สำนักข่าว AP รายงานว่า แม้ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะส่งสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงสูงกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ไว้ อีกทั้งแนวโน้มของสถานการณ์โดยรวมยังไม่ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนค่าเช่าบ้านยังคงเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจัยกดดันด้านราคาอยู่ในเวลานี้
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI มาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม พบว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ที่รวมสินค้าอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับที่ 6.4% ลดลงจากเดือนธันวาคมก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 6.5%
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของดัชนี CPI ถือเป็นการชะลอตัวครั้งที่ 7 ติดต่อกันเมื่อเทียบเป็นรายปี และต่ำกว่าจุดสูงสุดล่าสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายนปี 2021 แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 2% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 6.2%
ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.5% ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้น 0.1% ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม โดยปัจจัยหลักจากค่าน้ำมัน อาหาร และเสื้อผ้าที่แพงขึ้น ดันให้ตัวเลขของเดือนมกราคมแล้วสูงขึ้น
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ
การที่ราคาสินค้าและอาหาร รวมถึงค่าเช่าบ้านยังแพงขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดยผลสำรวจจาก FedWatch Tool ชี้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกประมาณ 3 ครั้งในการประชุมเดือนมีนาคม พฤษภาคม และมิถุนายน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50%
อย่างไรก็ตาม Tiffany Wilding นักเศรษฐศาสตร์จาก PIMCO บริษัทจัดการสินทรัพย์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในภาพรวมเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความเห็นของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่กล่าวว่า “กระบวนการลดอัตราเงินเฟ้อได้เริ่มขึ้นแล้ว” แต่ “กระบวนการนี้น่าจะใช้เวลาไม่น้อย และไม่น่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น”
รายงานระบุว่า จนถึงขณะนี้ การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่สะท้อนถึงห่วงโซ่อุปทานที่ไหลเวียนได้อย่างอิสระและการลดลงของราคาพลังงาน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงราคารถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และของเล่น ราคาสินค้าหลักโดยรวมพุ่งขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมกราคม หลังจากลดลงเป็นเวลา 3 เดือน
กระนั้น ราคาอาหารพุ่งขึ้น 0.5% ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม ท้าทายความหวังเงินเฟ้อชะลอตัว โดยผลิตภัณฑ์ธัญพืช ขนมปังมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ราคาไข่พุ่งขึ้น 8.5% ในเดือนมกราคมและพุ่งสูงขึ้น 70% ในปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกที่ทำลายชีวิตไก่จำนวนมาก
ทิศทางเงินเฟ้อส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ ปิดตลาดแบบผสม โดยดัชนี Dow Jones Industrial Average ปรับตัวลดลง 156.66 จุด หรือ 0.46% ปิดที่ 34,089.27 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 1.16 จุด หรือ 0.03% ปิดที่ 4,136.13 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 68.36 จุด หรือ 0.57% ปิดที่ 11,960.15 จุด
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่า Fed น่าจะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะ 3.753% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.613% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 6 เดือน พุ่งขึ้น 5.022% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2007
นอกจากนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ดันให้นักลงทุนหันเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างทองคำ ทำให้ราคาทองคำในวันอังคารที่ผ่านมา (14 กุมภาพันธ์) ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,865.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
อ้างอิง: