×

ลุ้นหุ้น ‘การบินไทย’ กลับเข้าเทรดปลายปี 67 เร็วกว่าแผนเดิม หลัง EBITDA ทะลุ 2 หมื่นล้าน กลางปีนี้เคาะแผนปรับโครงสร้างทุน พลิกส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาบวก

24.02.2023
  • LOADING...
การบินไทย

บมจ.การบินไทย ลุยทำตามแผนฟื้นฟูกิจการ ดัน EBITDA รอบ 12 เดือน ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท เร็วกว่าแผน เดินหน้าลดต้นทุนต่อเนื่อง และเตรียมยุบบริษัทย่อย ‘ไทยสมายล์’ ส่วนกลางปีนี้เตรียมสรุปแผนปรับโครงสร้างทุน ทั้งแปลงหนี้เป็นทุน-ขายหุ้นเพิ่มทุน หนุนส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาบวก ออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ปลายปี 2567

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI เปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการปัจจุบันว่า บริษัทสามารถทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในรอบ 12 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ 2565 – มกราคม 2566) ออกมาได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ซึ่งเข้าหนึ่งในเงื่อนไขข้อสำคัญที่กำหนดไว้ในการยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยถือว่าบริษัทสามารถ EBITDA ได้ในระดับดังกล่าวได้เร็วกว่าแผนงาน และถึงปัจจุบันการดำเนินธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ถึงระดับประมาณ 4 หมื่นล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยในปี 2565 แนวโน้มธุรกิจของบริษัทปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปริมาณการผลิต (ASK) เพิ่มขึ้น 243% จากปี 2564 และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 1,118% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 67.9% สูงกว่าปี 2564 ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับ 19.1% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 9.01 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 449% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 249% ปริมาณการขนส่งสินค้า (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 134% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 63.1% 

 

เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการเดินทางและการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงบริษัทยังสามารถบริหารจัดการควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายลงได้ในระดับที่ต่ำมาก จากแผนการดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรในหลายด้าน

 

อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท แต่ผลการดำเนินงานดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าประมาณการในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยผลการขาดทุนดังกล่าวมาจากการรับรู้รายการพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว รวมถึงผลขาดทุนของบริษัทย่อย คือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 4,248 ล้านบาท รวมถึงผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ อีกทั้งการขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาท และต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,148 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทติดลบรวมจำนวน 7.10 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นส่วนของบริษัทย่อย คือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่มีส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทติดลบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

 

จ่อยุบ ‘ไทยสมายล์’ รวมกับ ‘การบินไทย’

 

นอกจากนี้ในปี 2566 บริษัทยังเดินหน้าแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจการบินในกลุ่มของการบินไทยอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูฯ ได้ระบุไว้ชัดว่า ในที่สุดแล้วจะเหลือเพียงแบรนด์การบินไทยเพียงแบรนด์เดียวในการดำเนินธุรกิจ โดยจะให้การดำเนินธุรกิจสายการบินอยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรเดียว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและลดต้นทุนในการทำธุรกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาศึกษารายละเอียดในการดำเนินการ

 

“เรื่องนี้มีขั้นตอนที่ต้องทำเยอะทั้งภายในและภายนอก เพราะต้องขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถดำเนินการเสร็จ ทำให้แบรนด์มีแค่การบินไทย จะไม่มีสายการบินไทยสมายล์อีกต่อไป”

 

ด้าน ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย กล่าวว่า รายได้รวมในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.30-1.40 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่มีรายได้รวม 1.05 แสนล้านบาท เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงประเด็นจีนเปิดประเทศเร็วขึ้นกว่าที่บริษัทประเมินไว้ ทำให้ดีมานด์การเดินทางสูงขึ้น 

 

สำหรับในปี 2566 บริษัทคาดว่ามีจำนวนผู้โดยสาร 12 ล้านคน โดยบริษัทกลับมาทำการบินได้สัดส่วน 70-80% ของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีสถานการณ์โควิด สะท้อนว่าธุรกิจมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในปีนี้มีแผนจะเพิ่มฝูงบินเป็นจำนวน 71 ลำภายในช่วงสิ้นปีนี้ จากปีก่อนที่มีจำนวน 64 ลำ เพื่อรองรับดีมานด์

 

ขณะเดียวกัน บริษัทจะเน้นทำการบินในเส้นทางที่ทำกำไรเป็นหลัก ได้แก่ ทุกเมืองหลักในเส้นทางบินในกลุ่มยุโรป รวมถึงเส้นทางบินไปออสเตรเลีย อีกทั้งจะเพิ่มความถี่การบินมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน รวมทั้งอินเดียซึ่งมีดีมานด์ที่สูง

 

ส่วนแผนปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการยุบรวมบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่การบินไทยถือหุ้น 100% มารวมกันเพื่อให้เหลือการบินไทยเพียงแบรนด์เดียว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีและข้อเสีย เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้ให้พิจารณา โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาได้ข้อสรุปไม่เกิน 2 เดือนจากนี้ 

 

โดยหากได้รับความเห็นชอบ จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารทรัพย์สินและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินมากขึ้นกว่าเดิม จากปัจจุบันที่ไทยสมายล์บินอยู่ 9 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มเป็น 12-13 ชั่วโมงต่อวันได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยลงได้ประมาณ 30% และจะส่งผลให้การดำเนินงานในปีนี้มีโอกาสจะกลับมามีกำไรได้ 

 

เปิดไทม์ไลน์หุ้น ‘การบินไทย’ ลุ้นกลับมาเทรดเร็วกว่าแผน

 

ชายกล่าวต่อว่า หลังจากปัจจุบันบริษัทสามารถทำ EBITDA ในรอบ 12 เดือนได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาทแล้ว มีแผนที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

 

  • ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) จะเป็นผู้ทำแผนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะเปิดให้เจ้าหนี้หุ้นกู้และสถาบันการเงินที่มีมูลค่าหนี้รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุน, การขายหุ้นเพิ่มทุน คาดว่าจะมีข้อสรุปในกลางปีนี้ เพื่อนำไปพิจารณาต่อว่าจะใช้เงินกู้วงเงินกู้ยืมก้อนใหม่หรือไม่
  • การปรับโครงสร้างทุน ทั้งในส่วนการแปลงหนี้เป็นทุน และการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) คาดว่าจะดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หากดำเนินการสำเร็จจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก จากปัจจุบันที่ติดลบ 7.10 หมื่นล้านบาท เข้าเงื่อนไขสำคัญข้อสุดท้ายที่ส่งผลให้บริษัทจะยื่นออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้
  • หลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ช่วงปลายปี 2567 มีแผนที่จะยื่นแบบไฟลิ่งเพื่อขอนำหุ้นของ บมจ.การบินไทย กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
  • คาดว่าหุ้นของ บมจ.การบินไทย จะกลับเข้าซื้อขายใน SET ได้ช่วงต้นปี 2568 

 

ด้าน เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า EBITDA ในรอบ 12 เดือนของบริษัทที่ทำได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น ถือว่าทำได้เร็วกว่า 2 ไตรมาสของแผนที่บริษัทกำหนดไว้ จึงมีโอกาสที่บริษัทจะสามารถดำเนินการออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปี 2567 และสามารถนำหุ้นของ บมจ.การบินไทย กลับเข้าซื้อขายใน SET ได้เร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดช่วงต้นปี 2568 มาเป็นช่วงปลายปี 2567

 

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการหารือร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนออกมาในช่วงกลางปีนี้เช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X