ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่บรรดานักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อในช่วงสัปดาห์นี้ก็คือการเปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ซึ่งจะถือเป็นข้อมูลบ่งชี้สำคัญต่อสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ว่ากำลังเป็นไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่งจะออกมายอมรับว่า มองเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อ (Disinflation) ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ
บรรดาเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งครอบคลุมราคาสินค้าทุกประเภทรวมถึงอาหาร เครื่องดื่มและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นจากตัวเลขที่เห็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากการสำรวจของ Bloomberg ระบุว่า ขณะที่ตัวเลขดัชนี CPI รายเดือนน่าจะเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม แต่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประจำปีคาดว่าจะลดลงเหลือ 6.2% จาก 6.5% ของเดือนก่อนหน้า
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคหลัก ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ค่อนข้างผันผวน อีกทั้งยังเป็นดัชนีที่ Fed เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด หลายฝ่ายคาดว่าดัชนีดังกล่าวน่าจะขยับเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นอัตราเท่าเดิมกับที่ปรับขึ้นในเดือนธันวาคมก่อนหน้า
เมื่อเทียบเป็นรายปี นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนี CPI หลักจะเพิ่มขึ้น 5.5% ตลอดทั้งปี ลดลงเล็กน้อยจากอัตรารายปีในเดือนธันวาคมซึ่งอยู่ที่ 5.7%
รายงานระบุว่า ปัจจุบัน เหล่าผู้กำหนดนโยบายต่างให้น้ำหนักและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนี CPI หลัก หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหนุนหลักอย่างราคาที่อยู่อาศัยอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปไม่ได้มีความสำคัญมากนัก เนื่องจากแนวโน้มความผันผวนของราคาพลังงานในปี 2023 นี้
สำหรับประธาน Fed อย่างพาวเวลล์ สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อก็คือราคาค่าเช่า ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI ยังคงอยู่ในระดับสูง และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ Fed ใช้เป็นแนวทางในการประเมินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งพาวเวลล์กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตนเองคาดหวังให้เงินเฟ้อในตลาดที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงในช่วงกลางปี ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีผลกระทบเจ็บปวดรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่กว่าจะถึงช่วงเวลาที่ว่านี้อาจจะต้องอดใจรออีกสักพักหนึ่ง
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จะทำให้นักลงทุนตระหนักได้อีกครั้งว่า ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงใด เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อที่ระดับการค้าส่งในวันพฤหัสบดี ในขณะเดียวกัน รายงานยอดค้าปลีกของรัฐบาลที่จะออกในวันพุธ (15 กุมภาพันธ์) คาดว่าจะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ทั้งนี้ดัชนี PPI ในเดือนมกราคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.4% เพิ่มขึ้นจากการลดลง 0.5% ในเดือนธันวาคมก่อนหน้า โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าดัชนี PPI รายปีจะลดลงจาก 6.2% ในเดือนธันวาคม มาอยู่ที่ 5.4%
ส่วนยอดค้าปลีกคาดว่าจะฟื้นตัวในเดือนมกราคม โดยเพิ่มขึ้น 1.9% จากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่ลดลง 1.1% ในเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 กุมภาพันธ์) ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปิดตลาดส่งท้ายสัปดาห์ด้วยผลงานที่ย่ำแย่ที่สุดของปี 2023 นี้ หลังจากที่เปิดตลาดต้นปีอย่างแข็งแกร่ง โดยสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 1.1% ดัชนี Dow Jones Industrial ลดลง 0.2% และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 2.4%
นักวิเคราะห์จาก Bespoke Investment Group ระบุว่า เนื่องจากการปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งของตลาดตั้งแต่ต้นปี ทำให้ตลาดมีกำหนดเข้าสู่ช่วงภาวะเย็นตัวลง ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าช่วงดังกล่าวน่าจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้
ด้านตลาดตราสารทุนดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เดือนธันวาคมจากการเดิมพันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวเร็วกว่าที่คาดไว้หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเร็วๆ นี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่และนักยุทธศาสตร์ยังคงยืนกรานว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตื่นเต้นดีใจกับการชะลอตัวของเงินเฟ้อ เพราะประธาน Fed ก็แสดงท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่ถึงจุดที่ Fed ตั้งเป้าไว้ที่ 2%
Michael Gapen จาก Bank of America ระบุว่า ธนาคารยังคงกังขาต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ว่าเป็นไปอย่างรวดเร็วจริงหรือ และคาดว่าข้อมูลยอดค้าปลีกที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้จะทำให้คำถามดังกล่าวยังคงอยู่
ในส่วนของรายงานรายได้ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ รายงานระบุว่า จะมีการทยอยเปิดเผยออกมาเพื่อให้ภาพรวมของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น โดยจนถึงขณะนี้ 69% ของ บจ. ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแล้ว และมีเพียง 69% ของหุ้นที่รายงานกำไรต่อหุ้นสูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่แล้วที่ 77%
ช่วงสัปดาห์นี้ เหล่านักลงทุนต่างรอดูผลประกอบการของบริษัทชั้นนำอย่าง Airbnb (ABNB), Coca-Cola (KO), DraftKings (DKNG), Paramount Global (PARA) และ Deere (DE)
อ้างอิง: