สหภาพยุโรป (EU) ยกระดับมาตรการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ด้วยการสั่งแบนการนำเข้าน้ำมันดีเซลและผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่นๆ จากแดนหมีขาว หวังตัดทอนรายได้ของรัฐบาลเครมลิน ตอบโต้การเดินหน้าบุกยูเครนอย่างต่อเนื่อง
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) เห็นชอบเปิดทางกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในตลาดโลก เมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2022
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง
- ‘บีซีพีจี’ ทุ่ม 9 พันล้านบาท ฮุบธุรกิจ ‘คลังน้ำมันและท่าเรือ’ เปิดทางสู่ธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ระบุมีกระแสเงินสดพร้อมลงทุน ไร้แผนเพิ่มทุน
- สะพัด ‘บางจาก’ ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท ปิดดีลเทกโอเวอร์ ESSO จ่อชงบอร์ด 9 ม.ค. 66 ต่อยอดธุรกิจ Jet Fuel ปูทางขายน้ำมันเข้าสนามบินทั่วประเทศ
รายงานระบุว่า การแบนครั้งล่าสุดของ EU ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกังวลว่า อาจทำให้เกิด ‘ความคลาดเคลื่อนของตลาดที่สำคัญ’ และสร้างความไม่แน่นอนด้านราคา เพราะ EU ต้องหาแหล่งน้ำมันจากสหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และอินเดีย เพื่อทดแทนปริมาณน้ำมันดีเซลที่เคยนำเข้าจากรัสเซีย โดย EU พึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียประมาณ 10% ของความต้องการทั้งหมด
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่า การคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซียจากสหภาพยุโรปที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะมีความซับซ้อนและก่อกวนตลาดโลกมากกว่าที่เคยเป็นมา
Matthew Sherwood นักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit กล่าวกับทาง CNBC ว่าอาจจะเกิดภาวะหยุดชะงักในตลาดน้ำมันเนื่องจากสหภาพยุโรปยังคงจัดหาแหล่งซื้อน้ำมันทดแทน และยังคาดว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสร้างแรงกดดันต่อราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยทั่วไปมากขึ้น
Sherwood อธิบายว่า มาตรการของยุโรปจะส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งน้ำมัน โดยรัฐบาลรัสเซียจะจัดส่งน้ำมันไปยังจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกามากขึ้น ขณะที่ยุโรปก็เพิ่มการนำเข้าจากอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ ซึ่งรูปการณ์ดังกล่าวจะทำให้มีต้นทุนด้านการขนส่งที่สูงขึ้น และทำให้ราคาน้ำมันโดยรวมแพงมากขึ้น
คำอธิบายดังกล่าวยังเป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งแสดงความสงสัยว่ามาตรการคว่ำบาตรของ EU จะได้ผลตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ เพราะเป็นเพียงแค่การทำให้การไหลเวียนของน้ำมันรัสเซียที่ไปยังยุโรป เปลี่ยนเส้นทางไปยังจีน อินเดีย และตุรกีก่อน ซึ่งประเทศที่ว่านี้ยินดีซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ผลสำรวจความเห็นโดย Reuters ระบุว่า การโหลดน้ำมันรัสเซียในท่าเรือบอลติกน่าจะเพิ่มขึ้น 50% ในเดือนมกราคม ซึ่งถือว่าไม่เลวร้ายเลยสำหรับประเทศที่โดนชาติตะวันตกคว่ำบาตรเช่นนี้
IEA แนะตั้งรับ ‘อุปสงค์’ พุ่งจากความต้องของจีน
วันเดียวกัน Channel News Asia รายงานว่า Fatih Birol ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ได้ออกโรงเตือนความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตน้ำมันอาจต้องพิจารณานโยบายการผลิตใหม่หลังจากอุปสงค์ฟื้นตัวในจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลก
Birol ระบุว่า จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวอันดับ 2 กลายเป็นปัจจัยที่ไม่แน่นอนที่ใหญ่ที่สุดในตลาดน้ำมันและก๊าซทั่วโลกในปี 2023 เนื่องจากนักลงทุนต่างวางเดิมพันกับความรวดเร็วในการฟื้นตัวหลังจากจีนยกเลิกข้อจำกัดด้านโควิดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ IEA คาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งของการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้จะมาจากประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำมันจากภาคอุตสาหกรรมการบินที่พุ่งพรวดอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นแรงกดดันต่อดีมานด์โดยรวมในตลาด ซึ่งหากว่าดีมานด์ยังคงเดินหน้าโตต่อไปควบคู่กับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (OPEC) อาจจำเป็นต้องพิจารณานโยบายการผลิตของทางกลุ่ม
Birol หวังว่ากลุ่ม OPEC จะกลับมามีบทบาทสำคัญในตลาดน้ำมันที่ความต้องการใช้งานอยู่ในช่วงขาขึ้นในเวลานี้
ในส่วนของมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดของ EU นั้น Birol เชื่อว่าอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากในระยะเวลาสั้นๆ จากการปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งที่ยุโรปจะหันไปนำเข้าน้ำมันจากจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ มากขึ้น
อ้างอิง: