×

มักกะสันคอมเพล็กซ์: เมกะโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ บนพื้นที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

28.02.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 MIN READ
  • โครงการเมกะโปรเจกต์รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่ได้มีเพียงโครงการการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอีกหนึ่งโครงการใหญ่อย่าง โครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน (มักกะสันคอมเพล็กซ์)
  • โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ราว 497 ไร่ แบ่งย่อยพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ มีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เครือเจริญโภคภัณฑ์) เป็นผู้ได้รับสัมปทานในพื้นที่ส่วนที่ 1
  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้ทำการขอเช่าพื้นที่ในส่วนที่ 4 เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นจุดพักอุปกรณ์ก่อสร้าง หากปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมืองมากกว่า 10,000 ชีวิต
  • คนในชุมชนรวมตัวกันเพื่อต่อรองขอเช่าพื้นที่เดิมเพื่ออยู่อาศัยระหว่างที่บ้านพักแห่งใหม่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หลังปัญหาการขับไล่ผู้อยู่อาศัยจากพื้นที่ ประกอบกับความไม่ชัดเจนในการจัดการพื้นที่ของ รฟท.
  • บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ตกอยู่ใต้ความรับผิดชอบที่ต้องชำระค่าสัมปทานให้กับ รฟท. เป็นจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท ทว่าสัญญาข้อตกลงดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมอีกครั้งภายในเดือนมีนาคม 2566

ในปี 2561 คณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในทางคมนาคมและการขนส่ง จากนั้นปี 2562 ได้มีการเปิดประมูลสัมปทานให้กลุ่มเอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ รวมถึงร่วมลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

 

หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน หรือที่รู้จักกันในนาม มักกะสันคอมเพล็กซ์ โดยโครงการนี้ในปัจจุบันมีการเปิดประมูลสัมปทานแล้ว 1 ครั้ง บนพื้นที่ 140 ไร่ ผู้ได้รับสัมปทานคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์)

 

สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ชิ้นนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ให้เป็นสถานีกลางเพื่อเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สถานีมักกะสันเป็นศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟเชื่อมสามสนามบิน ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังภาคตะวันออกและสิ้นสุดที่สนามบินอู่ตะเภา 

 

รวมถึงเปลี่ยนโฉมสถานีมักกะสันเป็นสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือ City Air Terminal ออกแบบให้มีเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วเครื่องบินและเคาน์เตอร์สำหรับเช็กอินเที่ยวบิน รวมถึงผู้โดยสารสามารถเช็กอินการเดินทางและสัมภาระจากสถานีมักกะสันได้ทันที ไม่ต้องนำกระเป๋าเดินทางติดตัวไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ที่จอดรถรายวันจำนวน 500 คัน พื้นที่ออฟฟิศ และพื้นที่มิกซ์ยูส (Mixed Use) ต่างๆ ทั้ง ศูนย์อาหาร ศูนย์การค้า รวมไปถึงคอนโดมิเนียม

 

พื้นที่ทั้งหมดของโครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน และมักกะสันคอมเพล็กซ์ อยู่ใต้การดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีขนาดพื้นที่รวมทั้งสิ้น 497 ไร่ โดยจะแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่

 

  1. โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟมักกะสันและมักกะสันคอมเพล็กซ์ จำนวน 140 ไร่

 

  1. พื้นที่ราว 180 ไร่ ที่ปัจจุบันคือโรงงานมักกะสัน จะนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สำนักงาน พื้นที่การค้า และศูนย์ข้อมูลต่างๆ 

 

  1. พื้นที่ราว 38 ไร่ จะมีการดำเนินตามแผนของ รฟท. เพื่อปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์รถไฟ และพื้นที่ของส่วนราชการ

 

  1. พื้นที่ราว 150 ไร่ จะเปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนมาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการศึกษาว่าอาจจะพัฒนาเป็นโรงพยาบาล คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ และโรงเรียนนานาชาติ 

 

โดยที่ดิน 150 ไร่แปลงสุดท้ายที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร (โรงพยาบาลรถไฟ) สถานีตำรวจรถไฟมักกะสัน และ 5 ชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยรวมกันกว่า 3,000 ครัวเรือน หรือประมาณกว่า 10,000 คน

 

หมายเหตุ: ปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) พื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรแน่นอนแล้วมีเพียงส่วนที่ 1 สำหรับส่วนที่ 2-4 ยังไม่มีการกำหนดตัวเลขของการแบ่งพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษร รายละเอียดในส่วนของขนาดพื้นที่ภายใต้โครงการนี้จึงเป็นเพียงการประมาณการ และอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

 

เบื้องต้น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้วางแผนงานสำหรับส่วนที่ 1 หรือส่วนของโครงการปรับปรุงสถานีรถไฟมักกะสันและมักกะสันคอมเพล็กซ์ จำนวน 140 ไร่ ใต้งบประมาณลงทุนประมาณ 2.24 แสนล้านบาท ดังนี้

 

บริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสิ่งปลูกสร้างและให้บริการต่างๆ ดังที่ปรากฏในสัญญา โดยรัฐบาลจะมอบงบสนับสนุน 1.19 แสนล้านบาท และทางบริษัทจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือ หรือประมาณ 1.05 แสนล้านบาท เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางบริษัทจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ต่างๆ จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปจนครบระยะเวลาสัญญา 50 ปี  

 

นอกจากเงินลงทุนจำนวน 1.05 แสนล้านบาทข้างต้นแล้ว บริษัทยังต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาทอีกด้วย โดยเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในปี 2612 ทรัพย์สินต่างๆ ที่ทางบริษัทสร้างและพัฒนาทั้งหมดบนพื้นที่นี้จะเป็นของ รฟท. 

 

สำหรับพื้นที่ในส่วนที่ 2-4 ที่ยังไม่ได้มีเปิดการประมูลสัมปทาน สิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ยังคงอยู่ที่ รฟท.

 

ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันแบ่งเป็นพื้นที่ 5 ชุมชน จำนวน 3,000 กว่าครัวเรือน ชุมชนมีพื้นที่ที่หลากหลาย นับตั้งแต่บ้านเรียงรายริมทางรถไฟ ไปจนถึงบ้านแออัดกระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อน

 

ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน

 

แม้ว่าการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ 497 ไร่ ใต้โครงการสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน และมักกะสันคอมเพล็กซ์ จะสำเร็จไปแล้วบางพื้นที่ หากบางส่วนอย่างพื้นที่ส่วนที่ 4 จำนวน 150 ไร่ ที่วางแผนจะให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงตกอยู่ใต้ข้อขัดข้องบางประการ

 

หนึ่งในนั้นคือการขับไล่ผู้อยู่อาศัยใน 5 ชุมชน จำนวนกว่า 3,000 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน, ชุมชนนิคมมักกะสัน, ชุมชนหลังวัดมักกะสัน, ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา และชุมชนโรงเจมักกะสัน 

 

เนื่องจากชุมชนทั้ง 5 ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่จะมีการนำมาพัฒนาและสร้างราคาภายใต้โครงการเมกะโปรเจกต์นี้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาทาง รฟท. จึงเริ่มดำเนินงานในการเข้าไปประชาสัมพันธ์และขอพื้นที่คืน เพื่อที่จะได้ทำการส่งมอบพื้นที่ให้กับทางบริษัทผู้รับสัมปทานในอนาคต

 

เพราะเหตุใดการดำเนินงานของ รฟท. จึงมีความล่าช้า ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดึงดันที่จะไม่ยอมย้ายออกจริงหรือเปล่า หรือมีเหตุปัจจัยอื่นใดที่เป็นข้อจำกัดในการโยกย้ายถิ่นฐานของคนจนเมืองเหล่านี้?

 

จากการลงพื้นที่บริเวณชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน พบว่าชุมชนนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 18 ไร่ บริเวณริมทางรถไฟมักกะสันทอดตัวอยู่ระหว่างถนนนิคมมักกะสันและถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มีขนาดประมาณ 500 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 2,050 คน โดยแบ่งเป็นบ้านที่มีทะเบียนบ้านแน่ชัดจำนวน 304 หลังคาเรือน และไม่มีทะเบียนบ้านอีกประมาณ 200 ครัวเรือน

 

ลักษณะความเป็นอยู่ของชาวชุมชนมักกะสัน มีทั้งผู้อยู่มาตั้งแต่แรกเดิมอย่างคนในครอบครัวทำงานเกี่ยวข้องกับ รฟท. คนที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพในบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบ เช่น ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท หรือตามห้างสรรพสินค้าบริเวณประตูน้ำและราชประสงค์ และยังมีบางส่วนที่ย้ายมาจากชุมชนอื่น อย่างบริเวณประตูน้ำและพื้นที่ข้างเคียงที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่ เพราะมีบริษัทเอกชนเข้ามาครอบครอง คนเหล่านี้ก็มาอาศัยรวมกันอยู่ในชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน โดยอาศัยปลูกบ้านขนาดเล็กตั้งเรียงรายกันเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ ในพื้นที่ข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร 

 

สุมิตรา วุฒิวารี ประธานชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน เล่าให้ฟังว่า พื้นที่นี้เป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี อย่างน้อยที่สุดยายของตนก็อยู่มาตั้งแต่ปี 2478 โดยที่ดินเป็นพื้นที่ของ รฟท. ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ในอดีตเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ รฟท. และโรงงานมักกะสัน เมื่อมีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานที่มาทำงานให้กับโรงงานมักกะสัน บ้านพักที่การรถไฟจัดสรรจึงมีไม่เพียงพอกับความต้องการที่อยู่อาศัย แรงงานและครอบครัวจึงได้ปลูกจับจองพื้นที่รกร้างโดยรอบโรงงานเพื่อปลูกสร้างบ้าน

 

เมื่อมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ทาง รฟท. ก็มีการเรียกเก็บค่าเช่ารายปี ปีละประมาณ 80 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวบ้าน และเก็บมาเรื่อยๆ จนถึงประมาณปี 2524 รฟท. ก็เลิกเก็บค่าเช่าโดยไม่ทราบสาเหตุ 

 

ต่อมาในปี 2528 พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น เห็นว่าชุมชนบริเวณดังกล่าวมีผู้คนอยู่อาศัยในลักษณะของประชากรแฝงอยู่จำนวนมาก จึงต้องการจัดระเบียบใหม่ เพื่อให้คนในชุมชนแออัดต่างๆ สามารถเข้ารับการบริการจากกรุงเทพมหานครได้ง่ายขึ้น เช่น การเข้าถึงโรงเรียน การเข้าถึงสถานพยาบาล และการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเพื่อให้ง่ายแก่การติดต่อ 

 

แผนผังชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันในปัจจุบัน

 

จึงสั่งการให้ทางกรุงเทพมหานคร จัดตั้งชุมชนขึ้นมาหลายชุมชน และมอบทะเบียนบ้านให้กับคนในชุมชนต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงสาธารณูปโภคได้ง่ายขึ้น เพราะการที่รัฐออกทะเบียนบ้านรับรองสิทธิอาศัยในพื้นที่ให้ จะเป็นเอกสารที่นำไปใช้ประกอบในการขอใช้สาธารณูปโภค อย่างเช่น น้ำประปาหรือว่าไฟฟ้า หากที่ผ่านมาก็ยังคงติดขัดปัญหาอื่นๆ ทำให้ผู้คนในชุมชนยังไม่ได้รับสาธารณูปโภคที่เพียงพอ

