‘MBK’ ภายใต้การนำทัพของซีอีโอคนใหม่ สานต่อธุรกิจหาโอกาสสร้างการเติบโต เผยปี 2566 ทุ่มงบ 2,000 ล้าน ขยายธุรกิจในเครือ ย้ำยังต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง-รักษาสภาพคล่อง พร้อมดันบริษัทในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
สุเวทย์ ธีรวชิรกุล กรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็ม บี เค หรือ MBK กล่าวว่า องค์กรได้รับบทเรียนจากวิกฤตโควิดอย่างมาก โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนความไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดการณ์เป้าหมายระยะยาวได้
และแม้โควิดคลี่คลายลง แต่ต้องปรับตัวและดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้บริษัทเดินหน้าไปต่อได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ในวิกฤต สร้างโอกาส’ 36 ปี MBK Center ภาพสะท้อนห้างไทยฝ่ามรสุมโควิด-19
- MBK มีนโยบายตรึงส่วนลดค่าเช่า 30-70% ช่วยร้านค้า ส่วนร้านแฟชั่นไม่เก็บเลย
- เปิดเบื้องหลังการ ‘ปิดฉาก 35 ปี’ ของห้างโตคิว MBK และการเข้ามาของ ‘ดองกิ’ สาขาใหญ่สุดในไทย เป็นแห่งแรกที่ติด BTS
หากย้อนไปในช่วง 2-3 ปีที่โควิดระบาดหนัก ศูนย์การค้า MBK ได้ปรับกลยุทธ์หันมาเน้นจับกลุ่มลูกค้าคนไทย จากเดิมที่มีลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก โดยได้ปรับโฉมศูนย์ เติมร้านอาหารและกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มคนไทย พร้อมหามาตรการช่วยเหลือผู้เช่า กระทั่งปัจจุบันเมื่อทุกอย่างดีขึ้น ลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติเริ่มกลับมา มีทราฟฟิกอยู่ราวๆ 8 หมื่นคนต่อวัน โดยสัดส่วนคนไทยมากกว่า 15%
ขณะที่ธุรกิจโรงแรมใช้โอกาสรีโนเวตโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ทั้ง 3 เฟส เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่กลางปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียกับตะวันออกกลาง มีอัตราเข้าพักประมาณ 90%
MBK ภายใต้การนำทัพของซีอีโอคนใหม่
สุเวทย์เล่าต่อไปว่า ตัวเองดำรงตำแหน่งซีอีโอของ MBK มากว่า 20 ปี ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กร สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริหารคน เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจค่อยๆ เติบโตขึ้น จากจุดเริ่มต้นที่มีทรัพย์สินมูลค่า 2,000 ล้านบาท ขึ้นมาถึง 5.6 หมื่นล้านบาท
ต่อจากนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้การนำทัพของ ‘วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช’ ที่บริษัทได้ประกาศแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ 1 กลุ่มบริษัทเอ็ม บี เค
โดยซีอีโอคนใหม่จะเข้ามาสานต่อยุทธศาสตร์ของ MBK ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสานต่อวิสัยทัศน์ของกลุ่มธุรกิจในเครือ ผ่านการมองหาโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางการแข่งขันและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง
ปรับโครงสร้างธุรกิจ นำบริษัทลูกเข้าตลาดหลักทรัพย์
รวมถึงการวางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยจัดตั้งบริษัทย่อยตามกลุ่มธุรกิจและให้ MBK เป็นโฮลดิ้งคอมพานี โดยปัจจุบันบริษัทมี 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ศูนย์การค้า โรงแรมและการท่องเที่ยว กอล์ฟ อสังหาริมทรัพย์ อาหาร การเงิน การประมูล และศูนย์สนับสนุนองค์กร
และในอนาคตอาจนำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทุ่ม 2,000 ล้าน ขยายธุรกิจในเครือ
ด้าน วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ กล่าวต่อถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานในปี 2566 โดยปัจจุบันบริษัทมีเงินลงทุนที่ได้มาจากกระแสเงินสดหมุนเวียนอยู่ 4,000 ล้านบาท
ในปี 2566 ได้วางงบประมาณไว้ที่ 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจในเครือ เริ่มจากกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า ได้วางแผนปรับโฉมพาราไดซ์ พาร์ค ครั้งใหญ่ในรอบ 13 ปี หลังจากต่อสัญญาเช่าที่ดินยาวไปถึง 20 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 โดยได้เพิ่มการให้บริการด้านสุขภาพเข้ามารองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะสูงวัย ส่วนศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้ปรับพื้นที่และเพิ่มร้านค้าใหม่ๆ และปีนี้ยังคงเดินหน้าเปิดตัวพันธมิตรรายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม
พร้อมกับลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงแรม บริษัทมองหาโอกาสการขยายธุรกิจ ทั้งรูปแบบของ Business Partner และการรับบริหารโรงแรม เช่น โรงแรมทินิดี โฮเต็ล บางกอก กอล์ฟ คลับ และโรงแรมทินิดี กอล์ฟ รีสอร์ท ภูเก็ต โดยได้หันมาให้ความสำคัญกับการจับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักระยะยาวมากขึ้น
แต่ธุรกิจโรงแรมยังต้องเจอปัญหาขาดแคลนพนักงาน ทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ต จากเดิมปกติแล้วโรงแรมจะใช้พนักงานประมาณ 300 คน แต่ปทุมวัน ปริ๊นเซส ขณะนี้มี 200 คน จึงต้องหันมาใช้เอาต์ซอร์ซ และเปลี่ยนมาจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น
สานต่อ Big Project กวาดลูกค้ารอบทิศ
เช่นเดียวกับ Big Project บนพื้นที่ 1,500 ไร่ในโครงการ Riverdale District ในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการเชื่อมธุรกิจในเครือไว้ในที่เดียว ซึ่งภายในประกอบด้วย โครงการที่พักอาศัย รวมถึงสนามกอล์ฟและโรงแรม ล่าสุดที่เพิ่งลงทุนไปในปีที่ผ่านมา ริเวอร์เดล มารีน่า ท่าเรือระดับ A-Class โดยมีเป้าหมายเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ
ตามด้วยธุรกิจข้าวถุงแบรนด์มาบุญครอง ได้วางแผนขยายตลาดส่งออกในประเทศใหม่ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ออสเตรเลีย และยุโรป
ในส่วนของธุรกิจผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ อย่าง ที ลีสซิ่ง ได้เร่งขยายตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โฟกัสจังหวัดที่มีขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูง พร้อมนำดาต้าเข้ามาพิจารณาการให้สินเชื่อมากขึ้น และภายในปี 2566 เตรียมขยายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาเพิ่มพอร์ตธุรกิจ
การลงทุนใหม่จะค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 กลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,431 ล้านบาท จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกของธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว แต่หลังจากนี้การขยายการลงทุนใหม่ๆ จะต้องเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะธุรกิจยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน