สหภาพยุโรปเล็งใช้นโยบายจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาอย่าง Google, Facebook, Apple และ Amazon ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังประเทศฝรั่งเศสเผยว่า อัตราภาษีที่จัดเก็บอาจจะอยู่ที่ประมาณ 2-6% จากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมในประเทศ
คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่ากำลังมองถึงความเป็นไปได้ในการเสนอร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีฉบับใหม่ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยจะเน้นความสำคัญไปยังการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาทำการค้าและสร้างรายได้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปผ่านระบบออนไลน์โดยไม่เสียภาษีเป็นหลัก
ขณะที่ บรูโน เลอ ไมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจประจำประเทศฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Journal du Dimanche ฉบับวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคมว่า ฝรั่งเศสกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยี “อัตราของการเก็บภาษีจะอยู่ที่ราวๆ 2-6% แต่ผมคิดว่ามันน่าจะใกล้เคียงกับ 2% มากกว่า”
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจประเทศฝรั่งเศสยังเชื่ออีกด้วยว่า ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านั้นล้วนแล้วแต่ทราบเป็นอย่างดีว่าระบบดังกล่าวไม่สามารถดำเนินได้ต่อไปอีกแล้ว (ทำการค้าโดยเลี่ยงการเสียภาษีในประเทศอื่นๆ) และเน้นย้ำว่าอยากให้กฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยระบุว่า บริษัทเทคฯ ชั้นนำจากสหรัฐฯ นำโดยกลุ่ม GAFA หรือ Google, Amazon, Facebook และ Apple ใช้กลยุทธ์เลี่ยงเสียภาษีเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินภาษีหลักพันล้านยูโร ทั้งยังให้ผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายเล็กๆ ซึ่งจากการเปิดเผยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในปี 2015 เชื่อว่ากลยุทธ์ที่ไม่เป็นธรรมนี้ส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลกสูญเงินไปปีละไม่ต่ำกว่า 240 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยที่ประมาณ 7.54 ล้านล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งจากสหรัฐฯ ต่างก็เข้าใจว่าคงเลี่ยงชะตากรรมนี้ไม่ได้ โดย Amazon เคยกล่าวไว้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า พวกเขากำลังจะถูกจัดเก็บภาษีในฝรั่งเศส และอาจจะส่งผลให้รายได้บริษัทลดลงไปพอสมควร ขณะที่มาตรการเก็บภาษีในบางประเทศก็โหดเอาเรื่อง ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ที่เรียกเก็บภาษีบริษัทเทคฯ ที่เข้ามาทำการค้าออนไลน์ในประเทศเป็นปกติ แต่จะเริ่มเปลี่ยนมาตรการคำนวนหักภาษีจากรายรับส่วนกำไรมาหักจากรายรับทั้งหมดแทนในช่วงราวๆ กลางเดือนมีนาคมนี้
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันกรมสรรพากรยังไม่มีมาตรการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างประเทศแต่อย่างใด โดย แพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว THE STANDARD ไว้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า กรมสรรพากรกำลังอยู่ในระหว่างร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีกับผู้ค้ารายใหญ่จากต่างประเทศ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงต้นปีนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยไม่ถูกบีบจากช่องว่างทางกฎหมายเรื่องภาษีที่ผู้ประกอบการต่างประเทศใช้ประโยชน์
อ้างอิง: