ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สินค้าต่างๆ ทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด กระทิงแดง ได้ออกมาประกาศปรับราคาขายสูตรคลาสสิคจาก 10 บาท เป็น 12 บาท เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566
ประไพภักตร์ ไวเกิล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดโกลบอล (F&B) กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า กระทิงแดงมีความพยายามในการตรึงราคาเครื่องดื่มในราคาเดิมให้นานที่สุด แต่จากสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาเฉพาะ ‘กระทิงแดง สูตรคลาสสิค’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ขายราคาเดิมมากว่า 37 ปี ถึงเวลา M-150 ปรับ Magic Price Point ขึ้นจาก ‘10 บาท’ เป็น ‘12 บาท’
- ใครใหญ่กว่ากัน! เทียบฟอร์ม 2 เจ้าตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ในวันที่ ‘M-150’ ขึ้นราคา ส่วน ‘คาราบาวแดง’ ตรึงราคา
- ‘เสถียร’ เจ้าพ่อคาราบาวแดง เดินหน้าปั้นร้านถูกดี มีมาตรฐาน และซีเจ พร้อมทุ่ม 4 พันล้านบุกตลาดเบียร์ หวังปั้นรายได้รวมสู่ตัวเลข ‘แสนล้านบาท’
“เราจะปรับราคาสินค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด โดยกระทิงแดงในอีก 3 สูตรยังคงราคาเดิมไว้ที่ 10 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค”
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2565 ‘M-150’ ของโอสถสภาได้ประกาศขึ้นราคาผ่านสินค้าที่ปรับสูตรใหม่ ซึ่งได้ปรับราคาขายปลีกจาก ‘10 บาท’ เป็น ‘12 บาท’ เป็นครั้งแรกในรอบ 37 ปี
การขยับตัวของเจ้าตลาดทำให้เป็นที่จับตามองว่าแบรนด์อื่นๆ จะขยับตัวตามหรือไม่ ท่ามกลางต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น
ในฟากของอีกหนึ่งผู้เล่นใหญ่อย่าง ‘คาราบาวแดง’ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ได้ยอมรับว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้การปรับราคาอยู่ในแผนที่คุยกันเป็นการภายในอยู่
“ต้นทุนมันขึ้นมาสูงมาก การจะปรับราคาขึ้นอยู่ในความคิดคำนึงของเรา ก็คืออยู่ในกระบวนการ เพราะทุกอย่างตอนนี้เพิ่มขึ้นทุกเรื่อง
“มี 3 ส่วนหลักๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งน้ำตาล ขนส่ง และแพ็กเกจจิ้งทั้งขวดแก้วและอะลูมิเนียม หากนับตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา ต้นทุนเพิ่มไปแล้ว 15% ด้วยกัน”
การออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ของ ‘เจ้าพ่อคาราบาวแดง’ ในครั้งนี้ ทำให้ต้องจับตาต่อไปว่าที่สุดจะยอมแบกต้นทุนเพื่อทำราคาให้แข่งขันได้ หรือยอมขึ้นราคาเพื่อผลักดันกำไรให้กลับมาในจุดที่พอใจ