วันนี้ (31 มกราคม) ทีมข่าว THE STANDARD เรียบเรียงเรื่องราวกรณีนักแสดงชาวไต้หวัน ‘อันหยูชิง’ หรือ Charlene An บอกเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2566 ในลักษณะเตือนภัยผู้ที่จะมาเที่ยวประเทศไทย เนื่องจากเธอและเพื่อนเจอตำรวจมีพฤติการณ์ ‘รีดไถเงิน’
แน่นอนว่าเรื่องนี้เมื่อถูกเผยแพร่ทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยที่เพิ่งได้เริ่มเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ หลังจากผ่อนคลายมาตรการโควิด ถูกมองในแง่ลบ ด้านตำรวจที่เป็นคู่กรณีในเรื่องนี้เต็มๆ ต้องออกมาตั้งรับและโต้กลับแบบวันต่อวัน
ทีมข่าวไล่เรียงเรื่องดังกล่าวเป็นไทม์ไลน์ เพื่ออธิบายว่าเรื่องนี้มีใคร เริ่มต้น และล่าสุดจะหยุดที่ตรงไหน
- 29 ธันวาคม 2565
อันหยูชิงเข้าประเทศไทยด้วยสายการบิน Vietjet Air
- 5 มกราคม 2566 (วันเกิดเรื่อง)
ก่อนครบกำหนดเดินทางกลับไต้หวัน ระหว่างอันหยูชิงพร้อมเพื่อนเดินทางกลับโรงแรมหลังจากเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ประมาณ 02.00 น. เมื่อถึงแถวหน้าสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก บนถนนมีด่านตรวจ และรถแท็กซี่ที่เธอนั่งมาถูกเรียกให้หยุด
ตามคำบอกเล่าของอันหยูชิง ตำรวจที่ด่านตรวจขอตรวจค้นวีซ่า กระเป๋า และร่างกาย กลุ่มของเธอยื่นหนังสือเดินทางให้ตำรวจ และอธิบายว่าได้รับวีซ่า VOA หรือ Visa on Arrival เข้าประเทศไทย แต่ตำรวจไม่ยอมรับวีซ่า VOA ของเธอและเพื่อนๆ โดยอ้างว่าต้องเป็นวีซ่าจริง มีตราและพิมพ์บนหนังสือเดินทางเท่านั้น
จากนั้นเริ่มมีการโต้เถียงกัน เพื่อนในกลุ่มของเธอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัดคลิปเพื่อเป็นหลักฐาน ขณะนั้นอันหยูชิงขอให้ตำรวจปล่อยตัวเพราะเธอไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ใช้เวลาเจรจาประมาณ 2 ชั่วโมง ตำรวจพาไปที่ลับตาและแจ้งว่า “ทั้งหมดในรถต้องจ่ายมา 27,000 บาท ถึงจะยอมปล่อย”
ภาพจากวงจรปิดเวลา 03.46 น. (ตำรวจนำมาเปิดเผยภายหลัง) อันหยูชิงกับเพื่อนนั่งแท็กซี่มาตลาดห้วยขวางเพื่อเดินเที่ยวต่อ และปรากฏภาพว่าถือสิ่งของลักษณะคล้ายบุหรี่ไฟฟ้า
วันเดียวกัน อันหยูชิงเดินทางกลับประเทศไต้หวันด้วยสายการบิน China Airlines
- 25 มกราคม 2566
เพจเฟซบุ๊ก ‘หนีห่าวไต้หวัน ฉันมาแล้ว’ แปลโพสต์ของอันหยูชิง ระบุว่า “ไม่คิดเลยว่าไปเที่ยวปีใหม่ที่ไทย หวังเจอประสบการณ์ดีๆ แต่กลับกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายและน่ากลัวที่สุดในชีวิต และฉันจะไม่ไปเหยียบเมืองไทยอีก
ฉันอยากเตือนคนไต้หวันว่า จะไปไทยให้ระวัง อย่าพกเงินสดติดตัวในกระเป๋าเยอะ เพราะโดนสุ่มค้นตัวมา หาเรื่องยัดข้อหา พวกนั้นจับดูกระเป๋าก่อน ให้ระวังดีๆ หรือเพราะพวกเขาขาดรายได้จากการท่องเที่ยวมานานช่วงโควิด พอเปิดประเทศทีกลายเป็นมีแต่ปัญหาแบบนี้ (รีดไถ)” รวมถึงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม
- 26 มกราคม 2566
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งเร่งตรวจสอบแบ่งเป็น 3 ประเด็น
- ทางอินสตาแกรม ได้มีการเช็กอินที่โรงแรมแอสคอทท์ ทองหล่อ ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เข้าไปตรวจสอบว่าโรงแรมดังกล่าวมีการเข้าพักหรือมีชื่อของนักแสดงสาวเข้าพักหรือไม่ และโรงแรมแอสคอทท์มีกี่แห่งให้เข้าไปตรวจสอบทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน
- ให้ บช.น. ตรวจสอบเรื่องการตั้งด่านในห้วงเวลาที่เกิดเรื่อง ว่ามีการตั้งด่านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในจุดไหนบ้าง โดยเน้นไปในจุดที่มีคนต่างชาติพักอาศัยและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
- ติดต่อไปยังนักแสดงคนดังกล่าว โดยส่งข้อความไปในกล่องข้อความทั้งในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก จากทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้นักแสดงคนดังกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติม
- นายกรัฐมนตรีกำชับเร่งทำความจริงให้ปรากฏกับสื่อมวลชนและประชาชน หากพบมีการกระทำผิดจะต้องโดนโทษทางวินัยและอาญาอย่างเคร่งครัด และจะต้องตรวจสอบให้ได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน พล.ต.ต. สำเริง สวนทอง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกรองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ห้วยขวาง รวมทั้งตำรวจ 7 นายที่ตั้งด่านวันที่ 5 มกราคม มาสอบถาม จนทราบว่าวันดังกล่าวตำรวจโต้เถียงกับนักท่องเที่ยวจีน และขอตรวจสอบพาสปอร์ตจริง แต่ทางกลุ่มอันหยูชิงมีอาการเมา พูดไม่รู้เรื่อง อีกทั้งสื่อสารคนละภาษา
ต่อมาหัวหน้าจุดตรวจประเมินแล้วว่าไม่น่าจะเป็นบุคคลอันตราย เพราะฉะนั้นจึงปล่อยไปไม่มีจับ, ปรับ และไม่มีการเรียกรับเงิน ซึ่งตำรวจทั้งหมดยืนยันด้วยเกียรติว่าไม่มีการเรียกเงินที่กล่าวอ้างโดยเด็ดขาด
- 27 มกราคม 2566
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้หลักฐานวงจรปิดจากหน้าสถานทูตจีน 3 จุด ไม่ปรากฏภาพอันหยูชิงกับพวกจ่ายเงินให้ตำรวจไทย
พล.ต.ต.สำเริง สวนทอง รองผบช.น. เชิญตัวคนขับรถรับจ้างสาธารณะที่เรียกผ่านระบบแอพพลิเคชั่นมาสอบปากคำที่ สน.ห้วยขวาง ให้การว่าตลอดทางที่หญิงสาวคนดังกล่าวนั่งรถมา ลักษณะมีอาการมึนเมา เมื่อมาถึงที่ด่าน ตำรวจขอตรวจตามปกติและพูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ แต่หญิงสาวคนดังกล่าวมีอาการมึนเมาพูดคุยเสียงดัง
ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า จะเอาผิดตำรวจที่ปล่อยตัวกลุ่มของดาราไต้หวันทั้งที่ไม่มีวีซ่า พกบุหรี่ไฟฟ้า
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่ามีการตั้งด่านจริง บริเวณหน้าสถานทูตจีน ในเหตุการณ์นั้นเจ้าหน้าที่พบนักท่องเที่ยวต่างชาติพกบุหรี่ไฟฟ้า เจ้าหน้าที่จึงแจ้งว่าผิดกฎหมาย แต่คุยไม่เข้าใจภาษา เพราะพูดภาษาจีน และมีการอัดเสียงไว้ แต่ยังหาไม่เจอ
อันหยูชิงโพสต์ผ่านอินสตาแกรมสตอรี เป็นภาพข่าวของตัวเอง พร้อมยืนยันว่า ‘เธอไม่ได้ดื่มเลย’ และชี้แจงเป็นข้อความภาษาจีนว่า “ฉันจะบอกทุกคน หลังจากที่ฉันได้คุยกับตำรวจอินเตอร์โพลเสร็จแล้ว ตอนนี้ตำรวจไทยที่ไม่ใสสะอาดต้องการใช้ฉันเพื่อให้พวกเขาบริสุทธิ์ เพราะมันขัดผลประโยชน์ของพวกเขา? เลิกพูดจาไร้สาระเถอะ!”
ภาพที่ 2 เป็นข้อความภาษาจีน มีเนื้อหาใจความว่า “วันนั้นถนน 4 เลนถูกปิดหมด และไม่ได้มีแค่ตำรวจแค่ 7 นาย ฉันจำคนที่รีดเงินฉันได้ชัดเจน เขาบอกเหรอว่าไม่มีการสุ่มตรวจในวันนั้น แล้วก็ไม่ได้เอาเงินไป? แล้วทำไมถึงไม่เอาภาพจากกล้อง CCTV มาเปิดให้ดูล่ะ? แล้วก็ยังมาพูดจาไร้สาระแบบนี้ เอาฉันมาเป็นเป้าแบบนี้ แล้วก็ยัดของกลางใส่ฉัน? ฉันรู้สึกถูกคุกคามนิดหน่อยนะ เพราะมีคนที่อ้างว่าตัวเองเป็นตำรวจหลายคนมากมาติดต่อ ฉันก็เลยหัวเสียนิดหน่อย”
- 28 มกราคม 2566
อันหยูชิงโพสต์ผ่านอินสตาแกรมสตอรี 2 ภาพ ภาพแรกเป็นอักษรภาษาจีน 重大公报 ที่แปลว่า ประกาศสำคัญ และภาพที่สองเป็นภาพอักษรภาษาอังกฤษ ANNOUNCEMENT
ข้อความบนโพสต์ทั้งสองระบุว่า “ยิ่งดูก็ยิ่งชั่ว ยิ่งบิดเบือน ขอขอบคุณอย่างจริงใจต่อสื่อและทุกๆ คนที่สนใจ ฉันกำลังจะให้สัมภาษณ์สื่อครั้งสุดท้าย จะแบ่งปันรายละเอียดประสบการณ์ที่สุดแสนเจ็บปวดและสร้างแผลใจที่พบเจอในไทยเป็นครั้งสุดท้าย”
- 29 มกราคม 2566
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ สั่งการมายังกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลเข้ามาร่วมคลี่คลายคดี ประสานไปยังตำรวจกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อที่จะติดต่อประสานไปยังอันหยูชิง พร้อมเพื่อนรวม 4 คน เพื่อให้ปากคำอย่างเป็นทางการ
พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า สอบปากคำพยานไปแล้วกว่า 10 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำด่านตรวจ 6-7 คน, คนขับรถรับจ้าง, คนขับรถแท็กซี่ และพยานจากสถานบันเทิง เบื้องต้นยังไม่พบหลักฐานว่ามีการเรียกรับเงินตามถูกกล่าวอ้าง ทั้งนี้ กล้องหน้ารถของคนขับ Grab ไม่สามารถกู้ไฟล์ภาพวิดีโอได้ เนื่องจากระยะเวลาผ่านเลยมานานกว่า 20 วัน
โดยผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว และการตรวจค้นพบบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ยืนยันสามารถดำเนินคดีได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ยืนยันว่าไม่มีใครยื่นบุหรี่ไฟฟ้าให้สาวชาวไต้หวันตามที่กล่าวอ้าง
- 30 มกราคม 2566
บช.น. เผยแพร่ใบแถลงข่าวกรณีดังกล่าวระบุว่า มีการตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าสถานทูตจีนจริง และปรากฏภาพนักท่องเที่ยวครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า หรือบารากู่ไฟฟ้า ตำรวจในขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพบเห็นวัตถุดังกล่าวไม่ได้ตรวจยึดเป็นของกลางเพื่อส่งตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ให้นักท่องเที่ยวที่ครอบครองออกเดินทางจากจุดตรวจดังกล่าวไปเพราะวัตถุต้องสงสัย ซึ่งกรณีนี้เบื้องต้นเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ส่วนประเด็นการรีดเงินนักท่องเที่ยว ทาง บช.น. อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานที่ชัดเจน ขณะนี้มีแนวทางการสืบสวนสอดคล้องกับกระแสดังกล่าว (ตำรวจรีดไถเงิน) อยู่ระหว่างติดตามพยานมายืนยันการกระทำความผิดและจำนวนเงินที่ส่งมอบดังกล่าว ใครเป็นผู้มอบสินบนให้เจ้าพนักงานเพื่อปล่อยตัวนักท่องเที่ยว
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเคลื่อนไหว เปิดเผยข้อมูลว่า ตำรวจ สน.ห้วยขวาง รีดไถเงินดาราสาวไต้หวันจริง ยืนยันจากพยานที่เป็นคนจ่ายเงิน 27,000 บาท พร้อมระบุว่า มีการสั่งลบคลิปที่หน้าสถานทูตจีน และลบคลิปจากกล้องที่ติดอยู่หน้าหมวกของตำรวจที่ด่าน เจรจาให้คนขับ Grab ยืนยันว่าดาราสาวไต้หวันเมา
นอกจากนี้ ชูวิทย์ได้ขอโทษอันหยูชิงในนามคนไทย ที่ทำให้เกิดเรื่องที่ทำลายภาพลักษณ์ประเทศไทย พร้อมเชิญพยานที่พูดคุยเดินทางมาที่ประเทศไทย และยินดีที่จะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด โดยเบื้องต้นพยานรายนี้ยังไม่รับปาก พร้อมกล่าวว่า “คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่อันตราย”
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ สั่งการด่วนให้ ผบช.น. สั่ง พ.ต.อ. ยิ่งยศ สุวรรณโณ ผู้กำกับการ สน.ห้วยขวาง ช่วยราชการ หลังจากมีข้อมูลว่ามีตำรวจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกรณีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกเรียกรับเงิน พร้อมกำชับ ผบช.น. ดำเนินการตั้งกรรมการวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญาในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำความผิดในเหตุดังกล่าวทุกรายอย่างเด็ดขาด มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง
- 31 มกราคม 2566
อันหยูชิงแชร์โพสต์ของชูวิทย์ พร้อมเขียนข้อความระบุว่า “Thank you ขอบคุณค่ะ” พร้อมอีโมจิยกมือไหว้ รวมทั้งบนเฟซบุ๊กของชูวิทย์เธอคอมเมนต์ระบุว่า “Thank You ขอบคุณค่ะ”
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ระบุว่า พยานอยู่ระหว่างการประสานงานที่จะนำมาสอบสวน หากไม่สะดวกยินดีส่งตำรวจไปสอบสวนเพื่อให้รู้ความจริงทุกอย่างให้ได้ เพื่อให้ปรากฏให้ชัดเจนว่าใครผิดบ้าง ใครบกพร่องบ้าง
“อยากให้ความเชื่อมั่นว่า ในเรื่องต่างๆ เราในฐานะผู้รักษากฎหมาย ถ้าเกิดตำรวจผู้รักษากฎหมายทำผิดก็ต้องลงโทษอย่างจริงจัง และตำรวจดีๆ ยังมีอีกเยอะ…ใครไม่ดีเราก็ว่ากันไป ผมยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด และเน้นว่าเราเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก กำชับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจพื้นที่ จะต้องดูแลนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความบกพร่องอะไรไป ผมในฐานะหัวหน้าหน่วยก็ต้องขอโทษผู้ที่ได้รับความเสียหายในเรื่องนี้กับเรื่องที่เกิดขึ้น”
พล.ต.ต. อัฎธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ระบุว่า สอบปากคำตำรวจทั้ง 14 นายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งด่านในวันเกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 7 นาย ซึ่งกลุ่มแรกเป็นฝั่งกลุ่มริมถนนหน้าสถานทูตจีน จำนวน 7 นาย และอีกกลุ่มอยู่ฝั่งเกาะกลางถนน จำนวน 7 นาย
กลุ่มที่อยู่ด้านหน้าสถานทูตจีนใกล้ชิดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวมากที่สุด เบื้องต้นจากการสอบปากคำตำรวจทั้งหมดยังให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าถ่ายรูปบุหรี่ไฟฟ้าของนักท่องเที่ยวจริง และไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา
จากการพิจารณาล่าสุด ให้ตำรวจทั้ง 14 นาย หยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และ 7 ใน 14 นายฝั่งสถานทูตจีนมาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) พร้อมทั้งเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการสอบเค้นพิเศษ