สำหรับเฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดในปี 2022 ด้วยผลขาดทุนเฉลี่ย 8.3% แต่สำหรับผู้จัดการกองทุนบางรายสามารถเอาชนะตลาดและสร้างกำไรได้ด้วยการลงทุนแบบ Active ในยุคที่ตลาดผันผวนสูง และนี่คือมุมมองของกองทุนเหล่านี้ต่อโอกาสที่จะเกิดขึ้น
กองทุน MSIF ของ Dymon Asia Capital สร้างกำไร 5.1% ในปี 2022 ทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารเติบโตเป็น 2.3 พันล้านดอลลาร์ โดยกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างผลตอบแทนมาจากการคาดเดาว่าค่าเงินในเอเชียจะเคลื่อนไหวอย่างไร และการจับจังหวะบนความผันผวนของหุ้น
Kenneth Kan รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Dymon Asia Capital กล่าวว่า การเปิดประเทศของจีนเป็นธีมหลักของการลงทุนที่บริษัทเฝ้าดู การแห่กลับมาท่องเที่ยวของชาวจีนหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายกฎเกณฑ์อาจช่วยหนุนค่าเงินอย่างเงินบาทของไทยและดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งเงินวอนของเกาหลีใต้และเงินยูโร
Dymon Asia Capital มองว่าการบริโภคในด้านต่างๆ เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องและจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากเทศกาลตรุษจีน “การเปิดประเทศของจีนจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรู”
ด้านกองทุน Modular Asset Management ภายใต้การบริหารของ Jimmy Lim สร้างกำไร 14.3% โดยไม่มีเดือนไหนที่เผชิญกับการขาดทุนเลยในปีที่ผ่านมา ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 1.1 พันล้านดอลลาร์
กลยุทธ์การลงทุนที่ดีในปีที่ผ่านมาคือการเดิมพันกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ผ่านการคาดการณ์ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกที่ผ่อนคลายนโยบายควบคุมโควิด หนุนให้การค้าและการท่องเที่ยวฟื้นตัว และแรงหนุนอีกด้านหนึ่งคือการที่ธนาคารกลางมีนโยบายกระตุ้นให้ค่าเงินแข็งค่าเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
Modular Asset Management เริ่มต้นเดิมพันกับจีนว่าจะกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และหันมาโฟกัสกับการบริโภคพร้อมช่วยเหลืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ
“นั่นหมายความว่าการสนับสนุนโดยเฉพาะภาคอสังหา และผ่อนคลายการควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องผ่อนคลายทางการเงินหรืออย่างน้อยที่สุดคือต้องไม่ใช้นโยบายหดตัว”
Jimmy Lim คาดว่าบอนด์ของจีนจะปรับตัวขึ้น และหุ้นจีนจะยังน่าสนใจไปจนถึงช่วงหลังเทศกาลหยุดยาว
อีกหนึ่งกองทุนที่ทำผลงานได้ดีเมื่อปีก่อนคือ Asia Genesis Macro Fund ภายใต้การบริหารของ Chua Soon Hock สร้างผลตอบแทน 15.32% เมื่อปีก่อน ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 173 ล้านดอลลาร์
กำไรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการขายชอร์ต (Short) หุ้นและบอนด์สหรัฐฯ ก่อนจะกลับมาเป็นการเปิดสถานะลอง (Long) ในช่วงไตรมาส 3 ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันกองทุนคาดว่าความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ไม่แน่นอนมากขึ้น รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เงินเฟ้อ และแรงกดดันจากดอกเบี้ย กองทุนวางแผนที่จะเทรดดัชนี Nikkei 225 โดยเน้นไปในฝั่ง Short
“ปี 2023 ดูเหมือนว่าหุ้นญี่ปุ่นจะย่ำแย่และน่าจะเกิดภาวะหมีเป็นส่วนใหญ่ เรายังคาดว่าจะเห็นตลาดบ้านที่อ่อนแอลงอีก และกำลังซื้อที่ถูกกดดันจากดอกเบี้ย ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อกำไร การจ้างงาน ความสามารถในการทำกำไร และราคาสินทรัพย์”
นอกจากนี้ Asia Genesis Macro Fund ยังมองว่าดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงและค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นในปีนี้ พร้อมกับวางแผนที่จะ Short ค่าเงินเยนอิงกับดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- จับตา! หุ้นฮ่องกง ดีดกลับจริงหรือแค่ชั่วคราว หลังผู้นำจีนส่งสัญญาณหนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง
- ส่อง 9 ตลาดหุ้นเอเชีย ‘อินโดนีเซีย’ แชมป์เงินไหลเข้ามากสุด และเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่ยืนบวก
อ้างอิง: