ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดกลยุทธ์ปี 2566 มุ่งลงแข่งสนามถนัด ASEAN, Wealth Management, Treasury และสินเชื่อ ตั้งเป้าลงทุนด้านไอทีเพิ่ม 15-20% หวังช่วยดันธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัลโต 20%
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การเติบโตในปี 2566 ของธนาคารยังอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์เดิมที่ต้องการเป็น A Digital-Led Bank with ASEAN Reach โดยจะเน้นลงแข่งในสนามที่ตัวเองถนัด ได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management) ธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) ธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อย (Loans) ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน นอกจากนี้จะชูจุดแข็งการเป็นธนาคาร ASEAN โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของกลุ่ม
พอลกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการชำระเงินระหว่างประเทศในอาเซียนหลังการคลี่คลายของโรคระบาดเติบโตขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากบริการชำระเงินระหว่างประเทศ่ผ่าน QR Payment ระหว่างไทยกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งซีไอเอ็มบี ไทย เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ QR Payment ระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-อินโดนีเซีย ผ่านแอปโมบายล์แบงกิ้งของธนาคาร
นอกจากนี้บนแอปพลิเคชันของธนาคารยังมีบริการเปิดบัญชีเงินฝากดิจิทัลดอกเบี้ยสูงจูงใจ บริการจองซื้อหุ้นกู้ตลาดแรก ตลาดรอง และล่าสุดได้เพิ่มกองทุนรวม Open Architecture เข้าไปทำให้ธุรกรรมโดยภาพรวมของ CASA (เงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน) และ AUM (เงินลงทุน) ปีที่ผ่านมา เติบโตกว่า 200%YoY
“ผลประกอบการปี 2565 เติบโตขึ้นจากการตั้งสำรองลดลงและควบคุมค่าใช้จ่าย แต่เรื่องที่จำเป็นธนาคารก็ยังเดินหน้าลงทุน โดยเฉพาะงบด้านไอทีปีนี้จะลงทุนเพิ่ม 15-20% เพื่อบริการที่ดีขึ้น รองรับเป้าหมายที่อยากดันธุรกรรมให้เติบโตขึ้น 20% ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้า 600,000 ราย เป็นลูกค้าที่ใช้บริการผ่านดิจิทัลประมาณ 300,000 ราย โดยจะผลักดันให้ลูกค้าเก่าหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแผนที่จะปิดสาขาที่ปัจจุบันมีอยู่ 53 แห่ง แต่มีแผนจะปรับบางสาขาให้เป็น Wealth Center ให้สอดคล้องกลยุทธ์บุก Wealth Management” พอลกล่าว
สำหรับธุรกิจ Treasury ที่ปัจจุบันรั้งอันดับ Top 5 ของการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาธนาคารได้พาลูกค้าเข้าระดมทุนรวม 1 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมที่ 1.2 ล้านล้านบาท และคาดว่าปีนี้ตลาดจะยังสดใสในช่วงครึ่งแรกของปี ส่วนครึ่งหลังของปีต้องจับตาทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นว่าจะกระทบตลาดตราสารหนี้มากน้อยเพียงไร
สำหรับสินเชื่อและเงินฝากปีที่ผ่านมา เติบโต 11.0% และ 21.0% ตามลำดับ เป็นตัวสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัว ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อเติบโตตัวเลขหลักเดียวระดับสูง โดยจะรุกลูกค้าบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจและการลงทุนไปยังอาเซียน ในปีที่ผ่านมาธนาคารมีบทบาทหลักในการสร้างธุรกิจภายในภูมิภาคให้แก่บริษัทแม่ ส่วนลูกค้า SMEs ไม่ได้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้า แต่ยังคงดูแลฐานลูกค้าเดิม ด้านสินเชื่อรายย่อย ธนาคารตั้งเป้าจะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์
ด้านสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าปีนี้จะทรงตัวจากปี 2565 ที่ระดับ 3.3% ซึ่งเป็นระดับที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 จากการปรับพอร์ตโฟลิโอส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68