 

บางครัวเรือนแม้มีทะเบียนบ้านแล้ว ก็ยังไม่สามารถยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวงได้ เนื่องด้วยจะต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าของที่ดิน หรือ รฟท. เสียก่อน เมื่อไม่มีการให้อนุญาตจาก รฟท. ทำให้ชาวบ้านในชุมชนยังต้องขอใช้ไฟฟ้าต่อจากบ้านหลังอื่นในละแวกใกล้เคียงที่ได้รับการอนุมัติ และประสบปัญหาการใช้ไฟฟ้าราคาแพง ถึงหน่วยละ 11-14 บาท และอาจจะสูงขึ้นไปอีกเมื่อเป็นการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน อันเนื่องมาจากการคำนวณค่าไฟ

 

ไม่ใช่ไม่พยายาม


บ่อยครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไล่ที่ชุมชนเมือง คนในสังคมมักมองว่า ปัญหาของคนจนในสลัมจำนวนมากเกิดจากการไม่เตรียมตัว ไม่เตรียมความพร้อม ไม่ตระหนักว่าไม่ใช่ที่ของตน และดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายออก แต่สำหรับสุมิตรา เธอให้มุมมองที่แตกต่างออกไป

 

เธอชี้แจงว่าที่จริงแล้วคนในชุมชนมีความพยายามในการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ที่ผ่านมาคนในชุมชนจำนวนมากตระหนักดีว่าพวกตนไม่ได้มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เพราะบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ของ รฟท. ไม่ใช่พื้นที่ของตนเอง ที่ผ่านมาชุมชนเมืองก็มักจะถูกไล่ออกจากพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง 

 

สุมิตราและสมาชิกรายอื่นในชุมชนจึงมีความคิดว่า ชุมชนต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยขึ้นมา อย่างตัวเธอและชุมชนมีความพยายามในการเตรียมความพร้อมมานาน ก่อนหน้าจะมีข่าวเรื่องการไล่รื้อ อย่างเช่น การตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับสร้างบ้านมั่นคง 

 

“เราเคยตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสร้างบ้านมั่นคงมาก่อนแล้วรอบหนึ่งในช่วงปี 2547 ตอนนั้นเราร่วมทำงานกับ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)) เขาก็ถามว่าคุณอยู่ที่ดินรถไฟมันมั่นคงไหม อยากมีบ้านมั่นคงไหม แล้วเสนอว่าเราน่าจะทำการออมกัน เพราะถ้าสักวันมีการไล่รื้อเกิดขึ้น เราจะได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง อย่างน้อยถ้ามีการไล่รื้อขึ้นมาก็จะได้มีข้อต่อรอง เราไม่ได้ต่อรองเพื่อจะดื้อแพ่ง เราต่อรองเพื่อให้คุณหาที่ให้เราอยู่ แต่ตอนนั้นทำได้แค่พักหนึ่งก็เลิกไป เพราะคนในชุมชนก็ยังไม่มีข้อมูลมาก ยังเชื่อเราครึ่งหนึ่ง ไม่เชื่อเราครึ่งหนึ่ง แต่เรารู้แล้วว่าการที่เราออมทรัพย์ เราจะได้บ้านแน่นอน แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะได้บ้านแบบไหนเท่านั้นเอง”

 

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการออมเงินเพื่อบ้านมั่นคงของสุมิตราในปี 2547 ต้องล้มเลิกไปในช่วงปี 2555 เนื่องจากความไม่ชัดเจนในแผนงานการออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสำหรับการสร้างบ้านในอนาคต

 

โซนชุมชนติดริมรางรถไฟ บริเวณชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันโซน 5 ซึ่งสามารถทะลุถนนเพชรบุรีได้ จึงมักมีประชาชนสัญจรเป็นเส้นทางตัดเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางไปทำงาน

 

เตรียมพร้อมก่อนไล่รื้อ

 

หลังจากที่สมาชิกชุมชนได้ทราบถึงข่าวการสร้างทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ชุมชนก็เริ่มตระหนักว่าใกล้ถึงเวลาที่จะต้องโยกย้าย แม้ว่าชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันจะยังไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเหมือนกับชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาการขับไล่และรื้อพื้นที่จากการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เฉกเช่น ชุมชนแดงบุหงา หรือชุมชนบุญร่มไทร บริเวณถนนพญาไท ที่มีข้อพิพาทถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อไล่ผู้อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ 

 

แต่เมื่อชุมชนอื่นที่อยู่ใต้พื้นที่การพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน มันก็ค่อนข้างแน่ชัดว่าภายในเวลาอีกไม่นาน ชุมชนแห่งนี้ก็อาจประสบชะตากรรมเดียวกันกับเพื่อนบ้านในย่านเขตราชเทวี ทางชุมชนจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยการริเริ่มตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาอีกครั้ง

 

“ตอนที่รู้ว่าโครงการ (การพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน) เข้ามา พี่ก็ไปคุยกับชาวบ้านว่า ถ้าเขาจะมีโครงการตรงนี้เข้ามาเราจะว่าอย่างไร ก็จับกลุ่มนั่งคุยกัน บางคนก็บอกว่าเขาจะกลับบ้านนอก บางคนบอกถ้าหัวหน้าทำอย่างไรฉันก็จะทำด้วย ถ้าจะย้ายก็จะย้ายด้วย เราก็บอกเขาไปว่าถ้าจะไปด้วยกัน มันจะต้องมีมาตรการอย่างนี้นะ ต้องมาออมเงินกัน เราออมแล้วเราถึงจะเรียกร้องเรื่องที่อยู่อาศัยได้” สุมิตรากล่าว

 

ใบเสร็จรับเงินการออมทรัพย์ของชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน

 

สุมิตราเล่ารายละเอียดว่า ตัวเธอเองเคยร่วมงานกับ พอช. มาก่อน เป็นเวลาหลายปีที่เธอรับรู้ถึงปัญหาการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชุมชนต่างๆ เธอจึงเข้าไปพูดคุยกับ พอช. และทางหน่วยงานก็ได้เสนอให้ชุมชนเริ่มออมทรัพย์อีกครั้ง เพราะหลักการทำงานของ พอช. และโครงการบ้านมั่นคง คือการที่ชุมชนหรือบุคคลที่จะเข้าร่วมโครงการนี้จะต้องมีประวัติในการออมทรัพย์ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยในแต่ละเดือน เพื่อเป็นหลักประกันชั้นต้นว่าคนในชุมชนมีวินัยทางการเงิน และสามารถผ่อนบ้านได้ในอนาคต

 

“โมเดลของ พอช. คือ ไม่ว่าจะมีเงินน้อยเงินมากไม่เป็นไร แต่อยากให้ออมเพื่อแสดงศักยภาพว่าเราจะสามารถผ่อนบ้านได้ในอนาคต พี่ก็เลยมาชวนคนที่นี่ทำ มานั่งคุยกัน มาออมกัน ทุกวันนี้เราออมกันเดือนละ 500 บาท แต่ถ้าบางเดือนใครไม่มีก็พอพูดคุยกันได้”

 

แม้ว่าทางชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันจะกลับมาทำการออมทรัพย์อีกครั้ง ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียทั้งหมด หนึ่งข้อกังวลหลักคือเรื่องการกำหนดระยะเวลาในการขับไล่ออกจากพื้นที่ ที่ไม่สัมพันธ์กับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคงแห่งใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

 

เมื่อชุมชนแห่งนี้และชุมชนอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าเริ่มประสบปัญหา ระหว่างอาคารหลังใหม่ยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหาข้อสรุป แต่ รฟท. ก็ขยับรุกคืบขับไล่ผู้อยู่อาศัยออกจากพื้นที่โดยไม่มีที่อยู่อาศัยแห่งใหม่รองรับ ทาง พอช. จึงเสนอให้รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อดำเนินการและประสานงานให้เป็นไปในทิศทางเดียว ชุมชนจึงได้ร่วมกันจัดตั้งเป็น เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) รวมถึงเข้าร่วมกับ เครือข่ายสลัมสี่ภาคและพีมูฟ (P-move) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เข้ามาแก้ไขปัญหาการขับไล่ของ รฟท. 

 

ณ เวลานี้ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาในหลายประเด็น โดยทางรัฐบาลออกคำสั่งให้การเคหะแห่งชาติ เข้ามาดูแลในส่วนของการสร้างอาคารหลังใหม่ เพื่อให้คนในชุมชนที่ถูกไล่รื้อเข้าอยู่อาศัย ที่บริเวณซอยหมอเหล็งและบึงมักกะสัน 

 

พื้นที่บริเวณชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันโซน 6 ยังมองเห็นปล่องจากโรงปูนน่ำเฮง และป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ในย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร รายละเอียดเรื่องข้อตกลงและการหาที่อยู่อาศัยใหม่สามารถอ่านได้ที่ ‘แสงสุดท้ายที่ชุมชนบุญร่มไทร การต่อสู้ของคนจนเมืองริมทางรถไฟ เมื่อถูกขับไล่จากภาครัฐ’

 

เมื่อต้นทุนในการย้าย ไม่ใช่แค่ค่าบ้าน

 

อัญชลี อันทะศรี อายุ 42 ปี ชาวชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน เล่าให้ฟังว่า ตนเองอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด มีความผูกพันกับที่แห่งนี้มาก และการย้ายออกจากชุมชนในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลเพียงวิถีชีวิตของเธอเพียงคนเดียว แต่ยังรวมถึงลูกอีก 2 คนที่ยังอยู่ในวัยเรียน ซึ่งหากต้องย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่ไกลจากที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน ก็คงต้องพิจารณาเรื่องของการย้ายโรงเรียนเช่นกัน

 

“ตอนที่รู้ข่าวว่าจะต้องย้ายก็ใจหาย ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะมีลูก 2 คนที่เรียนอยู่แถวนี้ ถ้าย้ายตอนนั้นก็ไม่รู้จะย้ายไปไหน จะไปเริ่มใหม่อย่างไร ลูกจะไปเรียนที่ไหน จะไปทำงานอะไร” อัญชลีกล่าว

 

คำตอบที่เรียบง่ายแสดงถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างผู้คน วิถีชีวิต ที่อยู่อาศัย และอาชีพ เพราะสำหรับคนจนเมืองแล้ว การย้ายที่อยู่อาศัยไม่ใช่เพียงการย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่เป็นเสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยต้นทุนก้อนใหม่ ที่หลายคนก็ไม่แน่ใจนักว่าจะมีต้นทุนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นหรือไม่

 

เธอเล่าถึงความกังวลต่อไปว่า “ไม่ใช่ว่าเราดื้อ เราจะไม่ยอมย้าย เรารู้ว่าที่ดินที่เราอยู่ถ้าพูดมันก็คือบุกรุก แต่ตอนที่รู้ว่าจะต้องย้ายเราก็กังวลเป็นธรรมดา เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าจะต้องไปอยู่ที่ไหน เราเองก็พิการมีปอดข้างเดียว ทำให้ทำงานหนักไม่ได้ มันหางานทำยาก สามีทำงานอยู่แถวนี้ถ้าย้ายไปไกลก็ไม่รู้ว่าจะหางานได้ไหม แล้วถ้าย้ายตอนนั้นจะหาเงินที่ไหนมาย้าย”

 

อัญชลี อันทะศรี อายุ 42 ปี ชาวชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน

 

เธอสะท้อนต่อว่า อย่างในกรณีที่คนในชุมชนทำงานเกี่ยวกับการค้าขาย การที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานมันคือการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะตัวผู้ขายเองก็ต้องหาพื้นที่ขายของแห่งใหม่ และยังไม่สามารถรับประกันเรื่องจำนวนลูกค้าได้อีกด้วย

 

“จริงๆ เวลาที่คนในชุมชนส่วนมากเขาไม่อยากย้ายไม่ใช่เพราะเขาหวงที่ หรือเขาเห็นแก่ตัวหรอกพี่ แต่คือถ้าเราไปที่อื่นไกลๆ เราจะทำมาหากินอย่างไร คนในชุมชนแบบนี้ส่วนมากก็ทำงานขายของ แล้วพอย้ายที่ไปที่ใหม่ก็ต้องหาที่ขายของใหม่ หาลูกค้าใหม่ แล้วเขาจะทำอย่างไร ไปไหนก็ไม่ใช่ว่าจะเอาของไปขายได้เลย เขาก็มีเจ้าที่เจ้าถิ่นอยู่ มีร้านเดิมอยู่ ไปขายมั่วก็ไม่ได้”

 

หรือหากยกตัวอย่างอาชีพอื่น เช่น คนในชุมชนที่ประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มันเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงที่จะเปลี่ยนพื้นที่ประกอบการทำงานในทันที เพราะในแต่ละเขตก็มีผู้ประกอบการหน้าเดิมอยู่แล้ว หากเราเป็นสมาชิกหน้าใหม่เข้าไปก็คงไม่ได้รับการยอมรับ ยังไม่รวมกับเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนของเสื้อวินที่ลงทุนกันไปแล้วพอสมควร

 

สิ่งที่อัญชลีเล่าสะท้อนให้เห็นว่าสำหรับคนในชุมชน มีความตระหนักอยู่เสมอว่าความเปลี่ยนแปลงต้องมาถึง และพวกเขาก็ไม่ได้จะขัดขืนความเปลี่ยนแปลงนั้น 

 

หากการพลิกพื้นที่อย่างถอนรากถอนโคนและไม่มีเวลาให้ตั้งตัวเป็นสิ่งที่รุนแรงเกินไปสำหรับคนที่ไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นรองรับ

 

สำหรับพวกเขา การย้ายที่อยู่อาศัยนั้นไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนสถานที่ตั้งของบ้านหรือเปลี่ยนบรรยากาศโดยรอบ แต่หมายรวมถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เปลี่ยนโรงเรียนของลูกหลาน เปลี่ยนแนวทางการทำมาค้าขาย เปลี่ยนอาชีพ และการเปลี่ยนอาชีพสำหรับคนที่เป็นแรงงานไร้ทักษะ หรือแรงงานทักษะต่ำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงการหาทำเลค้าขายประกอบธุรกิจที่ใกล้กับที่อยู่ใหม่ด้วย โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

 

รถเข็นขายของ อุปกรณ์หาเลี้ยงชีพของผู้อยู่อาศัยรายหนึ่งจอดไว้ริมทางเดินภายในชุมชนโซน 5 ผู้อยู่อาศัยภายในชุมชนโซน 5 ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหาบเร่ขายของที่ตลาด หรือส่วนอื่นๆ รอบบริเวณชุมชน รถเข็นถือเป็นอุปกรณ์เลี้ยงชีพที่ค่อนข้างสำคัญของผู้คนในชุมชน

 

หนทางที่ขรุขระเหมือนทางรถไฟ

 

สำหรับขบวนรถไฟสำหรับการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ของชุมชมริมทางรถไฟมักกะสันที่มีการเตรียมความพร้อมมาบ้าง มีการออมทรัพย์สำหรับการก่อสร้างบ้านมั่นคง อันเป็นความคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งพักพิงแหล่งใหม่ที่ถาวร แต่ก็ยังมีหินก้อนใหญ่มาขวางกลางรางรถไฟ จนเกือบไถลตกราง หินก้อนนั้นก็คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด

 

แต่เดิมในชุมชนแห่งนี้ หนึ่งครอบครัวอาจประกอบด้วยสมาชิกครอบครัว 3-4 คน เป็นแรงงานหรือเป็นผู้ที่สามารถหารายได้เพียง 1-2 คน โดยรายได้เฉลี่ยของแต่ละครอบครัวตกเดือนละประมาณ 8,000-15,000 บาท เมื่อคนหาเช้ากินค่ำในชุมชนต้องประสบกับโรคระบาดโควิด ที่ตัดขาดหนทางในการทำมาหากินแทบทั้งสิ้น สถานการณ์ทางการเงินในชุมชนก็เลวร้ายลงไปอีก 

 

“บ้านหนึ่งก็มีแรงงานแค่คนเดียว แล้วพอโควิดมาก็ตกงานกันเยอะมาก เกินครึ่งชุมชน แบบอยู่กัน 4 คน บางทีก็ทำงานคนเดียว อีกคนตกงาน บางคนก็ป่วยบ้าง พิการบ้าง ต้องเลี้ยงคน 3-4 คน บางทีก็ทำงานได้ไม่กี่วัน ไม่จ้างเต็มเดือนเหมือนแต่ก่อน สัปดาห์หนึ่งได้ทำ 2-3 วัน แล้วเดือนหนึ่งจะได้เท่าไร แล้วต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เลี้ยงคน 3-4 คนจะพอไหมล่ะ” สุมิตราเล่า

 

ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์พักคอยระหว่างช่วงการระบาดของโควิด

 

เธอย้อนความต่อไปว่า หลังจากที่โรคโควิดแพร่ระบาด การออมทรัพย์ของชุมชนก็ต้องสะดุดไป เพราะคนในชุมชนตกงานเป็นจำนวนมาก การจะแบ่งเงิน 500 บาทมาเพื่อออมเงินรายเดือนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งสำหรับหลายๆ ครอบครัวนอกจากจะขาดรายได้แล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมตามมาอีก อย่างเช่นรายจ่ายรายการใหม่ที่ผุดขึ้นมาจำนวนมากจากการเรียนในรูปแบบออนไลน์ 

 

“ยิ่งบ้านที่มีเด็ก มีลูกนะ เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ ต้องไปหาคอมพิวเตอร์ หามือถืออะไรมาให้เรียนออนไลน์ อยู่บ้านก็แพงขึ้นอีก ทั้งค่ากินค่าอยู่ลูก ไหนจะค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟก็เพิ่ม แต่หาเงินได้น้อยลง แล้วคนมันจะทำอย่างไร บางทีก็ไม่พอจะมาออม ป้าก็ต้องเคี่ยวเข็ญให้มาออมให้ได้ เท่าไรก็เอามาก่อน” 

 

ลำไย อายุ 73 ปี เดิมภูมิลำเนาอยู่ที่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มาอาศัยอยู่ในชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันโซน 6 ได้ 30-40 ปีแล้ว ลำไยเล่าว่า เดิมแรกเริ่มเข้ามาประกอบอาชีพขายลาบ ขายน้ำตก เข็นรถอยู่ย่านมักกะสัน-ราชปรารภกับสามี ปัจจุบันสามีเสียชีวิตไปแล้ว

 

นอกจากการขาดรายได้แล้ว อีกปัญหาที่ตามมาจากการระบาดคือปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสิ้นไร้ไม้ตอกและหาทางออกไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อการแพร่ระบาดของโควิดทำให้คนตกงานมากขึ้น และเมื่อคนไร้อาชีพ ขาดรายได้ ก็เป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม

 

“ปัญหาก็มาเป็นทอดๆ ตอนแรกคนก็ตกงาน ตกงานมันไม่มีอะไรทำก็อยู่บ้าน มานั่งมั่วสุมกันบ้าง กินเหล้าบ้างทำอะไรบ้าง พอไม่มีเงินก็เครียด ก็ไปปล้นไปจี้ ไปขโมยของเขา”

 

อีกปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ในชุมชนก็คือ พอไม่สามารถหาเงินได้จากการทำงานโดยสุจริต หลายคนก็หันหน้าไปพึ่งพาการเสี่ยงโชคอย่างการพนัน หรือบางคนก็ต้องไปเงินกู้นอกระบบ ที่ท้ายที่สุดเงินที่หมุนเวียนไม่เพียงพอก็ทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในวงจรอาชญากรรมเหล่านี้ ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้

 

“อีกอันที่เป็นปัญหาคือคนไม่มีเงิน ก็หาทางได้เงินไวแหละ ก็ไปเล่นการพนันบ้าง ไปกู้เงินนอกระบบอะไรต่างๆ พอไม่มีจ่ายก็มาทำเรื่องไม่ดีพวกนี้” 

 

สุมิตราสะท้อนต่อไปว่า จริงๆ แล้วปัญหาอาชญากรรมเกิดเพราะสภาวะว่างงานและ ไม่มีอันจะกิน ถ้าหากมีการหยิบยื่นโอกาส มอบหนทางในการจัดหางานให้คนในชุมชน ก็จะทำให้คนมีกินและทำให้คนไม่ว่าง การจัดหางานจึงอาจเป็นวิธีที่น่าสนใจในการแก้ปัญหา 

 

“ปัญหามาจากไม่มีงาน ง่ายๆ ก็คือหางานให้ทำ อย่างน้อยพอมีอะไรทำก็จะไม่ว่าง ไม่ต้องมานั่งมั่วสุมกัน”

 

เธอเล่าต่อไปว่า เธอได้พูดคุยกับทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ไปบ้าง ให้ลองพิจารณารับคนในพื้นที่ชุมชนเข้าไปทำงานใต้โครงการพัฒนารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ที่กำลังจะก่อสร้าง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีงานและรายได้

 

“มีช่วงหนึ่งที่ทางซีพีเขาเข้ามาคุย บอกว่าถ้าจะเข้ามาทำงานมาก่อสร้างเขากลัวว่าคนในชุมชนจะไปเกเรใส่ ป้าก็บอกเขาไปว่า อันนี้ป้าก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ถ้ามีงานมีอะไรให้ทำก็น่าจะเลิกเกเร หางานให้เราได้ไหม ถ้ามีงานอะไรจะเป็นก่อสร้าง หรืออะไรที่คนในชุมชนเราพอทำได้ก็เอาไปทำหน่อย มีโควตาให้บ้าง ถ้าคุณจะเปิดทำการ งาน รปภ. งานแม่บ้านก็เอาเราไปบ้าง เขาก็บอกว่าจะเอาไปพูดคุยกันดู ถ้าได้จริงๆ มันก็ดี”

 

ลุงสมเดช อาศัยอยู่ในบ้านขนาดเล็กใจกลางชุมชนมักกะสัน พร้อมด้วยสุนัขหลายชีวิตที่เป็นดุจมิตรสหายที่ใกล้ชิด

 

การขอเช่าพื้นที่ที่ไม่คาดคิด

 

แม้ทางชุมชนจะมีความพยายามเตรียมความพร้อมมาพอสมควร ผ่านการริเริ่มการออมทรัพย์และการเข้าไปพูดคุยกับทาง พอช. และเพิ่งมาสะดุดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แต่แผนการเตรียมความพร้อมของทางชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ก็อาจจะไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ตามแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันจะตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนที่ 4 จำนวน 150 ไร่ อันเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการเปิดประมูลสัมปทาน ไม่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนที่ 1 จำนวน 140  ไร่ที่บริษัทได้รับสัมปทานไปก่อนหน้า รวมไปถึงบ้านจำนวนหนึ่งปลูกอยู่ใต้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่จำนวน 2 ป้าย ที่มาเช่าพื้นที่ของการรถไฟทำเป็นป้ายโฆษณาตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางชุมชนเป็นเวลาหลาย 10  ปี

 

ทางชาวบ้านจึงพอใจชื้นได้ว่า จนกว่าทางรัฐจะมีแผนงานการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีผู้ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ และยังอยู่ในช่วงเวลาที่สัญญาของป้ายโฆษณา 2 ชิ้นนี้ยังไม่หมดลง พวกเขาจะยังสามารถอาศัยอยู่ที่เดิม เมื่อบ้านหลังใหม่ใต้ความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติสร้างเสร็จ ก็ค่อยย้ายถิ่นที่อยู่

จนกระทั่งป้ายโฆษณาดังกล่าวหมดสัญญากับการรถไฟไปเมื่อปีที่ผ่านมา 

 

สุมิตราเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “เราโชคดีอยู่อย่างคือตอนรู้เรื่องโครงการพัฒนาพื้นที่ (ปี 2558) การรถไฟยังไม่หมดสัญญากับป้าย แต่ตอนนี้ป้ายเขาเลิกสัญญาแล้ว เพราะพักหลังเขาต่อปีต่อปี แต่ก่อนนี้ 10 ปี 20 ปี 30 ปี ทุกวันนี้เราก็ยังอยู่แบบเสียวๆ ตอนนี้เราก็อาศัยป้าย ถ้าป้ายยังอยู่ เราก็ยังอยู่ได้ ถ้าป้ายไม่อยู่ เราไปแน่นอน พอมันไม่มั่นคงเราก็ปลุกระดมพี่น้องว่าให้มาทำออม แล้วก็มาเรียกร้องกัน อย่างน้อยถ้าป้ายไม่เช่าต่อ เราขอเช่าเอง แบบนี้”

 

ในท้ายที่สุด การยื่นเรื่องขอเช่าพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันใต้ป้ายโฆษณาก็เกิดขึ้น หากผู้ยื่นขอเช่าพื้นที่กับทางเจ้าของพื้นที่อย่าง รฟท. ไม่ใช่ชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน แต่เป็นทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เดินเรื่องทำการขอเช่าพื้นที่จาก รฟท. เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บเครื่องจักรกลหนักในโครงการก่อสร้างส่วนที่ 1 หรือบริเวณตัวสถานีรถไฟฟ้ามักกะสันที่อยู่ใต้การบริการของบริษัท รวมถึงมีแผนการในอนาคตที่อาจจะสร้างเป็นพื้นที่จอดรถ

 

บรรยากาศบริเวณลานกว้างที่เคยเป็นสนามฟุตบอล ออกกำลังกายของชุมชน ถูกคลุมด้วยโครงเหล็กยักษ์ของป้ายโฆษณา

 

“คือซีพีเขาเช่าฝั่งตรงข้ามใช่ไหม ตอนนี้ 140 ไร่ แล้วเขาจะมาขอเช่าตรงนี้ (พื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันไม่อยู่ในพื้นที่สัมปทานที่ทางบริษัทได้รับแล้ว) เพิ่มตรงข้างหน้าให้เป็นที่จอดรถ แต่ป้าไปประท้วงว่าคุณทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะที่ตรงนี้ไม่ได้อยู่ในสัญญาเช่าของคุณ”

 

เมื่อมีการเช่าพื้นที่เพิ่มเติมเกิดขึ้น ในขณะที่ยังมีชาวบ้านอยู่อาศัย และโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติเพื่อรองรับคนในชุมชนยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ทางชุมชนจึงได้ยื่นข้อเสนอไปกับ รฟท. ว่า พวกตนนั้นเข้าใจดีว่าท้ายที่สุดแล้วต้องย้ายออก แต่ ณ เวลานี้พวกตนขออยู่ตรงนี้ไปก่อนได้หรือไม่ เมื่อการสร้างที่อยู่อาศัยเสร็จสิ้นแล้ว พวกตนก็ยินดีที่จะย้ายออกไปในทันที เพราะถ้าต้องออกทันทีในตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนเหมือนกัน

 

“เราก็เลยไปประท้วงว่าที่จะมาเช่าเพิ่มมาทำที่จอดรถ เรายังขอไม่ให้ได้ไหม เราขอเช่าตรงนี้แทนได้ไหม เอามาทำเป็นบ้านคนให้เราอยู่ไปก่อน ให้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของเราไปจนกว่าตึกจะเสร็จ แต่ตอนนี้ทางนั้นเขาขอเช่าแล้ว และยังตกลงกันอยู่ ป้าก็ประท้วงว่ามันไม่ได้ ก็นี่มันเป็นชุมชน คุณจะไล่คนมาทำที่จอดรถได้อย่างไร ป้าก็ยังไม่รู้ว่าระบบมันเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าเขาคุยกันอย่างไร แต่ตอนนี้คือตรงนี้ยังขอไม่ให้ได้ไหม”

 

ถึงแม้การที่ชาวบ้านยังไม่ยอมย้ายออกนั้นอาจดูเผินๆ ว่าเป็นการดื้อแพ่งและเอาเปรียบเอกชนคู่สัญญา ที่ทำสัญญาไว้กับรัฐและได้ลงทุนไปแล้ว ในขณะเดียวกันนั้น

 

พื้นที่อยู่อาศัยอันแออัดภายในชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันโซน 5 ในภาพพื้นที่แคบๆ ดังกล่าวมีบ้านพักอยู่จำนวน 5 หลัง

 

การเยียวยาที่ไม่เท่าเทียม

 

ตามสัญญาฉบับเดิมที่บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้ทำกับ รฟท. ระบุไว้ว่า ทางบริษัทจะเข้ามาบริหารงานและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของโครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน และมักกะสันคอมเพล็กซ์ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดยทางบริษัทจะต้องชำระค่าใช้จ่ายจำนวน 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด หรือประมาณ 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 

 

กล่าวอย่างง่ายคือ ทางบริษัทจะต้องชำระเงินให้กับรัฐจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้ามาเทกโอเวอร์โครงการการพัฒนาในส่วนของสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

 

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อบริษัทไม่สามารถชำระเงินให้กับทางรัฐได้ทันกำหนดเวลา ทางบริษัทจึงทำหนังสือเพื่อหารือกับทางรัฐบาล โดยให้ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นเหตุให้กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เองก็มีจำนวนผู้ใช้ลดลง ทางบริษัทจึงยื่นขอให้รัฐออกมาตรการเยียวยาออกมา ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2564 มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่เพื่อแก้ไขสัญญา ดังนี้

 

จากเดิมที่บริษัทจะต้องจ่ายเงินก้อนแรกจำนวน 10,671 ล้านบาทในคราวเดียว จะเปลี่ยนเป็นการผ่อนชำระเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทออกเป็น 7 งวดย่อย โดย 6 งวดจะชำระ 1,067 ล้านบาทต่องวด และงวดสุดท้ายจะชำระ 4,269 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย

 

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการตกลงผ่อนชำระในอัตราที่น้อยกว่าสัญญาฉบับแรกอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังไม่มีการชำระเงินครั้งแรก และไม่มีการเซ็นสัญญาฉบับใหม่แต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมอื่นๆ เข้ามาใน MOU ฉบับดังกล่าว เช่น เสนอให้มีการขยายเวลาสัญญาสัมปทานจากเดิม 50 ปีเป็นระยะเวลาที่นานกว่านั้น และรัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างในส่วนของตัวเองจำนวน 1.19 ล้านบาทให้กับทางบริษัท เร็วขึ้นจากที่สัญญาฉบับแรกรัฐจะมีระยะเวลาผ่อนชำระเงินทั้งสิ้น 10 ปี แต่ในข้อเสนอฉบับนี้รัฐจะต้องทยอยจ่ายให้ครบใน 7 ปี ทำให้รัฐมีเวลาชำระเงินสั้นลงถึง 3 ปี ในขณะที่บริษัทกลับได้โอกาสในการผ่อนชำระที่ยาวนานขึ้น ทั้งที่ควรจะมีการจ่ายเงินงวดแรกมาตั้งแต่ปี 2564

 

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมอีกครั้งภายในเดือนมีนาคม 2566

 

คำถามที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้คือ ในขณะที่ภาครัฐสามารถมีข้อตกลงเยียวยาและผ่อนปรนขอบเขตระยะเวลาต่างๆ ให้กับเอกชนขนาดใหญ่ได้ ทั้งการผ่อนปรนการชำระหนี้ ยืดเวลาการชำระหนี้ รวมถึงโอกาสในการขยายระยะเวลาสัญญา

 

บรรยากาศริมรางรถไฟสถานีมักกะสันช่วงกลางวันและกลางคืน

 

แต่ในขณะเดียวกันการเยียวยา ข้อตกลง และการขยายเวลาในการไล่รื้อ กับชาวชุมชนที่ส่วนหนึ่งเองก็เป็นพนักงานและลูกจ้างของ รฟท. กลับยังไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีที่อยู่รองรับอย่างชัดเจนแล้ว รอเพียงแต่ให้อาคารเหล่านั้นสร้างเสร็จก็ตาม 

 

จนถึงตอนนี้ข้อพิพาทเรื่องการขอเช่าที่ดินของชาวชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ว่าชาวชุมชนจะสามารถเช่าอยู่ในพื้นที่ไปก่อน จนกว่าอาคารเพื่อรองรับพวกเขาจะแล้วเสร็จหรือไม่ หรือจะต้องโดนโยกย้ายไปที่ใดก่อนก็ยังคงเต็มไปด้วยความคลุมเครือ เพราะ ณ ปัจจุบันยังไม่ได้มีการเปิดประมูลและพิจารณาโครงการพัฒนาที่ดินในเฟสดังกล่าว และถ้าหากต้องโยกย้ายก่อน ที่ดินบริเวณดังกล่าวใครจะได้สิทธิ์เป็นผู้เช่าต่อไป

 

รวมไปถึงข้อสรุปของปัญหาเรื่องการไล่รื้อชุมชนที่อาศัยบนที่ดินของ รฟท. จะเป็นอย่างไร เราจะได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ในโอกาสต่อไป

 

เรื่อง: ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ 

ภาพ: พีระพล บุณยเกียรติ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X