IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจฉุด GDP โลกมากถึง 7% ชี้ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีรายได้น้อย มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงมากที่สุด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในรายงานฉบับใหม่ว่า การแบ่งแยกส่วนอย่างรุนแรง (Severe Fragmentation) ของเศรษฐกิจโลก อาจฉุด GDP โลกมากถึง 7% โดยความเสียหายในบางประเทศอาจสูงถึง 8-12% หากเกิดการแยกตัวทางเทคโนโลยี (Technological Decoupling) ขณะที่การแบ่งแยกส่วนอย่างจำกัด (Limited Fragmentation) ก็สามารถฉุดเศรษฐกิจโลกลงได้ถึง 0.2% ของ GDP
รายงานฉบับนี้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 มกราคม) ยังระบุว่า การระบาดใหญ่ของโควิดและสงครามในยูเครน นับเป็นบททดสอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเพิ่มความกังขาเกี่ยวกับประโยชน์ของโลกาภิวัตน์
IMF ยังพบว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นได้ส่งผลให้ความยากจนทั่วโลกลดลงอย่างมาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยในประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย เนื่องจากต้นทุนราคาที่ถูกลง
ดังนั้นในทางกลับกัน หากความเชื่อมโยงทางการค้าลดลงก็จะส่งผลกระทบในทางลบมากที่สุด ทั้งต่อประเทศที่มีรายได้น้อยและผู้บริโภคที่มีฐานะยากจนในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ ข้อจำกัดในการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนก็จะทำให้เศรษฐกิจประเทศเจ้าบ้านขาดทักษะอันมีค่า ขณะเดียวกันก็ลดการส่งเงินกลับไปยังประเทศของผู้อพยพย้ายถิ่นด้วย โดยการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ลดลงก็อาจจะลดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วย ขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลงก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการจัดหาสินค้าที่สำคัญทั่วโลก
IMF กล่าวอีกว่า การศึกษาที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งการแบ่งแยกส่วน (Fragmentation) ลึกลงเท่าใด ต้นทุนต่างๆ ก็จะยิ่งลึกมากขึ้นเท่านั้น ขณะที่การแยกตัวทางเทคโนโลยีก็จะลึกขึ้นจากข้อจำกัดทางการค้าอย่างมีนัยสำคัญ
โดย IMF ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงมากที่สุด หากเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปสู่ ‘ภูมิภาคาภิวัตน์ทางการเงิน’ (Financial Regionalization) และระบบการชำระเงินทั่วโลกแยกส่วนมากขึ้น
นอกจากนี้ยังอาจทำให้ความสามารถของประชาคมโลกในการสนับสนุนประเทศต่างๆ ในภาวะวิกฤตอ่อนแอลง และทำให้การแก้ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในอนาคตซับซ้อนขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
อ้างอิง: