วานนี้ (22 กุมภาพันธ์) บริเวณริมถนนทางหลวง 346 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ช่างภาพข่าว THE STANDARD เก็บภาพการเผาเศษซากพืช วัชพืช และเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือจากกระบวนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในที่โล่งแจ้ง จนทำให้เกิดกลุ่มควันกระจายเป็นวงกว้างปกคลุมวิสัยทัศน์ในการสัญจรบนถนน
สำหรับการเผาเศษซากจากการทำเกษตรกรรมเป็นหนึ่งในวิธีจัดการพื้นที่หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อกำจัดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้ทันต่อการเพาะปลูกรอบถัดไป แต่ผลที่ตามมาจากวิธีนี้คือปัญหาฝุ่นละอองที่สะสมในอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 ที่เป็นปัญหามลพิษทางอากาศ
จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่ได้มีการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การเผาในที่โล่งของประเทศไทยจากดาวเทียม Terra และ Aqua ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2565 พบว่ามีจุดความร้อนทั้งหมด 6,239 จุด แบ่งเป็นพื้นที่เกษตร 1,915 จุด พื้นที่เขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 940 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 926 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,572 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 151 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 735 จุด โดยส่วนใหญ่เกิดจุดความร้อนสะสมสูงสุดพบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,976 จุด ภาคเหนือตอนบน 1,907 จุด และภาคเหนือตอนล่าง 868 จุด ตามลำดับ
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรหรือเจ้าของพื้นที่หันมาใช้วิธีอื่นในการจัดการเศษซากหลังฤดูเก็บเกี่ยว แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิธีการเหล่านั้นนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น การเผาเป็นทางเลือกที่ถูกและประหยัดเวลา