×

‘แบงก์ชาติ’ ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งเกินระดับเฝ้าระวัง หวั่นกระทบความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว เร่งออก 4 แนวทางแก้ปัญหา

15.02.2023
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

ธปท. ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งเกินระดับเฝ้าระวัง พุ่งจากระดับ 59.3% มาอยู่ที่ระดับ 86.8% ต่อ GDP ภายใน 10 กว่าปี หวั่นฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว เร่งออก 4 แนวทางแก้ปัญหา

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยได้ทำการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ พูดคุยกับลูกหนี้หลากหลายกลุ่ม พบว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ปัจจุบันมียอดหนี้รวมกันมากถึง 14.99 ล้านล้านบาท 2 ใน 3 ของยอดดังกล่าวเป็นหนี้เพื่อการบริโภคหรือหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และ 1 ใน 3 เป็นหนี้บ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งจำนวนหนี้เพื่อการบริโภคที่มากกว่าหนี้ที่อยู่อาศัย ทำให้ครัวเรือนไทยมีหนี้สะสม เรื้อรัง ไม่มั่นคง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะเดียวกัน ยังพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากระดับ 59.3% ในปี 2553 มาอยู่ที่ระดับ 86.8% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สูงเกินกว่าระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อ GDP ตามที่ Bank for International Settlements (BIS) กำหนดไว้ ซึ่งเป็นระดับควรเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น

 

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าว ธปท. จึงได้จัดทำ ‘แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน’ โดยในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องทำอย่างครบวงจรให้เหมาะกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ และต้องทำอย่างถูกหลักการ คือแก้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ และตั้งใจจริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ โดยมีแนวทางการดำเนินการสำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนี้

  1. หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน: เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว การกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ การสร้างตัวช่วยลูกหนี้ โดยให้มีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง
  2. หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง: ให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยจะผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน 
  3. หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต: ธปท. จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending) และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ (Macroprudential Policy) รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (Risk-Based Pricing) พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง
  1. หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน เช่น หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ: จะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่างๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่างๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมการจ่ายเงิน เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นและด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ตรงตามความเสี่ยงของตน

 

โดยทั้ง 4 แนวทาง ธปท. จะเร่งดำเนินการผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด แก้ปัญหานี้ได้จริง ซึ่งจะช่วยให้ภาคครัวเรือนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น ระบบการเงินเข้มแข็งขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีการเผยแพร่ 8 ข้อเท็จจริงที่ทำให้คนไทยมีปัญหาหนี้สะสม ประกอบด้วย

 

  1. เป็นหนี้เร็ว โดยพบว่า คนวัยเริ่มทำงานอายุ 25-29 ปี มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบตั้งแต่ทำงานได้เพียงปีเดียว โดยพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตนำไปใช้จ่ายกินเที่ยวจนเต็มวงเงินภายในไม่ถึง 1 ปี จากนั้นก็จ่ายหนี้ขั้นต่ำจนหนี้พอกพูน สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสีย
  2. เป็นหนี้เกินตัว เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลจะมีบัตรเครดิตหลายใบ มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงกว่าเงินเดือนหรือสูงกว่ารายได้ 10-25 เท่า ทำให้แต่ละเดือนมีภาระจ่ายหนี้เกินครึ่งของรายได้
  3. เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง เป็นปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือลูกหนี้ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง
  4. เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น โดยพบว่ากว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมที่ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินไม่เพียงพอ เมื่อเกิดเหตุทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีปัญหาไม่มีเงินพอจ่ายหนี้
  5. เป็นหนี้นาน พบว่ามากกว่า 1 ใน 4 ของคนที่อายุเกิน 60 ปียังมีภาระหนี้ต้องผ่อนชำระทุกคน โดยเป็นหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน รวมทั้งลูกหนี้มักจะผ่อนชำระขั้นต่ำมาโดยตลอด
  6. เป็นหนี้เสีย จากลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสียเกือบครึ่ง หรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้ในช่วงโควิด
  7. เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น พบว่าเกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง และ 1 ใน 3 ของลูกหนี้จะถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดก็ยังปลดหนี้ไม่ได้
  8. เป็นหนี้นอกระบบ พบว่า 42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างจากทั่วทุกภูมิภาค มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท บางรายเป็นหนี้เพราะเล่นการพนัน ต้องยืมเงินคนรอบตัว กู้แบงก์ไปเล่นพนันจนหนี้พอกพูน สุดท้ายต้องพึ่งเงินนอกระบบ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising