวิลโลว์

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากที่ตัดสินใจอนุมัติ ‘โครงการวิลโลว์’ (Willow Project) ให้เดินหน้าต่อไปได้ เมื่อวานนี้ (13 มีนาคม) ส่งผลให้ไบเดนต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์

 

โครงการวิลโลว์คืออะไร

 

วิลโลว์เป็นโครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ ที่ผลักดันและพัฒนาโดยบริษัทชั้นนำด้านพลังงานอย่าง ConocoPhillips ซึ่งได้เริ่มสำรวจค้นหาแหล่งพลังงานในรัฐอะแลสกามานานกว่า 50 ปี โดยเช่าพื้นที่ส่วนแรกในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งน้ำมันสำรองแห่งชาติในรัฐอะแลสกา (NPR-A) ตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเรียกพื้นที่ดังกล่าวนี้ว่า Bear Tooth Unit (BTU)

 

ต่อมาในปี 2016 ConocoPhillips ได้ขุดพบบ่อน้ำมันจำนวน 2 บ่อใน BTU ซึ่งให้ผลตอบแทนมหาศาล จึงมีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่ในการสำรวจและขุดเจาะให้กว้างมากยิ่งขึ้น ConocoPhillips จึงเปิดตัวโครงการวิลโลว์ขึ้นในปี 2017 และในอีก 1 ปีต่อมาบริษัทได้ยื่นเรื่องขออนุญาตเดินหน้าโครงการกับหน่วยงานด้านการจัดการที่ดิน (BLM) เพื่อก่อสร้างแท่นขุดเจาะ 5 แท่น พร้อมขุดบ่อน้ำมันอีก 50 หลุมโดยมีบ่อรวมไม่เกิน 250 หลุม รวมถึงก่อสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขุดเจาะพลังงาน โดยมีมูลค่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาสูงถึงราว 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการบริหารงานโดยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ปี 2020 BLM ได้อนุมัติโครงการวิลโลว์ หลังจากที่มีการประเมินโครงการและหารือในรายละเอียดกันมาระยะหนึ่ง ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม 2021 ศาลในรัฐอะแลสกาจะคัดค้านใบอนุญาตโครงการวิลโลว์ เนื่องจากมองว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้วิเคราะห์รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากต่างประเทศอย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตีความสิทธิของผู้ถือสัญญาเช่า รวมถึงไม่พิจารณาตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการผลิตน้ำมันสำรอง NPRPA ในเขตพื้นที่พิเศษแถบทะเลสาบในอาร์กติกอะแลสกา

 

หลังจากที่ BLM ชี้แจงรายละเอียดต่อศาลในรัฐอะแลสกาในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2023 โดยปรับลดแท่นขุดเจาะให้เหลือเพียง 3 แท่น และมีจำนวนบ่อรวมลดลง ก่อนที่กระทรวงมหาดไทยภายใต้รัฐบาลของโจ ไบเดน จะอนุมัติโครงการวิลโลว์ให้ดำเนินต่อไปได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา 

 

โดยได้รับการสนับสนุนจากลิซา มูร์โควสกี และแดน ซัลลิแวน วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ รัฐอะแลสกาจากพรรครีพับลิกัน รวมถึงแมรี เพลโตลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ รัฐอะแลสกาจากพรรคเดโมแครต ซึ่งพวกเขาต่างเชื่อว่าการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลา และในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็ต้องการน้ำมัน และโครงการวิลโลว์ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการบรรเทาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ด้านพลังงานภายในประเทศ 

 

ConocoPhillips เคยคาดการณ์ว่าโครงการวิลโลว์นี้จะช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่กว่า 2,800 ตำแหน่ง รวมถึงผลิตน้ำมันได้สูงสุดราว 180,000 บาร์เรลต่อวัน และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ไรอัน แลนซ์ CEO ของ ConocoPhillips ได้เน้นย้ำว่า “การตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับอะแลสกาและชาติของเรา” ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มระดับความมั่นคงทางพลังงาน สร้างงานสร้างอาชีพ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชุมชนพื้นเมืองในรัฐทางตอนเหนือแห่งนี้

 

ทำไมโครงการวิลโลว์จึงถูกต่อต้านจากนักสิ่งแวดล้อม

 

แม้ว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 มีนาคม) รัฐบาลสหรัฐฯ จะประกาศเขตความคุ้มครองใหม่ในรัฐอะแลสกา โดยประกาศปิดกั้นเขตพื้นที่ 2.8 ล้านเอเคอร์ในภูมิภาคนี้จากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเสนอเพิ่มพื้นที่เขตคุ้มครองอีก 13 ล้านเอเคอร์ และสนับสนุนการปรับลดสเกลจำนวนแท่นขุดเจาะของโครงการวิลโลว์ลง เพื่อสร้างหลักประกันและลดแรงปะทะในสังคม

 

หน่วยงานด้านการจัดการที่ดินของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า โครงการวิลโลว์จะผลิตก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซด์มากถึง 278 ล้านเมตริกตันในช่วง 30 ปีตามอายุของโครงการ ซึ่งเทียบเท่ากับการเพิ่มจำนวนรถยนต์บนท้องถนนของสหรัฐฯ ปีละ 2 ล้านคัน

 

โดยบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างมองว่าการอนุมัติโครงการดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่ไบเดนเคยประกาศไว้ว่า ตนจะเป็นผู้นำในการรับมือกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก 

 

นอกจากนี้ การอนุมัติยังมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลไบเดนได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความทะเยอทะยานมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ อย่างการกำหนดเป้าหมายให้สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่งภายในทศวรรษนี้ เมื่อเทียบกับปี 2005 

 

ทางด้าน Greenpeace ได้ประณามโครงการดังกล่าวไว้ว่าเป็นโครงการ ‘ระเบิดคาร์บอน’ (Carbon Bomb) ที่จะมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะที่เจนนี โรว์แลนด์-เชีย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาที่ดินสาธารณะในสหรัฐฯ ชี้ว่า การอนุมัติดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดพลาด เนื่องจากโครงการวิลโลว์เป็นภัยพิบัติด้านสภาพอากาศที่สร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน แต่กลับผลักภาระและความเสี่ยงให้กับชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอาร์กติกที่ค่อนข้างเปราะบางและอ่อนไหว

 

ด้านซันนี อัห์ก นักเคลื่อนไหวชนพื้นเมืองรุ่นใหม่จากรัฐอะแลสกา กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาและขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงก๊าซในแถบอาร์กติกเป็นระยะเวลาอีก 30 ปี ในขณะที่ผู้บริหารนอกรัฐได้รับผลกำไรมากเป็นประวัติการณ์ แต่พลเมืองในพื้นที่กลับถูกทอดทิ้งให้ต่อสู้กับผลกระทบที่เป็นอันตรายท่ามกลางแท่นขุดเจาะที่อยู่รายล้อม”

 

ขณะที่เบน เจียลัส ประธานกลุ่มองค์กรการกุศลด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Sierra Club ระบุว่า “การตัดสินใจในครั้งนี้จะเป็นหายนะต่อสัตว์ป่า ผืนดิน ชุมชน รวมถึงสภาพภูมิอากาศของเรา”

 

โดยแมตต์ แมคเกรธ ผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักข่าว BBC วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไบเดนตัดสินใจอนุมัติโครงการวิลโลว์นั้น อาจเป็นเพราะโครงการดังกล่าวนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านการเมืองและข้อกฎหมาย ซึ่งทำให้รัฐบาลไบเดนพยายามหาทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุดท่ามกลางแรงกดดันจากทิศทางต่างๆ นั่นคือการอนุมัติโครงการดังกล่าว แต่ปรับลดสเกล และเพิ่มข้อจำกัดต่างๆ เพื่อหาจุดสมดุล 

 

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลไบเดน จึงได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังทำเนียบขาว และร่วมลงชื่อใน Change.org กว่า 3 ล้านรายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการวิลโลว์นี้ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่ากรณีการอนุมัติโครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้จะส่งผลต่อคะแนนความนิยมของไบเดนในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 ไม่มากก็น้อย

 

ภาพ: Celal Gunes / Anadolu Agency via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X