×

สถาบันปรีดีฯ ออกแถลงการณ์ หนุนข้อเรียกร้องตะวัน-แบม ขอทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก ยุติการสูญเสียและความขัดแย้ง

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) สถาบันปรีดี พนมยงค์ เผยแพร่แถลงการณ์ กรณีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกตั้งข้อหาคดีการเมือง โดยมีเนื้อหาความว่าสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ติดตามสถานการณ์การอดอาหารประท้วงของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ และผู้ถูกตั้งข้อหาคดีการเมืองอื่นๆ จนอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง

 

“เรายังคงยืนยันในหลักการที่ว่า ผู้ต้องหาควรได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้รับการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย อนึ่ง ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ และการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ มิได้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงแต่อย่างใด หากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นที่ยอมรับในระบอบประชาธิปไตยสากล ดังที่ได้ออกแถลงการณ์ไปก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564”

 

สถาบันปรีดีฯ เห็นว่าสิ่งสำคัญเวลานี้ คือการสร้างความตระหนักแก่สังคมและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันโดยเร็ว เพื่อยุติการอดอาหารประท้วงของนักเคลื่อนไหวอย่างทันท่วงที ด้วยวิธีการที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ดังนี้

 

  1. การพิจารณาคำสั่งประกันตัว: ศาลสามารถตรวจสอบคำสั่งประกันตัวของทานตะวันและอรวรรณ และพิจารณาเพิกถอนได้หากมีหลักฐานบ่งชี้ว่าไม่ชอบธรรม หรือไม่จำเป็น และพิจารณาว่าเงื่อนไขการประกันตัวเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักประกันสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ หรือไม่

 

  1. การปล่อยตัวผู้ต้องหาในคดีการเมือง: ศาลสามารถพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีการเมืองทั้งหมดได้ตามกฎหมาย โดยทบทวนเงื่อนไขการควบคุมตัว เพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันกับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีประเภทอื่นที่มีระดับความผิดและระวางโทษเท่ากันหรือสูงกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ

 

  1. การยกเลิกเงื่อนไขการประกันตัว: ศาลสามารถพิจารณายกเลิกเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิดได้ เช่น การใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) เพื่อติดตามตัว การห้ามออกนอกเคหสถาน ในลักษณะที่เงื่อนไขกลายเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต จนขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน 

 

ทั้งนี้ การเรียกหลักประกัน หรือการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว จะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า คำขอประกันผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยเคร่งครัด

 

“สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงสนับสนุนให้สังคมรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ถูกตั้งข้อหา ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเฝ้าติดตามกระบวนการสร้างความยุติธรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันองค์กรของรัฐทุกองค์กรและทุกระดับจะต้องพิจารณาและบังคับใช้กฎหมายอย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงหลักนิติรัฐและสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน รวมถึงยุติการตั้งข้อหากับผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีทางอาญา และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังจากการใช้สิทธิเสรีภาพโดยสุจริต เพื่อยับยั้งความสูญเสีย และรักษาบรรทัดฐานทางสังคมไม่ให้เกิดความขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X