แม้การผลิตเพชรในห้องทดลองจะถูกคิดค้นตั้งแต่ปี 1954 แต่การยอมรับเพชรสังเคราะห์เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ เพชรสังเคราะห์กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ทั้งในแง่จริยธรรมและราคาที่ถูกกว่าเพชรธรรมชาติ 40-60%
เพชรสังเคราะห์ คือเพชรที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บหรือเรียกอีกอย่างว่า Laboratory-Grown Diamonds (LGD) มีองค์ประกอบทางเคมีและคุณสมบัติทางกายภาพเหมือนกับเพชรธรรมชาติทุกประการ ต่างกันแค่ต้นกำเนิดและไม่สามารถแยกออกได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะพิเศษในการสังเกตดูเท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- เมื่อโลกใบนี้มีอะไรมากกว่าคำว่า ‘หรู’! ถอดรหัสสิ่งสำคัญที่เรา (และแบรนด์) ได้เรียนรู้จากดราม่ากระเป๋า Charles & Keith
- ซื้อบ้านไม่ไหวซื้อ ‘แบรนด์เนม’ แทนแล้วกัน! พบวัยรุ่นเกาหลีใต้ซื้อสินค้าแบรนด์หรูพุ่ง 24% หวังสร้างภาพในโซเชียล และยกระดับตัวเองในกลุ่มเพื่อน
- ลงทุนใน นาฬิกา Rolex ดีกว่าหุ้น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ หากคุณซื้อเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
การผลิตเพชรสังเคราะห์เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เพชรธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2020 การผลิตเพชรธรรมชาติมีเพียง 111 ล้านกะรัต จากการผลิตสูงที่สุดในปี 2017 ที่ 152 ล้านกะรัต ในขณะที่เพชรสังเคราะห์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6-7 ล้านกะรัต ปัจจุบันเพชรสังเคราะห์คิดเป็น 10% ของปริมาณเพชรบนเครื่องประดับทั้งหมดทั่วโลก และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ตามรายงานของ BriteCo ในปี 2022 เพชรสังเคราะห์ในตลาดแหวนหมั้นเติบโตเพิ่มขึ้น 9.7% จาก 18.7% ในปี 2020 เป็น 28.4% ในปี 2021 ส่วนบริษัทวิจัยตลาด Allied Analytics LLP คาดการณ์ว่าตลาดเพชรสังเคราะห์ทั่วโลกจะมีมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 โดยปัจจุบันตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่สหรัฐอเมริกาคิดเป็น 3 ใน 4 ของทั้งหมด
ปัจจัยที่ทำให้เพชรสังเคราะห์กำลังเป็นที่นิยมส่วนหนึ่งมาจากการตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลของเหมืองเพชรธรรมชาติ และเรื่องราคาที่ถูกกว่า อย่างที่ทราบกันว่าภาวะเงินเฟ้อดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น ซึ่งก็มีผลกับการซื้อแหวนหมั้นที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า รวมทั้งคนรุ่นนี้ไม่กลัวที่จะฉีกกรอบและขัดต่อบรรทัดฐานเดิมๆ โดยในราคาที่เท่ากันจะได้เพชรสังเคราะห์ที่มีน้ำหนักกะรัตมากกว่า เกรดสีและความใสที่สูงกว่า แล้วเอาส่วนที่เหลือไปลงทุนกับการออกแบบและตัวเรือนของแหวนแทน
ไม่เพียงแต่ผู้บริโภค แม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเพชรสังเคราะห์ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น Pandora เปิดตัวคอลเล็กชัน Brilliance ใช้เพชรที่ผลิตในห้องปฏิบัติการซึ่งผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 100% ออกวางจำหน่ายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ส่วนในระดับไฮเอนด์ กลุ่มบริษัทหรูหราอย่าง LVMH ได้ลงทุนในโรงงานผลิตเพชรในห้องปฏิบัติการของอิสราเอล และเมื่อปีที่แล้ว TAG Heuer ในเครือ LVMH ก็ได้เปิดตัว Carrera Plasma นาฬิกาเรือนแรกของบริษัทนาฬิกาที่ประดับด้วยเพชรสังเคราะห์ อีกทั้งคนดังก็ยังสนับสนุนเทรนด์นี้ไม่ว่าจะเป็น Drake ที่ใส่เครื่องประดับของ Homer แบรนด์เครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ของนักดนตรี Frank Ocean ที่เจ้าของแบรนด์เคยใส่ในงาน Met Ball ในปี 2021 รวมทั้ง Zoë Kravitz, Lady Gaga, Billy Porter และ Penélope Cruz ก็สวมใส่เพชรสังเคราะห์ในงานพรมแดง
ในความเป็นจริงเพชรสังเคราะห์แทบจะเหมือนกับเพชรธรรมชาติทุกประการ เพียงแต่ความโรแมนติกอย่างความล้ำค่าหายาก หรือความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่อยู่รายล้อมอาจจะไม่เท่ากัน เพราะเพชรในห้องปฏิบัติการถูกสร้างขึ้นในเครื่องปฏิกรณ์พลาสมาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่เพชรธรรมชาติต้องใช้เวลาเป็นล้านๆ ปี ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนน้ำแข็งขั้วโลกกับน้ำแข็งในช่องแช่แข็งที่องค์ประกอบเหมือนกัน แต่ให้ความรู้สึกที่ต่างกัน
เพชรสังเคราะห์มีราคาถูกกว่าเพชรธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่สินค้าถูกเสียทีเดียว เพชรจากห้องทดลองก็เป็นเพชรแท้ 100% แวววาวและสวยงามไม่แพ้กัน และเบื้องหลังการผลิตก็มีต้นทุนสูงเพราะต้องใช้เทคโนโลยีและพลังงานสูง ซึ่งในข้อนี้เพชรสังเคราะห์ก็ถูกตั้งคำถามในแง่การทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่เหมือนกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพชรประเภทไหนก็จะมีการให้เกรดเพชรโดยยึดหลัก 4Cs (การเจียระไน สี ความใส และกะรัต) เพื่อกำหนดราคา ยิ่งเกรดดีราคาก็ยิ่งสูงขึ้น แต่เพชรจากแล็บที่มีเกรดเดียวกับเพชรธรรมชาติมักจะมีราคาถูกกว่าระหว่าง 40-60% ส่วนในแง่การลงทุนเพชรธรรมชาติจึงดูจะมีคุณค่ามากกว่า โดยมูลค่าการขายต่อของแหวนเพชรจากห้องทดลองจะน้อยกว่าที่ราคาเดิมประมาณ 30-40% และไม่เป็นที่นิยมของนักสะสม
อย่างไรก็ตาม เพชรสังเคราะห์กลับตอบโจทย์ในการทำเป็นแหวนหมั้น เพราะส่วนใหญ่ไม่นิยมนำไปขายต่อ โดยเฉพาะสำหรับคู่รักหัวสมัยใหม่ที่ไม่ยึดติดกับขนบเดิมๆ
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3210838/lab-grown-or-natural-diamonds-man-made-gems-are-cheaper-and-might-explain-why-more-young-people-are?fbclid=IwAR32gelF3A-gcEgdh5NRs0JWk8pd1EPjkqoXUrqt5yBISY4VSPwram8YN0Q
- https://www.theguardian.com/fashion/2022/oct/01/lab-grown-diamonds-girls-best-friend-or-cut-price-sparklers
- https://www.queensmith.co.uk/diamond-guides/lab-grown-diamonds/lab-grown-diamonds-price-and-value
- https://infocenter.git.or.th/article/article-20220127#:~:text=%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C%20(Lab%20Grown%20Diamond%20%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%20LGD)%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88,90%25%20%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99