“เป็นความรู้สึกเหมือนทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างอีสปอร์ตกับกีฬาจริงๆ ทำให้คนภายนอกได้รู้ว่าอีสปอร์ตตอนนี้คือกีฬาแล้ว”
คำพูดของ นัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี นักกีฬาอีสปอร์ตของทีม BGFC Neolution ซึ่งมีประสบการณ์ในฐานะนักกีฬาอีสปอร์ตมายาวนานกว่า 8 ปี ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของงานแถลงข่าวที่สนามฟุตบอลลีโอ สเตเดียม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา
โดยภายในห้องแถลงข่าวของสนามฟุตบอลลีโอ สเตเดียม เป็นบรรยากาศที่คุ้นเคยสำหรับผู้สื่อข่าวกีฬา ที่จะมีผู้สนับสนุน เจ้าของสโมสร และนักกีฬาร่วมกันประกาศข่าวดีให้กับแฟนๆ กีฬาได้ทราบกัน แต่งานแถลงในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่นำพาโลกกีฬาและอีสปอร์ตเดินทางมาบรรจบกันในที่สุด นับว่าเป็นข่าวดีและก้าวสำคัญของนักกีฬาอีสปอร์ตภายในประเทศไทย
เนื่องจากความร่วมมือครั้งนี้คือการเปิดตัวทีมอีสปอร์ตที่มีชื่อว่า BGFC Neolution ทีมแรกที่ร่วมมืออย่างเป็นทางการกับสโมสรฟุตบอลอาชีพภายในทวีปอาเซียน ที่พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปสร้างชื่อเสียงจากการแข่งขันในระดับนานาชาติ
โดยทัวร์นาเมนต์แรกที่จะลงสนามคือ EA Champion Cup (EACC) Spring 2018 และรายการออฟฟิเชียลของ Garena ประเทศไทย รวมถึงยังมีรายการอื่นๆ อีกมากกว่า 10 รายการทั้งในและนอกประเทศตลอดปี 2018
วันที่อีสปอร์ตก้าวเข้าสนามฟุตบอลอาชีพครั้งแรกในอาเซียน
จากการลงพื้นที่ในสนามลีโอ สเตเดียมวันนั้น THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายเสถียร บุญมานันท์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งนีโอลูชั่น กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นทีมอีสปอร์ตแรกๆ ที่ให้เงินเดือนนักกีฬา และทีมแรกที่ส่งนักกีฬาไปแข่งขันอีสปอร์ตที่ต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเราได้ถามถึงความรู้สึกที่นำทีมอีสปอร์ตก้าวเข้ามาสู่สนามฟุตบอลอาชีพ เขาก็ยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการอีสปอร์ตภายในประเทศไทย
“นี่คือก้าวแรกและก้าวสำคัญที่สุดของวงการอีสปอร์ตไทยและวงการอีสปอร์ตของอาเซียน ในการที่จะเริ่มเข้าสู่การเป็นกีฬาจริงๆ เริ่มที่นักกีฬามีการสนับสนุนเหมือนกีฬาจริงๆ เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงวงการอีสปอร์ตสู่กีฬาจริงๆ ของวงการอีสปอร์ตไทยเลยครับ”
นอกจากความสำคัญเชิงสัญลักษณ์แล้ว นายเสถียรยังเชื่อว่าก้าวสำคัญในวันนี้จะช่วยให้ผู้สนับสนุนและผู้คนจากภายนอกเริ่มให้การยอมรับกีฬาอีสปอร์ตมากขึ้นอีกด้วย
