RS ฟื้นคืนชีพธุรกิจเพลงอีกครั้งในรอบ 15 ปี จับมือพาร์ตเนอร์นำศิลปินเก่ากลับมาทำเพลงใหม่ พร้อมปั้นศิลปินหน้าใหม่จับทุกเจเนอเรชัน ก่อนเดินหน้าปรับองค์กรสู่ Life Enriching ดันธุรกิจในเครือเข้าตลาดหุ้น อัปมาร์เก็ตแคปแตะแสนล้านภายใน 3 ปี
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา RS Group ได้ทรานส์ฟอร์มและรีแบรนด์องค์กร สร้างความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลธุรกิจ Entertainmerce ซึ่งปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจต้องเผชิญกับวิกฤตโควิดและภาวะเศรษฐกิจที่เข้ามารุมเร้า ทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย RS ปรับตัว เพิ่มความยืดหยุ่น และหาโอกาสให้กับธุรกิจเดิมที่มีอยู่และธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เฮียฮ้อ ‘ไม่ตอบรับ’ หรือ ‘ปฏิเสธ’ กรณีมีข่าว RS จะใช้เงิน 900 ล้านบาท เข้าซื้อธุรกิจขายตรงของยูนิลีเวอร์
- เปิดพอร์ต เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ และ ‘สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ หลังเข้าถือหุ้น GIFT
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้นคีย์สำคัญในการทำธุรกิจให้สำเร็จคือ ต้องรอเวลาที่เหมาะสม โดยในปี 2566 นับเป็นปีที่สำคัญที่สุดของ RS Group ตั้งแต่ก่อตั้งมา และแม้โควิดจะคลี่คลายลง แต่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นในปี 2566 บริษัทจึงตั้งเป้าเป็น Life Enriching เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของลูกค้าผ่านทุกธุรกิจในเครือ รวมไปถึงการขยายธุรกิจใหม่ๆ ตามเทรนด์ที่กำลังมาแรง ซึ่งจะเป็นการสร้าง Ecosystem ให้กับองค์กร
สำหรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานต่อจากนี้ไป จะมุ่งเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
- RS Multimedia
- RS Music
- RS LiveWell
- RS Connect
- RS Pet All
- R Alliance
โฟกัสการเจาะตลาด Mass และเพิ่ม Accessibility การเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น
หากเจาะลึงลงมาถึง RS Multimedia ช่อง 8 และ COOLfahrenheit จะเน้นพัฒนาคอนเทนต์ให้หลากหลาย ออนแอร์ผ่านช่องทางออนไลน์และออนกราวด์ เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น
รวมถึง RS Music ที่มีค่ายเพลง RSIAM, kamikaze, RoseSound และบริษัท โฟร์ท แอปเปิ้ล เตรียมจับมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ลุยธุรกิจเพลง ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1 ปีนี้
สุรชัยเล่าต่อไปว่า ในอดีตธุรกิจเพลงเคยสร้างรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท หลักๆ มาจากการขายแผ่นซีดี แต่ธุรกิจได้ถูกดิสรัปต์จากดิจิทัล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถึงขั้นเลวร้ายสุดคือช่วงที่ตัดสินใจขายโรงงานซีดีทิ้ง และเป็นช่วงที่ RS ขาดทุนเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ทำให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวรับมือและทรานส์ฟอร์มธุรกิจ หลังจากนั้น RS ก็ทำธุรกิจหลายอย่างมาก
กระทั่งวันนี้ถึงเวลาที่เราจะกลับมาลุยธุรกิจเพลงอย่างครบวงจรอีกครั้ง หลังลดความสำคัญไปเมื่อ 15 ปีก่อน จุดเริ่มต้นมาจากการมองเห็นโอกาสและการเติบโตของตลาดดิจิทัล และแพลตฟอร์ม YouTube และ Instagram รวมถึงไลฟ์สตรีมมิงที่กำลังมาแรง
โดยการกลับมาทำเพลงในรอบนี้อยู่ภายใต้ 2 โปรเจกต์ แบ่งเป็น RS Homecoming นำศิลปิน RS รุ่นเก่ากลับมาสร้างผลงานใหม่ และ RS Newcomers ปั้นศิลปินหน้าใหม่เข้ามาตอบโจทย์กลุ่ม Gen X, Y และ Z
ที่สำคัญมองว่า RS มีจุดแข็งจากการรวมประสบการณ์ที่สะสมไว้ ทั้งศิลปินกว่า 300-400 ชีวิต ผลงานเพลงกว่า 20,000 เพลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและเข้ามาช่วยเสริมสร้างรายได้
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เพื่อให้มีความพร้อม Spin-Off บริษัททั้ง 5 กลุ่ม ไม่รวม R Alliance ที่เป็นธุรกิจด้านการลงทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ภาย 3 ปี เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต อันดับแรกคือ บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย (CHASE) จะเข้าจดทะเบียนในไตรมาส 1 ปี 2566 เลื่อนจากแผนเดิมในไตรมาส 4 ปี 2565 จากนั้นจะนำบริษัท อาร์เอส- ยูไลฟ์ จำกัด ธุรกิจขายตรงในกลุ่มธุรกิจ RS Connect เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นรายต่อไป โดยแต่งตั้งบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ตามมาด้วย RS LiveWell และ RS Music เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจะแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินภายในปี 2566
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเป้าหมายสร้างรายได้รวม 5,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธุรกิจ Commerce 3,100 ล้านบาท และธุรกิจ Media & Entertainment 2,400 ล้านบาท โดยเป้าหมายที่ใหญ่ไปกว่านั้นคือ บริษัทต้องการให้มาร์เก็ตแคปสูงขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท และสร้างการเติบโต 20-30% ต่อปีภายใน 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันหุ้น RS มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1.63 หมื่นล้านบาท
ด้านธุรกิจด้านการลงทุน บริษัท อาร์ อัลไลแอนซ์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นใน CHASE บริษัทบริหารหนี้สินครบวงจร ในปีนี้ CHASE พร้อมแล้วที่จะ IPO อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรหลายราย ทั้งในรูปแบบของควบรวมกิจการ (M&A) และร่วมมือกับพันธมิตร (JV) คาดว่าปีนี้จะมีความชัดเจน 2-3 ดีล พร้อมวางงบลงทุนประมาณ 300-600 ล้านบาทต่อดีล