สำนักข่าว AP รายงานว่า ทางสหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงจุดยืนเดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานสะอาดภายในภูมิภาค ด้วยการเปิดเผยสรุปร่างแผนสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งไม่เพียงจะตอบโจทย์ความต้องการพลังงานในอนาคตของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางสำคัญในการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร รวมถึงเป็นหลักประกันความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของ EU ท่ามกลางความท้าทายจากสหรัฐฯ กับจีน ที่ EU กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอโครงร่างสำหรับ ‘แผนอุตสาหกรรมข้อตกลงสีเขียว’ ซึ่งจะทำให้การผลักดันผ่านการอุดหนุนสำหรับอุตสาหกรรมสีเขียวและโครงการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั่วทั้งสหภาพยุโรปได้รับการสนับสนุนด้วยเงินทุนจำนวนมากได้ง่ายขึ้น ตลอดจนช่วยผลักดันให้ EU บรรลุเป้าหมายสู่ชาติเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ตามที่ได้ลั่นวาจาไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า EU เห็นช่องในการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นผู้นำก่อนที่ระบบเศรษฐกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะล้าสมัย
รายงานระบุว่า Von der Leyen ใช้สุนทรพจน์ที่ World Economic Forum ในเมือง Davos เพื่อกล่าวว่า นอกเหนือจากการเลี้ยงดูอุตสาหกรรมของตนเอง กลุ่มประเทศ 27 ชาติจะมีพลังมากขึ้นในการต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม เพื่อต่อกรกับสหรัฐฯ และจีน
โดยท่าทีดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่ EU กำลังพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนับตั้งแต่สงครามในยูเครนเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สหภาพยุโรปก็ตระหนักอีกเช่นกันว่า EU ไม่ต้องการพึ่งพาจีนในเรื่องวัสดุหายาก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาแบตเตอรี่ แหล่งกักเก็บ ไฮโดรเจน และพลังงานลม เช่นกัน
ทั้งนี้ แม้จะแสดงความไม่พอใจสหรัฐฯ กับจีน แต่ Von der Leyen กลับตำหนิจีนอย่างหนัก และย้ำถึงความร่วมมือกับสหรัฐฯ ที่ EU กับสหรัฐฯ จำเป็นต้องยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันเพื่อต่อต้านรัสเซีย
ร่างแผนการดังกล่าวของ Von der Leyen จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการอภิปรายระหว่างประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ก่อนที่ผู้นำทั้ง 27 ชาติสมาชิกจะพบกันในการประชุมสุดยอดในวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนด้านพลังงาน
รายงานระบุว่า เพื่อทำให้แผนการดังกล่าวกลายเป็นจริง สหภาพยุโรปจำเป็นต้องหาสมดุลในความสามารถของผู้นำทางเศรษฐกิจ เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศสจะกระจายความช่วยเหลือจากรัฐ และในอีกด้านหนึ่งจะให้เงินสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกขนาดเล็กซึ่งไม่มีอำนาจการยิงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางประธานคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ได้มีการกล่าวถึงรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจง
ขณะเดียวกัน Mario Centeno ประธานธนาคารกลางโปรตุเกส ได้ออกมาแสดงความเห็นคาดการณ์ว่า ทางธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB น่าจะจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2-3 ครั้งในการประชุมของธนาคารกลางยุโรปอีก 2-3 ครั้งที่จะมีขึ้นในปีนี้
โดยความเห็นดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่มีข้อมูลรายงานแสดงให้เห็นการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป แม้ว่าจะยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ ECB โดยเบื้องต้น อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 9.2% ถือเป็นการปรับตัวลดลงของราคาเป็นเดือนที่สองติดต่อกันทั่วทั้งยูโรโซน
ทั้งนี้ ในปี 2022 ธนาคารกลางยุโรปได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีของ EU เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% โดย ECB กล่าวในเดือนธันวาคมว่า จะเดินหน้าปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2023 แม้จะเห็นสัญญาณเงินเฟ้อชะลอตัวแล้วก็ตาม เพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ทุกเมื่อ
ท่าทีของ ECB ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเตือนให้ ECB ใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มาก เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาค
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/russia-ukraine-technology-politics-ursula-von-der-leyen-china-8e1697dc80ef209ae913fafc0854a91f
- https://www.cnbc.com/2023/01/17/davos-2023-ecb-member-mario-centeno-says-more-rate-hikes-to-come.html