พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ยูทูเบอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์ ต้องเสียภาษีอย่างไร? หลัง ‘สรรพากร’ ตั้งทีมรีดภาษี ประกาศเร่งไล่ต้อนผู้มีเงินได้จากช่องทางออนไลน์เข้าสู่ระบบ หลังจากเปิดเผยว่า 2 ปีที่ผ่านมาสามารถดึงผู้ประกอบการในส่วนนี้เข้าสู่ระบบได้มากกว่า 1 แสนรายต่อปี
สัปดาห์ที่ผ่านมา ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในปี 2566 กรมสรรพากรจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง แต่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง หรืออยู่นอกระบบ อย่างผู้ค้าขายออนไลน์ ยูทูเบอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์ ผ่านการตั้งกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ หลังจากช่วงปีงบประมาณ 2564-2565 กรมสรรพากรสามารถต้อนผู้ประกอบการในส่วนนี้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากกว่า 1 แสนรายต่อปี
โดยอธิบดีกรมสรรพากรยังกล่าวเชิญชวนให้ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้อง พร้อมยืนยันว่าเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว และกรมสรรพากรพร้อมที่จะประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และย้ำว่าการเสียภาษีไม่ถูกต้องและไม่เสียภาษีมีต้นทุนแพงกว่าการเสียภาษีด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ยูทูเบอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
‘ขายของออนไลน์’ เสียภาษีอย่างไร?
สำหรับผู้ค้าขายทางออนไลน์จำเป็นต้องรู้จักภาษี 2 ประเภทสำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อไม่ให้มีปัญหาถูกประเมินภาษีย้อนหลัง
ภาษีเงินได้บุคลลธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับ ‘การขายของออนไลน์’
โดยปกติรายได้ที่รับส่วนนี้มักจะอยู่ในรูปแบบซื้อมาขายไป ซึ่งถูกจัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) โดยสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ทาง ได้แก่
- การเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย เพราะกฎหมายให้สิทธิเหมาจ่ายตามยอดขายที่เกิดขึ้นในอัตรา 60% ของยอดขาย
- การเลือกหักตามค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีด้วย
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับ ‘การขายของออนไลน์’
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ยอดขายเกิน
เมื่อจด VAT แล้ว ผู้ประกอบการต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้บริโภค โดยคำนวณจากมูลค่าสินค้า แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรอีกที โดยต้องยื่นภาษีเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า ภ.พ.30 ด้วย
‘ยูทูเบอร์-อินฟลูเอ็นเซอร์’ ต้องเสียภาษีอย่างไร?
สำหรับยูทูเบอร์-อินฟลูเอ็นเซอร์ในประเทศไทยเป็นอาชีพที่ต้องเสียภาษีไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ แต่เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการเสียภาษีของยูทูเบอร์โดยตรง ยูทูเบอร์ในไทยจึงต้องเสียภาษีแยกตามประเภทรายได้ต่างๆ แทน เนื่องจากยูทูเบอร์และอินฟลูเอ็นเซอร์สามารถมีรายได้จากหลายช่องทาง เช่น ส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย การรับจ้างรีวิวสินค้า รับจ้างโชว์ตัว และการขายสินค้า
ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ประจำ หรือมนุษย์เงินเดือนที่ใช้เวลาว่างเป็นยูทูเบอร์หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ด้วย ก็ต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวม และคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
ประเภทรายได้และภาษีที่ต้องจ่ายสำหรับยูทูเบอร์
- รายได้จากส่วนแบ่งค่า ‘โฆษณา’ จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ต้องมีหลักฐานใช้จ่ายครบถ้วน
- รายได้จากยอดชม (View) และยอดผู้ติดตามบนช่อง จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริง ต้องมีหลักฐานใช้จ่ายครบถ้วนเช่นกัน
- รายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้าหรือสปอนเซอร์ในคลิปหรือคอนเทนต์ต่างๆ นับเป็นรายได้ที่มาจากผู้ว่าจ้างและเป็นการทำงานแลกเงินตามปกติ จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 (เงินได้ 40 (2)) จึงจะถูกหักแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
- รายได้จากการรับจ้างโชว์ตัว ก็นับเป็นรายได้ที่มาจากผู้ว่าจ้างและเป็นการทำงานแลกเงินตามปกติ จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 (เงินได้ 40 (2)) จึงจะถูกหักแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
- รายได้จากการขายสินค้าและบริการ หรือที่ซื้อมาขายไป จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) คือรายได้จากการค้าขาย สำหรับร้านค้าที่ผลิตสินค้าเอง ให้หักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ถ้าสินค้าที่รับซื้อมา ให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%
‘พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์-ยูทูเบอร์’ รายได้เท่าไรถึงต้องเสียภาษี?
สำหรับยูทูเบอร์ที่ไม่ได้จดบริษัทเป็นนิติบุคคล จะคำนวณภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา กล่าวคือ ต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้ทั้งปีถึง 1.2 แสนบาท และหากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ และหักค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว หรือเงินได้สุทธิเกิน 1.5 แสนบาท ต้องเสียภาษี
ส่วนผู้ขายของออนไลน์จำเป็นต้องยื่นแบบเสียภาษีเมื่อรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘คลัง’ สยบข่าวลือชะลอเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ ยันไม่ถอนกฎหมาย อยู่ขั้นตอนสุดท้าย รอนายกฯ ตัดสินใจขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนเตรียมประกาศใช้
- คลังเคาะ! เริ่มเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ อัตรา 0.1% เริ่ม 1 ม.ค. 67 ย้ำไม่ได้เอื้อประโยชน์นักลงทุนรายใหญ่
- วิเคราะห์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ การจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ พร้อมเปิด 10 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย
อ้างอิง: