‘สตาร์บัคส์’ ที่ใครๆ รู้จักกันดีในฐานะ Third Place หรือบ้านหลังที่สาม กับบรรยากาศร้านอันอบอุ่นเป็นเอกลักษณ์ และกาแฟหอมกรุ่นแก้วโปรดที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งหลายท่านคงจะพอทราบว่าเมล็ดกาแฟที่จำหน่ายในร้านสตาร์บัคส์ล้วนเป็นเมล็ดคุณภาพที่คัดสรรอย่างดีจากไร่กาแฟคุณภาพทั่วโลก แต่ทราบหรือไม่ว่าเมล็ดกาแฟจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยก็ได้คุณภาพตามมาตรฐานสตาร์บัคส์ และมีวางจำหน่ายที่ร้านสตาร์บัคส์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศตามช่วงฤดูกาลด้วยเช่นเดียวกัน
และเมล็ดกาแฟคุณภาพที่ว่านั่นคือ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้าชั้นเยี่ยมที่ปลูกโดยชาวไร่กาแฟจากท้องถิ่นภาคเหนือ ซึ่งสตาร์บัคส์ไม่ได้เพียงแค่นำเมล็ดกาแฟ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ มาจำหน่ายเพื่อให้ลูกค้าได้ลิ้มลองกาแฟรสชาตินุ่มลึกที่ให้กลิ่นหอมของไอดิน มอบความรู้สึกอบอุ่น และยังได้ภูมิใจกับกาแฟจากประเทศไทยเพียงเท่านั้น
แต่ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ ยังสะท้อนความมุ่งมั่นของสตาร์บัคส์ในการสร้างสัมพันธภาพอย่างยั่งยืนกับชาวไร่กาแฟด้วยเช่นกัน โดยสตาร์บัคส์ทำงานร่วมกับ ‘มูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน’ (Integrated Tribal Development Foundation: ITDF) เพื่อสนับสนุนการปลูกกาแฟเป็นอาชีพ สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชาวไร่กาแฟในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
มาร่วมเดินทางไปกับเมล็ดกาแฟ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ ตั้งแต่สิบเมตรแรกจากต้นกาแฟ จนถึงสิบเมตรสุดท้ายก่อนที่จะเป็นกาแฟคุณภาพเยี่ยมแก้วโปรดเสิร์ฟถึงมือลูกค้าสตาร์บัคส์ทุกคน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ทีมงานสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้มองเห็นถึงศักยภาพของกาแฟไทยในพื้นที่ภาคเหนือ และมีความคิดที่อยากให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงได้รับซื้อกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และเพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าเกรดดีที่สุด สตาร์บัคส์จึงได้ร่วมมือกับ ITDF นำโดย ‘อ.ไมค์ แมนน์’ ผู้อำนวยการโครงการ ในการเริ่มสำรวจภาคเหนือของไทยเพื่อหากาแฟคุณภาพที่ได้มาตรฐานของสตาร์บัคส์ ก่อนส่งเมล็ดกาแฟเหล่านี้ไปยังโรงคั่วของสตาร์บัคส์ และบรรจุถุงส่งกลับมาให้คนไทยได้ลิ้มลองรสชาติกาแฟจากภาคเหนือของไทย
ITDF เป็นหน่วยงานที่ช่วยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวเขาในทุกๆ ด้าน โดยได้ให้ความสำคัญกับการมีสุขอนามัยที่ดี เพราะ ITDF เชื่อว่า การเข้าถึงน้ำที่สะอาดคือจุดเริ่มต้นของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับการอบรมความรู้ให้ชาวไร่กาแฟได้มีความรู้ในการปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่นหรือการทำไร่อื่นๆ เพราะหากปลูกด้วยวิธีการที่ถูกต้อง กาแฟจะสามารถออกดอกออกผลทำรายได้ให้แก่ชาวไร่กาแฟได้ยาวนานถึง 50-60 ปี พร้อมทั้งจัดตั้งสหกรณ์ ช่วยหาตลาดขายกาแฟให้ จนถือได้ว่า ITDF เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเมล็ดกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือของไทย
การที่ชาวไร่จะขายเมล็ดกาแฟให้แก่สตาร์บัคส์ได้นั้นจะต้องผ่านข้อกำหนดตามมาตรฐานมากมาย อาทิ การไม่ใช้สารเคมีในทุกกระบวนการ เป็นการปลูกต้นกาแฟภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ (Shade-Grown) รวมถึงการรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคายุติธรรมกับทุกฝ่าย หรือที่เรียกว่าการรับรอง C.A.F.E. Practices (Coffee and Farmer Equity Practices) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรับซื้อเมล็ดกาแฟระดับสูงของสตาร์บัคส์ ทำให้ชาวไร่ต้องรักษาคุณภาพและปฏิบัติตามแนวทางการรับผิดชอบต่อสังคมของสตาร์บัคส์อย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นเมล็ดกาแฟ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ กาแฟคั่วในระดับกลาง มอบความหอมของกลิ่นไอดินและกลิ่นเครื่องเทศเล็กน้อย ให้ความรู้สึกของการจิบกาแฟท่ามกลางธรรมชาติ
นอกจากนี้ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ ยังเป็นสะพานเชื่อมให้ลูกค้าสตาร์บัคส์ได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวไร่กาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากรายได้ 5% ที่ได้จากการขายกาแฟ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ จะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในด้านการศึกษา สุขอนามัย และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี โรงเรียนและชุมชนที่สตาร์บัคส์ได้ร่วมมือกับ ITDF ได้ค่อยๆ เติบโตขึ้น มีนักเรียนในปัจจุบันมากกว่า 100 คน
นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังได้เปิดร้านกาแฟเพื่อชุมชน (Community Store) แห่งแรกในเอเชียและนอกสหรัฐอเมริกา ที่สตาร์บัคส์ หลังสวน ซึ่งรายได้ 10 บาท จากการขายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ทุกแก้วในสาขานี้ จะนำมาสมทบกับรายได้ 5% จากการขายกาแฟม่วนใจ๋ แล้วมอบให้ ITDF เพื่อไปพัฒนาชุมชนชาวไร่กาแฟต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น สตาร์บัคส์ได้นำพาร์ตเนอร์ของสตาร์บัคส์ไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวไร่กาแฟแบบใกล้ชิด พร้อมร่วมพัฒนาชุมชนเพื่อนำเรื่องราวของ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ กลับมาส่งต่อสู่พาร์ตเนอร์ท่านอื่นๆ รวมถึงลูกค้าสตาร์บัคส์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการให้ครั้งนี้
จวบจนปัจจุบัน สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 และเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบครั้งนี้ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย จึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของเมล็ดกาแฟ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ ผ่านรูปแบบวิดีโอ
สามารถรับชมเรื่องราวของ ‘ม่วนใจ๋ เบลนด์’ ได้ที่นี่: