เห็นข่าว KBank ประกาศจะเริ่มทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแล้วน่าสนใจไม่น้อย
ประกอบกับบังเอิญว่าผมแอบนั่งดูตัวเลขแอปพลิเคชันที่คนจำเป็นต้องใช้บนมือถือมาสักระยะแล้วพบว่า แอปพลิเคชันของธนาคารเริ่มเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้คนส่วนมากต้องมีติดเครื่องไว้
ตัวเลขล่าสุดจาก We Are Social นั้นบอกว่า แอปพลิเคชันของ KBank มีผู้ใช้งานในประเทศไทยรองจาก LINE, Facebook, Facebook Messenger และ Instagram เพียงแค่นั้น นั่นหมายความว่ามีผู้ใช้งานประจำอยู่จำนวนไม่น้อย
แน่นอนว่าแอปพลิเคชันของแบงก์หรือธนาคารอื่นๆ ก็น่าจะมีผู้ใช้งานประจำอยู่มากด้วยเช่นกัน
นั่นหมายความว่า ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้งานแอปพลิเคชันของธนาคารเป็นประจำในการโอนเงิน หรือทำธุรกรรมทางธนาคารมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนตรงกันกับที่ ธนาคารเริ่มลดสาขาลง
ตัวเลขประกอบที่น่าสนใจคือ ตัวเลขผู้มีบัตรเครดิตนั้นต่ำไปนิด แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขของผู้มีบัญชีเงินฝากและเงินกู้รายย่อยนั้นสูงมาก
ทั้งหมดนี้แม้บรรยากาศที่ใครๆ ก็ว่าธนาคารกำลังจะถูก Technology Disrupt แต่เมื่อมอง Technology ในแง่ประโยชน์ของการใช้งานนั้นมีโอกาสอันน่าสนใจปะปนอยู่
ผมเคยคิดมาสักพักแล้วว่า ถ้าจะมีใครสักคนสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของประเทศเราเองเอาไว้ใช้
ธนาคารนี่แหละเหมาะสมที่สุดที่จะทำ เพราะผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานประจำในแต่ละวันมีอยู่มากไม่แพ้แพลตฟอร์มอื่นๆ ของต่างประเทศเลย
ลองนึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าเราเข้าแอปพลิเคชันของแบงก์อยู่แล้ว แล้วเราสามารถซื้อ-ขาย ของได้ด้วย ซื้อใช้เองหรือซื้อส่งให้เพื่อนได้ในราคาที่พอๆ กันกับอีคอมเมิร์ซอื่นๆ และให้ตัดยอดเงินในบัญชีเราไปได้เลย เพราะคนส่วนมากมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารอยู่แล้วสักธนาคารหนึ่ง ไม่ต้องมีบัตรเครดิตก็จับจ่ายซื้อของได้ง่าย หรืออาจมีระบบเงินผ่อนรอไว้เลยจากฐานบัญชีเงินฝากเรา มันก็น่าจะสะดวกดี
รวมไปถึงธนาคารเองนั้นมีฐานลูกค้า ร้านค้าต่างๆ อยู่มากมายอยู่แล้ว จากเงินกู้ SMEs ต่างๆ
ถ้าทำสำเร็จ ธนาคารจะมีข้อมูลอีกมากในการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน รวมถึงสินค้า ร้านค้า เงินกู้ ฯลฯ
ซึ่งถ้าบริหารจัดการข้อมูลพวกนี้ได้ดี ธนาคารจะสร้างธุรกรรมการเงิน รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอยได้อีกมาก
และน่าจะไม่แพ้อีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจของคนที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารนั้นมีอยู่พอสมควรในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
ผมคิดว่าไอเดียแบบนี้ใครๆ ก็น่าจะคิด ธนาคารเองก็น่าจะคิดออก
คำถามคือจะ Execution อย่างไร เพื่อสร้างพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยให้เกิดขึ้นเพิ่มเติมบนแอปพลิเคชันของธนาคารที่ในวันนี้ส่วนมากใช้โอนเงิน ทำธุรกรรมทางธนาคาร และซื้อ Product ทางการเงิน หรือประกันภัยเพียงแค่นั้น
การ Execution การทำการตลาด การคัดเลือกสินค้า การตั้งราคา การจัดส่งสินค้า การบริหารจัดการหน้าร้านบนแอปพลิเคชันนั้นไม่ง่ายนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะยากเกินความสามารถ
ถ้าธนาคารสามารถฝึกพนักงานธนาคารในวันนี้ให้สามารถบริหารจัดการร้านค้า คัดเลือกร้านค้า และสินค้า รวมถึงการดูแลการตลาดให้สินค้าที่มาทำการค้าขายบนแอปพลิเคชันของธนาคารได้ด้วยจะดีไม่น้อย แน่นอนว่าธนาคารมีระบบการเงินและเงินกู้ที่ดีในการสนับสนุนสินค้าที่ขายดีบนออนไลน์ได้อยู่แล้ว เพราะสามารถเห็นข้อมูลเมื่อเกิด Transaction
ผมคิดว่าทุกธนาคารน่าจะเห็นข้อมูลนี้ และกำลังเตรียมตัวอยู่ เพียงแต่ KBank นั้นขยับตัวก่อน
โดยส่วนตัวคิดว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว และก็ขอเอาใจช่วยทุกธนาคารที่มีความคิดจะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ทำสำเร็จ เราจะได้มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่แข็งแรงของคนไทยที่ใครๆ ก็พูดถึงกันมานาน
ในเมื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba เริ่มทำตัวเป็นธนาคารแล้วได้ ตัวธนาคารเองก็อาจจะกลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซบ้างก็ได้
บนวิกฤตของ Technology Disruption นั้นมีโอกาสเสมอ หากเราเรียนรู้จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลง สำคัญที่สุดไม่ใช่ไอเดีย แต่เป็นทัศนคติและการปฏิบัติเสียมากกว่า
ท้ายนี้ขอฝากตัวเลขที่น่าสนใจอีกตัว เผื่อใครคิดอะไรออก ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ตัวเลขการใช้เงินอันดับ 1 บนออนไลน์คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ตามมาด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และของเล่น ถ้าเจาะให้ลึกอีกหน่อยคือ การจองโรงแรมและตั๋วในการเดินทาง ผู้เล่นที่ได้ประโยชน์จากธุรกรรมนี้มีอยู่ไม่มาก ถ้าใครมีแพลตฟอร์มที่ใหญ่และ Execution ที่ดีก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ขอให้ทุกคนหาโอกาสจาก Technology Disruptive ให้เจอ และสร้างโอกาสจาก Disruptive นั้นให้ได้