มาม่ารุกคืบสู่ธุรกิจร้านอาหาร เปิดตัวโมเดล MAMA Station ยกสารพัดเมนู เริ่มต้น 60 บาท หวังสร้าง Brand Awareness ให้กับแบรนด์ ย้ำใช้เวลา 6 เดือนปรับสูตร-ทดลองตลาด ก่อนขายแฟรนไชส์ หนุนผู้ประกอบการรายย่อย
หลังประเดิมโชว์โมเดล MAMA Shop ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบร้านจำหน่ายเมนูจากผลิตภัณฑ์มาม่า ที่จับคู่มาพร้อมวัตถุดิบต่างๆ ถือเป็นการต่อยอดมาจากไอเดียร้านอาหารชื่อดัง ทำให้ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี
กระทั่งล่าสุดได้ต่อยอดมาเป็นแบรนด์ MAMA Station ถือเป็นการรุกคืบสู่ธุรกิจร้านอาหาร เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้กับแบรนด์มาม่า แม้อาจเป็นเจ้าตลาดอันดับหนึ่ง แต่ต้องสร้างแบรนด์ไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ถูกดิสรัปชันจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 7 บาทอาจไม่พอ! ‘มาม่า’ เล็งขึ้นราคาในรอบ 10 กว่าปี หลังต้นทุนหลักทั้งน้ำมันปาล์มและแป้งสาลีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40%
- ‘มาม่า’ แก้เกมขึ้นราคาไม่ได้ ออกสูตรลดโซเดียม ขาย ‘8 บาท’ เริ่ม ส.ค. นี้ พร้อมส่งโมเดลใหม่ MAMA Shop เจาะปั๊มน้ำมัน เริ่มปี 2566
- ‘พาณิชย์’ ไฟเขียว ‘มาม่า-ไวไว-ยำยำ’ ขยับราคาขายปลีกเป็น 7 บาท
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มาม่าได้จับมือกับพาร์ตเนอร์เปิดร้านภายใต้โมเดล MAMA Station ไปแล้ว 2 สาขา ได้แก่ ลาดพร้าวและเพชรเกษม ในรูปแบบร้านอาหารนั่งกิน 20-30 ที่นั่ง
โดยเมนูหลักๆ มาจากผลิตภัณฑ์มาม่ารสชาติต่างๆ เสริมด้วยท็อปปิ้งวัตถุดิบให้ผู้บริโภคเลือกใส่ ราคาเริ่มต้น 60-100 บาท ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“ต้องยอมรับว่าระยะแรกเราเริ่มจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนใกล้ตัวก่อน เพราะการลงทุนเปิดร้านย่อมมีทั้งความเหนื่อยและความเสี่ยง ที่สำคัญต้องมีความสนใจและมีงบพร้อมลงทุน เพราะเจ้าของร้านต้องลงทุนเองทั้งหมด ขณะที่มาม่าจะทำสัญญาให้ใช้แบรนด์เข้ามาเป็นส่วนประกอบภายในร้านอาหาร”
ทั้งนี้ MAMA Station ในแต่ละสาขาจะมีสูตรและเมนูที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเจ้าของร้าน ยิ่งไปกว่านั้นร้านสามารถตกแต่งและนำไอเดียที่ต้องการเข้ามาสร้างจุดขายในร้านได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ทุกสาขาต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนความปลอดภัยของอาหารที่ต้องสะอาดและรสชาติต้องอร่อย
สำหรับแผนการดำเนินงานของโมเดลดังกล่าว จากนี้เตรียมเปิดร้านใหม่ประมาณ 5-6 สาขา โฟกัสไปในทำเลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงหน้าโรงเรียน สวนสนุก และย่านสถานบันเทิง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวกและรวดเร็ว
หากเจาะลึกไปถึงการลงทุนหรือความคุ้มทุนยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยประเมินว่า ความจุร้านในพื้นที่ตึก 2 คูหา แนวโน้มการขายต่อวันอาจอยู่ราวๆ 150-200 ชาม ราคา 70 บาทต่อชาม คาดว่าจะมีรายได้ 10,000 บาทต่อวัน หรือ 300,000 บาทต่อเดือน โดยกำไรร้านอาหารหลังหักค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจเหลือกำไรประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน โดยคาดว่าต้องใช้เวลา 7-8 เดือนในการคืนทุน
ขณะนี้มีผู้คนสนใจแฟรนไชส์ติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งต้องบอกว่ายังอยู่ในช่วงทดลองตลาด เพราะเราไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจร้านอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นร้านแฟรนไชส์ในอนาคตจะต้องมีสูตร เมนู และระบบการจัดการ ที่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
“ดังนั้นจึงต้องเก็บข้อมูล Data หาเมนูที่ขายดีที่สุด คนสั่งซ้ำมากที่สุด ควบคู่กับการวิเคราะห์ต้นทุน รายได้ กำไร และค่าเช่าในพื้นที่ต่างๆ ว่ามีโอกาสทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหน และต้องใช้งบลงทุนไม่สูงมากจนเกินไป”
ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปสู่การขยายสาขาแฟรนไชส์ในอนาคต คาดว่าต้องใช้เวลากว่า 6-7 เดือน ที่สำคัญผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนจะต้องอยู่รอดและสามารถสร้างยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายได้