ศึก F1 ฤดูกาลที่ 74 ในประวัติศาสตร์ ใกล้จะเปิดฉากกันอย่างเต็มที่แล้วหลังจากการทดสอบรถครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้นลงไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า นับถอยหลังจากวันนี้ เหลือเวลาอีกเพียงแค่ไม่ถึง 1 สัปดาห์ก่อนที่ศึกบาห์เรนกรังด์ปรีซ์ที่สนามบาห์เรนอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิตจะเปิดฉากขึ้น
เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาของศึก F1 ฤดูกาลใหม่ THE STANDARD ก็อยากจะรวบรวมทุกเรื่องราวน่ารู้ เพื่อตอบทุกคำถามก่อนฤดูกาลนี้จะเปิดฉาก ไม่ว่าจะเป็น F1 ฤดูกาลนี้แข่งเมื่อไร, แข่งขันกี่สนาม, ใครแข่งขันบ้าง, สนามใหม่กี่สนาม, ที่ไหนบ้าง หรือต่างจากปีก่อนอย่างไร?
ไลน์อัพนักขับ F1 ฤดูกาล 2023
จากรายชื่อนักขับด้านบน จะเห็นว่า 3 ทีมยักษ์ใหญ่ทั้งเรด บูลล์ เรซซิง, เฟอร์รารี และเมอร์เซเดส รวมไปถึงอัลฟาโรเมโอ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนักขับในทีมจากฤดูกาลก่อนเลย ทว่า บรรดาทีมรองๆ ลงมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย และถือเป็นหนึ่งในฤดูกาลที่มีการเปลี่ยนแปลงนักขับอย่างมากภายในปีเดียว
จิ๊กซอว์ตัวแรกในการเปลี่ยนแปลงนักขับทั้งหมดฤดูกาลนี้คือ การรีไทร์ของ เซบาสเตียน เวตเทล อดีตแชมป์โลกวัย 35 ปี ส่งผลให้ แอสตัน มาร์ติน ไปดึงตัว เฟอร์นานโด อลอนโซ จากทีมอัลพีน มาร่วมทีม
เฟอร์นานโด อลอนโซ, ลูอิส แฮมิลตัน และ แม็กซ์ เวอร์สแตพเพน คือ 3 อดีตแชมป์โลกที่ลงแข่งขันในฤดูกาล 2023
อัลพีนที่เสียอลอนโซไป พยายามจะผลักดัน ออสการ์ ปิอัสทรี นักขับในสังกัด ขึ้นมาเป็นตัวจริงในฤดูกาลหน้า แต่ปิอัสทรีก็ชิงไปเช็นสัญญาขับให้แม็คลาเรนเสียก่อน ทำให้สุดท้ายอัลพีนต้องไปดึง ปิแอร์ แกสลีย์ อดีตนักขับอัลฟาทอรี มาขับร่วมกับ เอสเตบัน โอกอง กลายเป็น ‘French Connection’ จากทีมสัญชาติฝรั่งเศสทีมนี้
ขณะที่อัลฟาทอรีที่เสียแกสลีย์ไปจากทีม ก็ดึง นิก เดอ ฟรายส์ อดีตนักขับดีกรีแชมป์ฟอร์มูลา E ซึ่งยังเป็นอดีตนักขับสำรองของเมอร์เซเดส มาร่วมทีม เพื่อมาจับคู่กับ ยูกิ ซึโนดะ นักขับชาวญี่ปุ่น กลายเป็นคู่นักขับดาวรุ่ง
ด้าน วิลเลียมส์ ยังคงใช้ อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ นักขับชาวไทย เป็นตัวหลัก แต่มีการเปลี่ยนแปลงคู่หูของเขา โดยแทนที่ นิโคลัส ลาติฟี ที่มีเพียง 2 คะแนนในปีก่อน ด้วยนักขับดาวรุ่งเลือดใหม่อย่าง โลแกน ซาร์เจนต์
ปิดท้ายที่ทีมฮาส ซึ่งเสีย มิค ชูมัคเกอร์ ที่กลายไปเป็นนักขับสำรองของทีมเมอร์เซเดส ก็ไปคว้า นิโก ฮูล์เคนเบิร์ก กลับมาแข่งขันอีกครั้งร่วมกับ เควิน มักนุสเซน เพื่อสู้ศึกในฤดูกาลนี้
ปฏิทินการแข่งขัน F1 ฤดูกาล 2023
ปฏิทินการแข่งขัน F1 ในฤดูกาลนี้จะเพิ่มเป็น 23 สนามเป็นปีแรก แม้ว่าแผนนี้จะถูกวางไว้ตั้งแต่ปีก่อน แต่มีอันต้องลดเหลือ 22 สนามจากการเปิดฉากสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้รัสเซียนกรังด์ปรีซ์ต้องถูกยกเลิกไป
ในปีนี้แม้รายการไชนีสกรังด์ปรีซ์จะยังไม่สามารถกลับมาจัดการแข่งขันได้ด้วยเหตุผลเดิมคือ มาตรการ Zero-COVID ของจีน แต่ศึก F1 จะได้กาตาร์กรังด์ปรีซ์กลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้ง หลังจากที่ปีก่อนต้องถอนตัวไป เพราะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
ขณะที่ลาสเวกัสกรังด์ปรีซ์จะกลายเป็นรายการใหม่ของศึก F1 ปีนี้ หลังเซ็นสัญญาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจนถึงปี 2032
ส่วนการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือ การสลับสนามการแข่งขันเล็กน้อย โดยในปีนี้ F1 จะไม่มีการแข่งขันแบบทริปเปิล-เฮดเดอร์ (3 สัปดาห์ติด) ก่อนพักเบรกฤดูร้อนอีกต่อไป โดยจะเหลือเพียง 2 สัปดาห์ติดในรายการฮังกาเรียนกรังด์ปรีซ์ วันที่ 23 กรกฎาคม ต่อด้วยเบลเจียนกรังด์ปรีซ์ วันที่ 30 กรกฎาคม เท่านั้น
ขณะที่อาเซอร์ไบจานกรังด์ปรีซ์จะกลับไปจัดในช่วงฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูกาลอีกครั้ง ส่วนเฟรนช์กรังด์ปรีซ์ก็หลุดโผจากตารางการแข่งขันในปีนี้ โดยพวกเขาจะมีบทบาทในการเป็นสนามจัดการแข่งขันแบบหมุนเวียนเท่านั้น
ข้อบังคับทางเทคนิคที่เปลี่ยนแปลง
ในศึก F1 ฤดูกาลใหม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับทางเทคนิคหลายข้อ ซึ่งข้อบังคับเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบรถที่เพิ่งเปิดตัวกันไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย
ข้อแรกที่หลายฝ่ายพูดถึงคือการ ‘ลด Porpoising’ หรืออาการรถกระดอน มีลักษณะคล้ายกับการกระโดดโต้คลื่นของโลมา (Porpoise = โลมา) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากในการแข่งขันปีก่อน
Bumpy road to the top for Charles Leclerc! 🤕#F1 pic.twitter.com/Z6a5e6d3bo
— Formula 1 (@F1) February 24, 2022
ภาพการเกิด Porpoising กับรถของ ชาร์ลส์ เลอแคลร์ เมื่อฤดูกาลก่อน
อาการ Porpoising ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการควบคุมรถเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของนักขับโดยตรง ปีที่แล้วมีนักขับหลายคนบ่นถึงอาการปวดหลังจากสภาวะ Porpoising ส่งผลให้สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) ตัดสินใจออกข้อบังคับเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ข้อกำหนดที่ถูกออกมาเพื่อลดปัญหา Porpoising คือการเพิ่มความสูงพื้นรถขึ้นมาอีก 15 มิลลิเมตร และความสูงของ Diffuser หรืออุปกรณ์ทางอากาศพลศาสตร์ ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บริเวณส่วนใต้ท้องรถด้านหลัง ก็ถูกปรับเพิ่มขึ้นมาอีก 10 มิลลิเมตรเช่นกัน
ข้อต่อมาคือ ‘การเปลี่ยนแปลงการออกแบบ Roll Hoop’ หรือโครงเหล็กด้านหลังศีรษะนักขับ โดยคำสั่งนี้เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุที่รถของ โจวกวนยู ที่ไปชนกับ จอร์จ รัสเซลล์ จนพลิกคว่ำด้วยความเร็วถึง 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นทำให้ Roll Hoop เสียหาย และทิ้งร่องรอยผิวแทร็กเป็นทางยาวในสนามซิลเวอร์สโตน
โดยกฎใหม่ที่ออกมาเกี่ยวกับ Roll Hoop จะเน้นไปที่ความปลอดภัย โดยทาง FIA จะให้การออกแบบใหม่นี้ลดโอกาสที่ Roll Hoop จะยุบเพราะแรงกระแทก แล้วไปขูดพื้นสนามอีก ซึ่งหาก Roll Hoop ไม่ยุบแบบที่เคยเกิดขึ้นกับรถของโจว โอกาสที่นักขับจะปลอดภัยก็จะมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการสั่ง ‘เปลี่ยนแปลงขนาดของกระจกข้าง’ จากเดิมที่มีขนาด 150×50 มิลลิเมตร จะถูกปรับให้ใหญ่ขึ้นเป็น 200×60 มิลลิเมตรด้วย
ขณะที่อีก 2 การเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงในแง่ของ ‘น้ำหนักและอุณหภูมิเชื้อเพลิง’ กับ ‘ใช้มาตรฐานค่าความผันผวนทางแอโรไดนามิก’
โดยในเรื่องของน้ำหนักและอุณหภูมิเชื้อเพลิงมีการอนุญาตให้เพิ่มน้ำหนัก พาวเวอร์ ยูนิต จากเดิม 150 กิโลกรัม เป็น 151 กิโลกรัมในฤดูกาลนี้ ขณะที่ในส่วนของอุณหภูมิเชื้อเพลิงมีการกำหนดให้อุณหภูมิเชื้อเพลิงต่ำสุดเปลี่ยนเป็น 10 องศาเซลเซียส จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 20 องศาเซลเซียลด้วย
อีกด้าน ‘ค่าความผันผวนทางแอโรไดนามิก’ (Aerodynamic Oscillation Metric: AOM) ถูกประกาศใช้ในฤดูกาลนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าทีมจะไม่ใช้เสรีภาพในการตั้งค่าแอโรไดนามิกของรถโดยละเลยความปลอดภัย
โดยมาตรวัดความเร่งมาตรฐานที่ FIA ติดตั้งกับรถแต่ละคันจะคอยรายงานว่ารถมีคุณสมบัติตรงตาม AOM ที่กำหนดโดย FIA หรือไม่ โดยค่าสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 10 จูลต่อกิโลกรัมต่อ 100 กิโลเมตร ซึ่งถ้ามีค่า AOM เกิดกำหนด FIA สามารถสั่ง DQ (Disqualify) ผู้ขับขี่ได้ทันที
กฎการแข่งขันที่เปลี่ยนไป
ในศึก F1 ฤดูกาลนี้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการออกแบบแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎการแข่งขันอีกหลายข้อเช่นกัน
เริ่มเรื่องแรกตั้งแต่เรื่องนโยบายความยั่งยืนของ F1 ที่ดำเนินการมาตลอด และพวกเขาก็เพิ่มความเข้มข้นในนโยบายนี้ไปอีกขั้นด้วยการกำหนดให้มี 2 เรซ จะเปลี่ยนมาใช้ยาง 11 เซ็ต จากเดิม 13 เซ็ต ในการควอลิฟายแทน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นเหมือนการ ทดลองก่อนนำไปปรับใช้จริงในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการปรับลดจำนวนวันในการทดสอบรถก่อนเปิดฤดูกาลใหม่ลงจากเดิมที่ปี 2022 การทดสอบรถกันถึง 6 วัน มาเหลือแค่ 3 วันในปี 2023
ขณะเดียวกันในฤดูกาล 2023 ทาง F1 ก็มีการเพิ่มควอลิฟายแบบ Sprint Race เป็น 6 สนามในฤดูกาลนี้ ได้แก่ ในรายการอาเซอร์ไบจานกรังด์ปรีซ์, ออสเตรียนกรังด์ปรีซ์, เบลเจียนกรังด์ปรีซ์, กาตาร์กรังด์ปรีซ์, ยูไนเต็ดสเตทกรังด์ปรีซ์ และบราซิเลียนกรังด์ปรีซ์ ซึ่งเพิ่มจากปี 2022 ที่มีเพียง 3 เรซ เป็นเท่าตัว
อีกประเด็นสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ เรื่องของการตัดสินการแข่งขันในเรซที่จบสั้นกว่าที่ควรจะเป็น หลังมีดราม่าการตัดสินในการแข่งขันรายการเจแปนิสกรังด์ปรีซ์เมื่อปีก่อน โดยการแข่งขันในครั้งนี้ไม่ได้แข่งในระยะเต็มเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ต้องมีการใช้ธงแดงพักการแข่งขันไปร่วมชั่วโมง ก่อนจะกลับมาแข่งอีกราว 40 นาที
โดยหลังจบการแข่งขันมีการตัดสินให้คะแนนเต็มในการแข่งขันเรซนั้นตามลำดับการเข้าเส้นชัย แม้ว่าระยะทางจะเสร็จสิ้นน้อยกว่า 75% ก็ตาม
ซึ่งในปีนี้มีการแก้ไขให้การแข่งขันทั้งหมดที่มีระยะทางน้อยกว่า 75% ของระยะทางการแข่งขันจะให้คะแนนตามสเกลระยะทางที่แข่งขันได้ โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะจบภายใต้เงื่อนไขธงสีแดงหรือสีเขียว
นอกจากนี้ยังมีการออกกฎการแสดงท่าทีทางการเมือง (International Sporting Code: ISC) ที่มีการปรับปรุงให้มีการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับนักแข่งและทีม
โดยมีการระบุอย่างชัดเจนว่า นักขับและทีมต้องได้รับอนุญาตจาก FIA ก่อนดำเนินการแถลงการณ์ทางการเมืองหรือการประท้วง และการประท้วงใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถือเป็นการละเมิดกฎความเป็นกลางของ FIA ด้วย
พร้อมกันนั้น F1 ยังมีการผ่อนคลายกฎเกี่ยวกับโควิดในฤดูกาลนี้เพิ่มเติม หลังจากที่ฤดูกาลก่อนได้ยกเลิกข้อกำหนดสำหรับการสวมหน้ากากและการตรวจโควิดในการเดินทางหรือแข่งขันไปก่อนแล้ว
ซึ่งในฤดูกาลนี้ FIA ได้ยกเลิกการพิสูจน์หรือยืนยันเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ทำงานในแพ็ดด็อกด้วย
ใครปัง ใครพัง หลังทดสอบครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้น
หลังการทดสอบรถตลอด 3 วันที่ผ่านมา ในช่วงทดสอบก่อนเริ่มฤดูกาล สื่อหลายสำนักก็ได้ตัดเกรดหรือจัดอันดับทีมต่างๆ ที่จะมีโอกาสทำผลงานได้ดีและทำผลงานได้น่าผิดหวังกันบ้างแล้ว
โดย 3 ทีมที่ทำผลงานได้ไม่น่าประทับใจที่สุดในช่วงทดสอบก่อนเริ่มฤดูกาลก็เห็นจะหนีไม่พ้นวิลเลียมส์ อัลฟาทอรี และอัลพีน
ทางวิลเลียมส์มีปัญหาชัดเจนเรื่องการควบคุมรถ จนมีรถหลุดออกนอกแทร็ก และยังมีปัญหาในเรื่องของ Downforce แม้ โลแกน ซาร์เจนต์ จะทำผลงานได้น่าประทับใจ แต่โดยรวมในฤดูกาลนี้ก็ยังน่าเป็นห่วง
ขณะที่อัลฟาทอรีลงทดสอบมากกว่าทุกทีมถึง 456 รอบ โดยปัญหาของทีมเหมือนจะอยู่ที่ นิก เดอ ฟรายส์ อย่างชัดเจน แม้ว่าเขาจะทำเวลาดีขึ้นมาในช่วงการทดสอบวันสุดท้าย เช่นเดียวกับ ยูกิ ซึโนดะ แต่นั่นอาจจะเพราะยางซอฟต์และน้ำหนักของเชื้อเพลิงที่น้อยกว่า
ส่วนอัลพีนนั้นรถรุ่น A523 ของพวกเขามีปัญหาเรื่องของ Porpoising ในทางตรงอย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะมาจากการตั้งค่าแอโรไดนามิก แต่ถึงอย่างนั้นในการแข่งขันจริงสัปดาห์นี้พวกเขาก็อาจทำผลงานได้ดีขึ้นก็ได้ หากมีการอัปเกรดรายละเอียดต่างๆ ของทีมงานที่ดีพอ
ขณะที่ทีมที่ทำผลงานได้น่าประทับใจประกอบด้วย เรด บูลล์, เฟอร์รารี และแอสตัน มาร์ติน
เรด บูลล์ เป็นทีมที่ทำเวลาได้ดีที่สุดในรอบ Pre-Season
สำหรับเรด บูลล์ เรียกได้ว่า ‘โดดเด่น’ ในรอบการทดสอบครั้งนี้เลยทีเดียว ด้วยการทำผลการทดสอบมาเป็นอันดับ 1 หลังขับไป 413 รอบ แถม เซร์คิโอ เปเรซ ยังทำเวลาดีที่สุดต่อรอบด้วยเวลา 1 นาที 30.305 วินาที นั่นทำให้รถ RB19 ดูเหมือนรถที่ดีที่สุดในการทดสอบรอบนี้ไปโดยปริยาย
ส่วนเฟอร์รารีแม้จะไม่ได้ทำผลงานน่าประทับใจเท่ากับเรด บูลล์ โดยเฉพาะเวลาในการวิ่งต่อรอบในระยะยาว แต่หลังจบการทดสอบครั้งนี้ก็คงสามารถบอกได้ว่า ความมั่นใจของทีมม้าลำพองกลับมาแล้วอย่างสมบูรณ์ และพวกเขาพร้อมจะเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ในการป้องกันแชมป์ของทีมเรด บูลล์ ปีนี้อย่างแน่นอน
ปิดท้ายกันที่แอสตัน มาร์ติน เรียกได้ว่าทำผลงานได้น่าเซอร์ไพรส์ในการทดสอบ พวกเขาจบอันดับที่ 7 จาก 10 ทีมในปีก่อน แต่กลับทำผลงานได้ไม่น้อยหน้าเมอร์เซเดสที่จบอันดับที่ 3 ในปีที่แล้วตลอด 3 วันในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้การันตีว่าในสนามแรกของการแข่งขัน แอสตัน มาร์ติน จะคว้าชัยเหนือทีมซิลเวอร์ แอร์โรว์ แต่พูดได้เลยว่า รถรุ่น AMR23 ของพวกเขาน่าลุ้นและน่าเชียร์มากทีเดียวในปีนี้
อ้างอิง:
- https://www.motorsport.com/f1/news/2023-f1-season-everything-we-know-drivers-cars-tracks-more/10401360/
- https://www.crash.net/f1/news/1009990/1/everything-you-need-know-about-f1-2023
- https://the-race.com/formula-1/ranking-the-2023-f1-teams-from-slowest-to-fastest-after-testing/
- https://racingnews365.com/the-five-losers-from-2023-pre-season-f1-testing
- https://onestopracing.com/what-is-ground-effect-in-f1/