CGS-CIMB เปิดโผหุ้นเด่นในตลาดอาเซียน รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว ฟันธงอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ไม่เข้าสู่ภาวะ Recession เนื่องมาจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ ท่องเที่ยวฟื้น เงินเฟ้อลด ตลาดแรงงานฟื้น ธนาคารกลางแข็งกร้าวลดลง และจีนเปิดประเทศ
Nazmi Idrus หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ CGS-CIMB ในมาเลเซีย มีมุมมองเชิงบวกในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย จะไม่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ เนื่องจากปัจจัย 5 ประการ ได้แก่
- การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
- อัตราเงินเฟ้อที่กำลังลดลง
- การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน
- ธนาคารกลางมีมุมมองสายเหยี่ยวลดลง
- การเปิดประเทศอีกครั้งของจีน ซึ่งไม่เพียงแต่นำไปสู่การปรับปรุงกิจกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังจะนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมอีกด้วย
“ธนาคารกลางต่างๆ กำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย โดยขณะนี้ธนาคารบางแห่งกำลังเปลี่ยนจากการมุ่งเป้าไปที่เงินเฟ้อเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน” Nazmi Idrus กล่าว
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม Nazmi Idrus ระบุว่า ยังคงต้องจับตาประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อไป เนื่องจากอาจมีเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้นในปีนี้ที่อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง เช่น Black Swan หรือเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด หรือสงครามในไต้หวัน หากสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงก็จะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศในเอเชียได้
ด้าน เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในงาน CGS China-ASEAN Business Leaders ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคมว่า แม้ว่าตลาดหุ้นปีนี้จะปรับลดลงประมาณ 4% (YTD) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีนมากที่สุด โดยตามข้อมูลจากปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนขาออก เดินทางมาประเทศไทยมากที่สุด รองจากฮ่องกงและมาเก๊า
“ไทยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนในปี 2019 และโดยปีนี้ไทยตั้งเป้าไว้ 25 ล้านคน ปีหน้า 40 ล้านคน โดยในปี 2019 ภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 11% ของ GDP และคิดเป็นเพียง 3% ในปีที่แล้ว โดยเราคาดว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีนี้ อยู่ที่ 6% และเป็น 10% ในปี 2024” เกษมกล่าว
เปิดโผหุ้นเด่นรับสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว
โดยในงาน CGS-CIMB ยังได้คัดเลือกหุ้นเด่นในตลาดต่างๆ เพื่อรับอานิสงส์เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวด้วย เริ่มจาก
Hadi Soegiarto, Head of Research ของ CGS-CIMB ในอินโดนีเซียได้เลือก BFI Finance Indonesia Tbk (BFIN) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการเงินในอินโดนีเซีย โดยชี้ว่าธนาคารของอินโดนีเซียมีสภาพคล่องจำนวนมากในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ นอกจากนี้ BFIN ยังเป็นธนาคารที่น่าสนใจ ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันโดยใช้รถยนต์เป็นหลักประกันอีกด้วย
สำหรับหุ้นเด่นมาเลเซีย ได้แก่ Hong Leong Bank ซึ่งเป็นธนาคารในมาเลเซีย และ Genting Malaysia ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลายด้านทั้งรีสอร์ต สวนสนุก อสังหาริมทรัพย์ และไบโอเทคโนโลยี พร้อมทั้งชี้ว่า จนถึงตอนนี้ ราคาหุ้นของ Genting Malaysia ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดอยู่มาก โดย Chehan Perera, Head of Research, CGS-CIMB ในมาเลเซียมองว่า หุ้นของ Genting Malaysia จะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดภายใน 18 เดือนข้างหน้า
ด้าน เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) มองว่า 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ คือภาคธนาคารและการบริโภค โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แต่ระหว่าง 2 ธนาคารนี้ CGS-CIMB เลือก SCB มากกว่า เพราะราคา SCB ยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก
“แบงก์จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด เนื่องจาก ความกังวลเรื่อง NLP จะลดลง ความจำเป็นที่แบงก์จะต้องตั้งสำรองเยอะก็ลดลง ขณะเดียวกันก็น่าจะปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ทำให้ Spread ของแบงก์ปรับตัวดีขึ้น”
ขณะที่หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคในไทย เกษมแนะนำ CPALL แม้ว่าตัวเลขไตรมาสที่ 4 ที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและบุคลากรที่สูง แต่เกษมมองว่า CPALL จะได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายทั่วไปที่เพิ่มขึ้น และจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับสิงคโปร์ CGS-CIMB แนะให้ลงทุนใน Sembcorp Industries เนื่องจากราคาพลังงานที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางการขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน ส่วนหุ้นอีกตัวคือ Sea Limited ซึ่งเป็นบริษัทด้านอินเทอร์เน็ต จากผลกำไรสุทธิที่เกินคาด