ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ไฟเขียวมาตรการล่าสุด เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากทุกประเทศเพิ่ม 25% ซึ่งจะมีผลช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อกดดันการนำเข้าเหล็กให้ลดลงราว 13 ล้านตัน และกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างธุรกิจยานยนต์และก่อสร้างให้หันมาใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ บราซิล เกาหลีใต้ รัสเซีย ตุรกี และญี่ปุ่น ซึ่งมีปริมาณส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 15 ล้านตัน หรือคิดเป็น 40% ของปริมาณนำเข้าเหล็กทั้งหมด
ส่วนผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่าปริมาณส่งออกเหล็กของไทยไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง 2 แสนตัน หรือ 9% ของปริมาณเหล็กส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตลาดหลักในการส่งออกเหล็กหลักของไทย
กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบคือท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เหล็กแผ่นเคลือบ และเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าส่งออกโดยรวม 7 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.07% ของมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมดของไทยในปี 2560
EIC แนะนำผู้ประกอบการไทยหาตลาดส่งออกใหม่เพื่อชดเชยการซื้อจากสหรัฐฯ ที่จะหายไป ผู้ประกอบการควรพิจารณาโอกาสในการขยายตลาดไปยังฟิลิปปินส์และกัมพูชาที่มีการนำเข้าสูง และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคก่อสร้าง
ส่วนเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเลียม ผู้ประกอบการควรพิจารณาโอกาสในการส่งออกไปยังแอลจีเรียที่กำลังมีการลงทุนเพื่อขยายโรงกลั่นน้ำมันดิบในประเทศ เป็นต้น
สิ่งที่น่าพิจารณาคือผลกระทบทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้นน่าจะมีเหล็กจากกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจะถูกส่งออกมาทำตลาดในไทย โดยเฉพาะเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากรัสเซีย เหล็กเส้นจากตุรกี และลวดเหล็กจากจีน EIC อ้างว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมาตรการป้องกันทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ จึงต้องรอติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป