บรรดารัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ (G20) พร้อมด้วยเหล่าผู้ว่าการธนาคารกลางจะหารือเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในประเทศกำลังพัฒนา สกุลเงินดิจิทัล และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั่วโลกในการประชุม G20 ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์นี้ ที่เมืองนานดิ ประเทศอินเดีย โดยการประชุมดังกล่าวถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกของการดำรงตำแหน่งประธาน G20 ของอินเดีย
นอกจากนี้ การที่วันประชุมตรงกับวันครบรอบ 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้ประเด็นสงครามดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะอยู่ในวาระการประชุมสูง
รายงานระบุว่า การปลดบล็อกการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับเศรษฐกิจที่มีปัญหาและการส่งเสริมความช่วยเหลือสำหรับยูเครนนั้นคาดว่าจะมีความโดดเด่นในการประชุม ซึ่งหลายฝ่ายยังคาดว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ จะกดดันจีนในฐานะเจ้าหนี้ ให้ ‘เร่งดำเนินการ’ ในการบรรเทาหนี้สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง
ขณะเดียวกัน การดำรงตำแหน่งประธาน G20 ของอินเดียยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่ ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้อย่างศรีลังกา บังกลาเทศ และปากีสถาน ได้ขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากการระบาดของโควิดและสงครามยูเครน
ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางสำนักข่าว Reuters รายงานว่า อินเดียกำลังร่างข้อเสนอสำหรับกลุ่มประเทศ G20 เพื่อช่วยเหลือประเทศที่เป็นลูกหนี้โดยขอให้ผู้ให้กู้ ซึ่งรวมถึงจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อธิปไตยรายใหญ่ที่สุดของโลก
V Anantha Nageswaran หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอินเดียกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวก่อนการประชุม G20 ว่า การอภิปรายของ G20 จะมุ่งเป้าไปที่การจัดการปัญหาหนี้ทั้งก่อนเกิดขึ้นและหลังจากที่เกิดขึ้น
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่จะมีการพูดคุยหารือกันยังครอบคลุมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล การปฏิรูปธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี ภาษีระหว่างประเทศ และการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม G20 ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วางแผนที่จะจัดการประชุมเสมือนจริงกับธนาคารโลก อินเดีย จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศ G7 อื่นๆ เพื่อพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานทั่วไป หลักการและคำจำกัดความในการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศที่มีปัญหา
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานยังระบุว่า ทางเจ้าภาพอย่างอินเดียยังสนับสนุนการผลักดันของ IMF ธนาคารโลกและสหรัฐอเมริกาสำหรับการดำเนินการตาม Common Framework (CF) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ G20 ที่เปิดตัวในปี 2020 เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนในการชะลอการชำระหนี้และจะขยายให้ รวมถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนรอยวิกฤตคริปโต การล่มสลายของ FTX รอบนี้จะสั่นสะเทือนตลาดคริปโตได้เหมือนรอบ Mt.Gox ปี 2014 หรือไม่?
- บิล แอคแมน เริ่มใจอ่อน เผย มองคริปโตในมุมบวกมากขึ้น ถึงขั้นเริ่มเข้าลงทุนบ้างแล้ว
- แม้แต่ ‘จัสติน บีเบอร์’ ยังขาดทุน! ผลงาน NFT จาก Bored Ape Yacht Club ที่ซื้อมาด้วยราคา 46.4 ล้านบาท ตอนนี้หล่นลงเหลือ 2.5 ล้านบาท
อ้างอิง: