ในขณะที่แฟนฟุตบอลกำลังตื่นเต้นกับการเตรียมลงสนามพบกันอีกครั้งของบาร์เซโลนา และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สองสโมสรยักษ์ใหญ่ที่เคยชิงชัยถ้วยแชมป์สโมสรยุโรปมาแล้วถึง 2 ครั้งในปี 2009 และ 2011 เพียงแต่คราวนี้จะพบกันในถ้วยใบเล็กอย่างยูฟ่ายูโรปาลีก
มีข่าวใหญ่ที่ชวนตกใจเกิดขึ้นในวงการฟุตบอลสเปน กับกรณีที่เรียกกันว่า ‘Barcagate’ หรือถ้าเอาแบบไทยๆ เราอาจจะเรียกกันได้ว่า ‘บาร์ซาโกง’ (?)
เรื่องนี้ต้องบอกก่อนว่าเป็นแค่ประเด็นข่าวที่มีการรายงาน โดยจุดเริ่มต้นมาจากรายการวิทยุของแคว้นคาตาลันที่ชื่อว่า ‘Què t’hi jugues’ ทางสถานี Cadena SER Catalunya ที่กล่าวพาดพิงบาร์เซโลนาในข้อหาที่ค่อนข้างร้ายแรง
“บาร์ซาจ่ายเงินให้แก่ โฆเซ มาเรีย เอ็นริเกซ เนเกรรา อดีตรองประธานของคณะกรรมการทางเทคนิคผู้ตัดสินเป็นจำนวนถึง 1.4 ล้านยูโร ในระหว่างปี 2016-2018 ผ่านบริษัทของเขาที่มีชื่อว่า Dasnil 95 Company”
จากจุดนี้ในเวลา 5 ทุ่มของคืนวันพุธที่ผ่านมา (15 กุมภาพันธ์) ตามเวลาท้องถิ่น ข่าวนี้ถูกกระพือให้ใหญ่ขึ้นเมื่อ El Mundo สื่อท้องถิ่นเองรายงานว่าพวกเขาได้สิทธิ์ในการเข้าถึงเอกสารสำคัญของบาร์เซโลนา นั่นคือ ‘Invoice’ หรือใบแจ้งหนี้ที่มาจากทางด้าน Dasnil 95
ในการตรวจสอบของ El Mundo พบว่าบาร์ซามีการจ่ายเงินให้แก่ Dasnil 95 ถึง 33 ครั้งตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการระบุ (2016-2018) และพบว่าจำนวนเงินนั้นสูงกว่าที่มีการระบุเล็กน้อย
สำหรับเอกสารที่หลุดออกมานี้ความจริงแล้วเป็นเอกสารที่ทางด้านบาร์เซโลนาได้ส่งให้หน่วยงานภาษีทำการตรวจสอบเมื่อปี 2021 โดยในเอกสารได้มีการระบุรายละเอียดของการจ่ายเงินเอาไว้ 2 อย่างด้วยกัน
- จัดเตรียมและส่งวิดีโอการตัดสินให้แก่สโมสร
- ให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคจากวิดีโอ
โดยมูลค่าต่ำสุดของใบแจ้งหนี้ที่ Dasnil 95 เรียกคือ 30,250 ยูโร และมากที่สุดคือ 90,750 ยูโร
อย่างไรก็ดีในรายงานของ El Mundo ระบุว่า ทางด้านหน่วยงานเก็บภาษีได้ระบุว่าการจ่ายเงินให้แก่ Dasnil 95 นั้นทำเพื่อ ‘ให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการตัดสินที่ไม่เป็นผลร้ายต่อพวกเขา หรือพูดอีกทีคือให้การตัดสินนั้นเป็นกลาง’
โดยการจ่ายเงินนั้นได้ยุติลงเมื่อเนเกรรายุติบทบาทในการเป็นรองประธานของคณะกรรมการทางเทคนิคของผู้ตัดสินเมื่อปี 2018
ในประเด็นนี้ทางด้านลูกชายของเนเกรราออกมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด เช่นเดียวกับทางด้านบาร์ซาที่ยืนยันว่าพวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเหมือนกัน โดยแถลงการณ์ของบาร์ซาระบุว่าการจ้าง Dasnil 95 นั้นเป็นการจ้างบริการ ‘ที่ปรึกษาทางเทคนิคจากภายนอกที่จะจัดเตรียมวิดีโอ และรายงานการตัดสินที่เกี่ยวข้องกับผู้เล่นในระดับล่างในสเปนสำหรับงานทางด้านเทคนิคของสโมสร”
และที่สำคัญคือมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใน ‘อดีต’
บาร์ซายังได้ระบุว่าเรื่องในลักษณะนี้นั้นไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เพราะสโมสรฟุตบอลอาชีพก็ทำกันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีทางด้าน AS สื่อใหญ่จากมาดริดได้มีการเผยแพร่คำพูดของ ฆวน อันดูฆาร์ โอลิเบร์ อดีตผู้ตัดสินที่เคยให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ Onda Cero ก่อนหน้านี้โดยมีการอ้างถึงลูกชายของเนเกรราที่จะถูกพบว่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ตัดสินก่อนเกมสำคัญที่จะมีการลงสนามในคัมป์นูเสมอ และจะทำตัวเหมือนเป็นนักจิตวิทยาของพวกเขา
“ในเกมสำคัญของบาร์เซโลนาในสนามของพวกเขาเอง ลูกชายของ เอ็นริเกซ เนเกรรา ซึ่งเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการฝ่ายเทคนิคจะทำการเรียกผู้ตัดสินมาเพื่อพูดคุยกับพวกเขาในโรงแรมที่เขาพัก และแจ้งว่าเขาจะเป็นคนเดินนำลงสนาม”
ล่าสุด AS ได้มีรายงานข่าวต่อเนื่องในวันนี้ว่าความจริงแล้วบาร์เซโลนามีการใช้บริการ ‘การให้คำแนะนำ’ แบบนี้มาร่วม 2 ทศวรรษแล้วตั้งแต่ยุคของประธานสโมสร โจน กาสปาร์ต, โจน ลาปอร์ตา (ยุคแรก), ซานโดร โรเซลล์
โดยที่ในระหว่างนี้นั้นทางด้าน AS มีการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังโดยใช้ฐานข้อมูลของ Opta สำนักสถิติตั้งแต่ฤดูกาล 2003/04 จนถึง 2017/18 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า
- ในช่วง 15 ฤดูกาลนี้บาร์เซโลนาเป็นทีมที่ได้ประโยชน์ในเรื่องลูกจุดโทษมากที่สุดถึง 68 ครั้ง (ได้จุดโทษ 125 ครั้ง เสียจุดโทษ 57 ครั้ง)
- ช่วงเวลาดังกล่าวบาร์เซโลนาเป็นสโมสรที่ได้ประโยชน์จากใบแดงมากที่สุด (โดนใบแดง 61 ครั้ง คู่แข่งโดนใบแดง 104 ครั้ง) ซึ่งเป็นจำนวนที่มากผิดสังเกตเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเรอัล มาดริด ที่ถือว่าเสียประโยชน์ 5 ครั้ง (โดนใบแดง 88 ครั้ง คู่แข่งโดนใบแดง 83 ครั้ง) ขณะที่ทีมที่ได้ประโยชน์รองลงมาคือเซบียาก็ได้อยู่ที่ 24 ครั้งเท่านั้น (โดนใบแดง 111 ครั้ง คู่แข่งโดนใบแดง 135 ครั้ง)
- ช่วงเวลาดังกล่าวบาร์เซโลนาเป็นทีมที่ได้แชมป์ลีกสูงสุดถึง 9 ครั้ง แชมป์โกปา เดล เรย์อีก 6 ครั้ง และแชมป์สแปนิชซูเปอร์คัพ 8 ครั้ง
สิ่งที่หลายคนอยากรู้ต่อไปคือแบบนี้ถือเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงหรือไม่?
ในเรื่องนี้ทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลสเปน (RFEF) กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเอกสารอยู่ แต่ ‘เชื่อว่า’ เป็นการยากที่จะหาบทลงโทษบาร์เซโลนา
ที่บอกว่าเป็นการยากที่จะลงโทษนั้นเป็นเพราะหลักฐานที่มียังอ่อนเกินไปสำหรับการจะระบุว่าบาร์ซาได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือของผู้ตัดสิน เพียงแต่พวกเขาก็อาจถูกตัดสินว่ากระทำผิดในกฎข้อที่ 75 ของ RFEF
โดยหากขุดคุ้ยแล้วพบว่าเป็นเรื่องของการ ‘ล้มบอล’ จะถือว่าเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงและจะมีบทลงโทษตั้งแต่
- การตัดสิทธิ์บุคคลที่เกี่ยวข้องห้ามข้องเกี่ยวกับวงการฟุตบอล 2-5 ปี
- ตัดแต้มอย่างน้อย 6 แต้มไปยังสโมสรที่เกี่ยวข้อง
- การปรับตกชั้น
ทางด้านบาร์เซโลนายังไม่มีการออกแถลงการณ์ใดๆ เพิ่มเติม แต่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลสเปนและวงการฟุตบอลกระทิงดุจะจับตามองอย่างไรในเรื่องนี้
อ้างอิง:
- https://www.forbes.com/sites/tomsanderson/2023/02/15/fc-barcelona-made-33-payments-to-guarantee-refereeing-decisions-werent-made-against-itreports/
- https://en.as.com/soccer/barcagate-what-did-barcelona-get-from-jose-maria-enriquez-negreira-n/
- https://en.as.com/soccer/barca-2003-2018-team-with-most-penalties-awarded-lowest-red-card-count-and-most-titles-n/?omnil=resrelart
- https://en.as.com/soccer/worldwide-media-shock-in-reaction-to-barcelona-referee-scandal-n/?omnil=resrelart