“ภาพลักษณ์ของนักกีฬาอีสปอร์ตที่ผ่านมา ภาพเก่าเป็นเด็กติดเกม ภาพร้านเด็กปัญหาของคนเล่นเกมมาค่อนข้างนาน ภาพลักษณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนวันนี้คือความเป็นนักกีฬาอาชีพ นิยามของนักกีฬาอาชีพคือ มีความรับผิดชอบในการแข่งขัน เป็นตัวแทนสโมสร เป็นภาพลักษณ์ขององค์กรได้ เลี้ยงชีพได้ หลังจากนี้เมื่อมีเม็ดเงินมีแบรนด์เข้ามาสนับสนุน เขาจะเลี้ยงชีพเองได้ เขาจะโฟกัสในสิ่งที่เขาทำ เขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองและเปลี่ยนแปลงวงการได้ ภาพลักษณ์จะเหมือนฟุตบอล คนรอบข้างมองกลับเข้ามาแล้วจะเห็นความสมดุล ความพร้อม และความเป็นกีฬาจริงๆ ในอีสปอร์ตแล้วครับ”
เช่นเดียวกันกับทาง นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์ รองประธาน บางกอกกล๊าส เอฟซี ที่มุ่งเน้นกับการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของนักกีฬาอีสปอร์ตในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากทางสโมสร
“ความคาดหวังของเราคือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคนเล่นเกมครับ ให้มันกลายเป็นกีฬาอาชีพ เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์ที่จะทำให้คนมองว่าเกมที่เป็นสถานที่มั่วสุมเปลี่ยนไปโดยสโมสรกีฬาอาชีพเข้าไปสนับสนุน แสดงว่าเราจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแหล่งเล่นเกมกลายเป็นสนามฝึกซ้อม ไม่ใช่แหล่งมั่วสุม เราก็เชื่อว่าภาพลักษณ์”
วันที่ฟุตบอลก้าวเข้าสู่โลกของอีสปอร์ต
ก่อนที่เหล่านักกีฬาอีสปอร์ตของไทยจะได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในสนามฟุตบอลอาชีพ ทางฝั่งยุโรปตั้งแต่ปี 2015 สโมสรโวล์ฟสบวร์ก ในเยอรมนี ได้เซ็นสัญญากับนักกีฬาอีสปอร์ตในเกม FIFA ตามมาด้วยสโมสรฟุตบอลชั้นนำทั่วโลกต่างก็เริ่มลงทุนในกีฬาอีสปอร์ต ทั้งปารีส แซงต์ แชร์กแมง และชาลเก 04 ก็มีทีม League of Legends หนึ่งในเกมอีสปอร์ตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเกมหนึ่ง เวสต์แฮม จากพรีเมียร์ลีก ก็มีนักกีฬาอีสปอร์ต FIFA และเอฟซี โคเปนเฮเกน ก็มีทีม Counter Strike เช่นกัน
โดยการเติบโตของยอดผู้ชมอีสปอร์ตมีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขจะเติบโตสูงถึง 600 ล้านวิวภายในปี 2020 ทำให้เข้าใจได้ว่าสโมสรฟุตบอลต่างต้องการก้าวเข้ามามีส่วนร่วมและผลักดันแบรนด์ตัวเองให้มีบทบาทในตลาดนี้
ปีเตอร์ วอร์แมน นักวิเคราะห์ของ Newzoo ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC เชื่อมั่นว่าอีสปอร์ตมีโอกาสเติบโตขึ้นเป็น 1 ใน 5 กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ซึ่งตรงตามคำนิยามที่นายเสถียร บุญมานันท์ ได้กล่าวกับ THE STANDARD ว่า “ในต่างประเทศ อีสปอร์ตคือกีฬาในอนาคต”
Haran Ramachandran หัวหน้าแผนกดิจิทัลของบริษัท M&C Saatchi Sport & Entertainment Haran Ramachandran และหัวหน้าแผนกอีสปอร์ตเชื่อว่า สาเหตุหลักที่ทำให้สโมสรฟุตบอลหันมาลงทุนกับอีสปอร์ต เพราะต้องการได้ส่วนแบ่งการตลาดจากคนรุ่นใหม่ โดยหลายฝ่ายมีความเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ใช้เวลากับการเล่นเกม และดูการแข่งขันอีสปอร์ตมากกว่าการใช้เวลากับกีฬาในโลกแห่งความเป็นจริง
“การดูฟุตบอล 90 นาที ไม่สามารถเทียบได้กับเวลาหลายชั่วโมงที่แฟนกีฬาเหล่านี้พร้อมที่จะใช้เวลาในการดูการแข่งขัน FIFA ผ่านทาง Twitch (ช่องทางหลักในการดูแคสเกม) หรือการสร้างทีมใน FIFA Ultimate Team ทำให้เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมสโมสรฟุตบอลถึงได้พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมนี้”
Thomas Röttgermann กรรมการผู้จัดการสโมสรโวล์ฟสบวร์ก หนึ่งในสโมสรแรกที่หันมาให้การสนันสนุนอีสปอร์ตอย่างจริงจังเปิดเผยว่า ทางสโมสรต้องการสนับสนุนกีฬาฟุตบอลไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม
“ฟุตบอลเป็นเกมที่มากกว่า 90 นาทีในสนาม เราสนับสนุนฟุตบอลทุกรูปแบบ ฟุตบอลหญิง ฟุตบอลชาย ฟุตบอลเยาวชน ฟุตบอลอาวุโส และตอนนี้ดิจิทัลฟุตบอล สำหรับเยาวชน เพราะเราเชื่อว่านี่ก็เป็นกีฬาเช่นกัน”
มาถึงวันนี้ ถือว่าความเข้าใจที่หลายคนมีต่อวงการอีสปอร์ตในวันที่พวกเขาได้เดินเข้าไปเปิดตัวทีมในสนามฟุตบอลอาชีพ น่าจะได้รับการอัปเดตมุมมองและภาพลักษณ์ ให้ทันกับยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงของโลก เหมือนกับที่เราต้องอัปเดตสมาร์ทโฟนเพื่อให้สามารถใช้งานได้กับความเปลี่ยนแปลงในโลกออนไลน์
วันนี้ความสัมพันธ์ของกีฬากับอีสปอร์ตดูจะเริ่มสามารถเติบโตร่วมกันได้มากขึ้นภายในประเทศไทย จากความร่วมมือที่ฟุตบอลได้มอบสถานะความเป็นอาชีพให้กับอีสปอร์ต และวันที่ฟุตบอลเดินเข้าโลกออนไลน์เพื่อเข้าหาเยาวชน เพื่อเข้าสู่ฐานแฟนคลับในโลกอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม คนที่กำลังให้ความสนใจเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตอย่างเต็มตัว คำแนะนำที่ THE STANDARD ได้จาก นัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี นักกีฬาอีสปอร์ตของทีม BGFC Neolution และหนึ่งในสมาชิกของทีม FIFA ชุดแชมป์โลกปี 2014 ยังคงยืนยันว่า วันนี้อีสปอร์ตยังเป็นเพียงกีฬากึ่งอาชีพ
“ตอนนี้ต้องอธิบายก่อนว่าการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตในไทยเนี่ยเหมือนกับงานกึ่งอาชีพ หรือพาร์ตไทม์อยู่ ยังไม่สามารถยึดเป็นฟูลไทม์ได้ หลายคนที่เป็นนักกีฬาอีสปอรต์ นอกจากจะเป็นนักเรียนแล้ว ตัวผมเองก็ยังเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ก็ทำงานของตัวเองไป แล้วหลังจากเลิกงานเราก็มาซ้อมกัน”
อย่างไรก็ตาม นาย นัฐกร ก็ยอมรับว่าความร่วมมือในวันนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาวงการอีสปอร์ตในประเทศไทยเข้าใกล้สู่ความเป็นกีฬาอาชีพมากขึ้น เหมือนที่ได้กล่าวมาในช่วงต้นของบทความนี้
อ้างอิง: