คดีสำคัญที่ถูกจับตาจากสังคมเวลานี้ คงหนีไม่พ้นกรณีการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกรวม 4 คน ได้เข้าลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี มีการตรวจพบซากเสือดำ ซากไก่ฟ้าหลังเทา ซากเก้ง และเครื่องกระสุนจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา
อีกไม่กี่วันก็จะครบ 1 เดือนแล้วสำหรับการดำเนินคดีนี้ แม้จะมีการรายงานข่าวรายวัน จากสื่อหลายสำนักที่เกาะติดอยู่ก็ตาม ภายใต้ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกลับพบว่า การดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาดูจะไม่คืบหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็น มีพิรุธที่ถูกตั้งข้อสังเกตทั้งจากฝ่ายนักอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา รวมถึงจากภาคส่วนต่างๆ
THE STANDARD อาสาพาไปทบทวนสถานะของคดี ณ ปัจจุบันว่า มีความคืบหน้าไปอย่างไร รวมถึงเสียกเรียกร้องจากผู้ห่วงใยที่ต้องการเห็นคนผิดในคดีได้รับโทษที่สาสมตามกฎหมาย
คดีเปรมชัย เข้าป่าล่าสัตว์ จนถึงปัจจุบัน
หลังการจับกุมนายเปรมชัย และพวกรวม 4 คน เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ปลุกกระแสการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติครั้งใหญ่ พร้อมๆ กับการจับตาว่าคดีนี้ผู้ต้องหาเป็นถึงนายทุนใหญ่ของประเทศ ผลลัพธ์ของคดีท้ายที่สุดแล้วกระบวนการยุติธรรมจะสามารถเอาผิดเขาได้ขนาดไหน ภายใต้ความรู้สึกคนรวย คนจน ที่เหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมมานานในสังคมไทย
นายเปรมชัยและพวกถูกตั้งข้อหาในความผิดจากกรณีนี้รวมแล้ว 9 คดี คือ
- ความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
- ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
- ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครอง ซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
- ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
- ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
- ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490
- ฐานนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ฐานซ่อนเร้น อำพราง รับไว้ซึ่งซากสัตว์ซึ่งได้มาโดยผิดกฎหมาย
- พ.ร.บ.อาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน
ในส่วนของข้อหา ‘ทารุณกรรมสัตว์’ ที่ถูกตั้งเป็นข้อหาที่ 10 ในการกระทำความผิด โดยเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีการออกหมายเรียกให้นายเปรมชัยและพวกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้วถึงสองครั้ง ปรากฏว่าในเวลาต่อมา ได้มีการถอนแจ้งความเมื่อวันที่ 21 ก.พ. เนื่องจากพิจารณานิยามคำว่า ‘สัตว์’ แล้วพบว่าไม่เข้าตามคำนิยามของตาม พ.ร.บ.การทารุณกรรมสัตว์
ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหานายเปรมชัยจึงยังเป็น 9 ข้อกล่าวหาเหมือนเดิม
ขณะที่ข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงาน กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ซึ่งได้มีการเรียก นายวิเชียร ชิณวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เข้าให้ปากคำกรณีดังกล่าวในวันที่ 8 มี.ค. นี้
ส่วนนายเปรมชัยและพวก หลังถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตั้งข้อหา และนำตัวฝากขังผัดฟ้อง ก่อนได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาล ในวงเงินประกันคนละ 1.5 แสนบาท มีกำหนดต้องรายงานตัวครั้งแรกในวันที่ 26 มี.ค. ขณะที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกนายเปรมชัย ให้มาพบที่ สภ.ทองผาภูมิ ในวันที่ 5 มี.ค. นี้ หากไม่มาจะขอให้ศาลออกหมายจับต่อไป
ผลสะเทือนจากคดีการเข้าป่าล่าสัตว์ของนายเปรมชัย ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการดำเนินคดีในเรื่องนี้ หากแต่มีผลพวงคดีอื่นๆ ตามมาจากการเข้าตรวจสอบความผิดในบ้านพักและที่ดินของนายเปรมชัย ที่ อ.ภูเรือ จ.เลย ด้วย
โดยตรวจพบอาวุธปืน 43 กระบอกมีไรเฟิลติดลำกล้อง สั่งอายัดอาวุธปืนทั้งหมดตรวจสอบทะเบียนการครอบครอง รวมถึงตรวจหา DNA ลายนิ้วมือ ต่อมาจากการตรวจสอบพบว่าปืนจำนวน 6 กระบอก ไม่มีการครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้มีการสั่งให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแล้ว และพบงาช้าง 4 กิ่ง ขณะนี้ส่งให้กรมอุทยานตรวจหลักฐานการครอบครอง ซึ่งจะสรุปผลในวันที่ 10 มี.ค. หากพบว่าผิดกฎหมายจะดำเนินคดีทันที
ขณะที่คดีเกี่ยวกับที่ดินที่ จ.เลย ได้มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีฐานครอบครองที่ดินโดยมิชอบและบุกรุกป่า โดยแจ้งความดำเนินคดีกับ บริษัท ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีนายเปรมชัยเป็นกรรมการร่วมกับพี่สาวอีก 3 คน
จับตาพิรุธคดีเปรมชัย
1. เข้าป่าครั้งแรก: หลังการจับกุม นายเปรมชัยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ตนเองเพิ่งเข้าป่าครั้งแรกเพื่อศึกษาธรรมชาติ ขณะที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพจากสมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง พบว่าเป็นหนึ่งในคนสนิทของนายเปรมชัย ซึ่งได้ถ่ายภาพคณะของนายเปรมชัย ได้ทำการตั้งเต็นท์อยู่ในป่าเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ขณะที่เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวยังได้เขียนข้อความโต้ตอบในความคิดเห็นหนึ่งโดยระบุช่องคอมเมนต์ว่า “เที่ยวป่าล่าสัตว์”
2. เสื้อเพื่อล่าสัตว์: ภาพการจับกุมนายเปรมชัย เผยให้เห็นเสื้อที่เขาใส่ในวันดังกล่าว ซึ่งมีผู้รู้ให้ความเห็นว่า เสื้อตัวดังกล่าวคล้ายคลึงกับเสื้อที่พรานล่าสัตว์ใช้ใส่สำหรับล่าสัตว์โดยเฉพาะ
3. หนังเสือโคร่งในห้องทำงาน: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้ตีพิมพ์ภาพ นายเปรมชัยในวัย 36 ปี ยืนถ่ายภาพคู่กับหนังเสือโคร่ง บนเก้าอี้หนังสีเขียว ซึ่งระบุว่าภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 และไม่เคยถูกตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน
4. พบพิรุธ และตักเตือนแล้ว: นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ระบุว่า ก่อนจับกุมนายเปรมชัย ก่อนได้ยินเสียงปืน มีการเข้าตักเตือนและให้คำแนะนำเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ประพฤติตัวอย่างถูกต้อง เพียงแต่ว่ามีการเพิกเฉยและดื้อรั้นเกิดขึ้น นำไปสู่การพบพิรุธสงสัย “ถ้าเขาเชื่อเราแต่แรกตามที่แนะนำ เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเข้ามาล่าสัตว์” ชี้ให้เห็นเจตนาอันไม่บริสุทธิ์
5. สอบเจ้าหน้าที่มากกว่าผู้กระทำผิด: นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดพญาเสือ ระบุว่า เหตุใดตั้งแต่วันที่มีการจับกุมขบวนการล่าสัตว์ดังกล่าว จึงยังไม่มีการเรียกผู้ต้องหาสอบ แต่ฝ่ายป่าไม้ซึ่งในฐานะโจทก์ กลับถูกสอบกลายเป็นจำเลยเสียเอง ซึ่งเป็นข้อพิรุธในมุมสอบสวนที่คนตั้งข้อสังเกตว่า จะเรียกสอบจนพบช่องโหว่ใช่ไหม หรือจุดบกพร่องของป่าไม้เลยหรือไม่
6. คลิปเสียงติดสินบนหาย: คลิปเสียงที่ระบุว่ามีการต่อรองไม่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ถูกส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต่อมาตำรวจอ้างว่าคลิปเสียงดังกล่าวได้หายไป สวนทางกับหัวหน้าชุดพญาเสือที่บอกว่า คลิปเสียงไม่ได้หายไปไหน แต่การที่ทางเจ้าหน้าที่จะขอคลิปเสียงนั้น ต้องทำหนังสือขออย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมาเป็นลักษณะในการโทรศัพท์พูดคุยเพื่อขอเท่านั้น ขณะที่ตำรวจบอกในเวลาต่อมาว่าไม่หาย แต่พยานหลักฐานคลิปเสียงอ่อน อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีติดสินบนต่อเปรมชัยได้
7. ยังระบุไม่ได้ว่าเปรมชัยเป็นมือยิงเสือดำ: ผลตรวจอาวุธปืนที่พบในที่เกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกลางรายงานผลยืนยันว่า มีลายนิ้วมือของนายเปรมชัยติดอยู่บนโกร่งไกปืนลูกซอง ขณะที่ผลตรวจรูกระสุนปืนที่หนังเสือดำ 3 ใน 8 รู ยืนยันชัดว่าเป็นแผลที่เกิดจากกระสุนลูกปรายจากปืนลูกซอง ส่วนอีก 5 รู ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเสือดำถูกยิงกี่นัด และยังระบุไม่ได้ว่านายเปรมชัยคือมือยิงหรือไม่ เพราะมีปืนยาวถึง 3 กระบอก
8. เปรมชัยหนีหรือไม่: หลังจับกุม สาธารณะชนพบเห็นการปรากฏกายของนายเปรมชัยที่ สภ.ทองผาภูมิ แต่หลังจากนั้นยังไม่มีใครได้เห็นความเคลื่อนไหว รวมทั้งการปรากฏตัวของเขาอีกเลย แม้พนักงานสอบสวนจะได้ออกหมายเรียกถึง 2 ครั้ง ก็ถูกปฏิเสธและขอเลื่อนมาโดยตลอด มีเพียง นายวิทูลย์ พรายแย้ม ทนายความ ระบุว่า ยังอยู่ในประเทศไทย และยังออกปฏิบัติหน้าที่ ตรวจงานตามไซต์งานทุกวัน แต่ก็ไม่มีใครพบเห็น
ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ซึ่งคดีอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจภาคนี้ เชื่อว่า นายเปรมชัย ยังอยู่ในประเทศไทย เพราะไม่มีข้อมูลเดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด และในวันที่ 5 มี.ค. นายเปรมชัยจะต้องมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง หากไม่มาจะถูกหมายจับ และนั่นอาจเป็นวันสำคัญที่ต้องจับตา
9. ถอนข้อหาทารุณกรรมสัตว์ ช่วยเปรมชัยหรือไม่: จากกรณีที่มีการเพิกถอนข้อหา ‘ทารุณกรรมสัตว์’ ต่อนายเปรมชัย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของตำรวจ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่า ข้อหาดังกล่าวไม่ได้หลุด แต่เนื่องจากข้อหานี้ไม่มีในข้อกฎหมายตาม พรบ.ทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จึงได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนไปพิจารณาว่า ผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเข้าข่ายมีเจตนากลั่นแกล้ง หรือแจ้งความเท็จหรือไม่
10. ทำคดีล่าช้า: กระแสสังคมจับตาการดำเนินคดีนี้อย่างมาก มีการวิจารณ์ว่าทำงานล่าช้า ดูเหมือนจะมีการเอื้อต่อผู้ต้องหาหรือไม่ ทั้งๆ ที่พยานหลักฐานมีครบ ด้าน รอง ผบ.ตร. ยันว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำคดีล่าช้า เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีเวลาสรุปสำนวนคดี 7 ผลัด และขณะนี้คดีมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 80 แล้ว มีการสอบปากคำพยานไปแล้วกว่า 30 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พยานแวดล้อม และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ มั่นใจสามารถสรุปสำนวนให้พนักงานอัยการได้ก่อนครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 4 ในวันที่ 24 มี.ค. นี้ อย่างแน่นอน
นักอนุรักษ์ – นักกฎหมาย – นักข่าว หลายภาคส่วนกังวลและกังขาต่อคดี
หลังการจับกุมดำเนินคดีกับนายเปรมชัยและพวก นอกจากเรื่องคดีความแล้ว ความกังวลต่อกระบวนการยุติธรรม ในหลายส่วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปพร้อมๆ กัน หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ ตั้งแต่ในช่วงแรกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีผ่านรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ว่า
“วันนี้กระบวนการยุติธรรม เราถูกทดสอบอย่างแรงจากคดีนี้ เพราะว่าสถานะของผู้ต้องหา ความเสียหายต่อทรัพยากร เสือดำตัวเดียว ไก่ฟ้าหลังเทา มันแค่ 2-3 ตัว มันไม่ใช่ของอุทยานฯ แต่เป็นของคนทั้งประเทศ มันเป็นการทำลายทรัพยากรของคนทั้งประเทศ ถ้าเรายังเห็นว่าคดีที่มีอัตราการลงโทษน้อยๆ แล้วรอการลงโทษได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”
ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนความคาดหวังของสังคมและแรงผลักดันของตลาดในเรื่องจริยธรรมและธรรมาภิบาลของคนในระดับผู้บริหาร ก.ล.ต. จึงอยากให้บริษัทดังกล่าวพิจารณาว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร จนถึงขณะนี้เรื่องก็ยังเงียบ
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) สโมสรนิสิตวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ทวงถามความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการดำเนินคดีที่นายเปรมชัย กรรณสูต และพวกรวม 4 คน ถูกจับในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ระบุข้อสังเกตเรื่องการไม่เรียกตัวผู้ต้องหา และการไม่เก็บหลักฐานสำคัญอย่างเขม่าดินปืน
ขณะที่ในวันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวในกลุ่มอนุรักษ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลายกลุ่มเกี่ยวกับกรณีนี้
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ถ้านับตามวันที่ยิงเสือ วันที่ 4 เดือนหน้า (มี.ค.) จะครบเดือน วันที่ 5 วันจันทร์ พวกเราน่าจะต้องสรุปความคืบหน้าคดี ว่าคุณศรีวราห์ ทำงานคืบหน้าไปอย่างไรแค่ไหน
จากนั้น คงต้องร่วมกันแสดงออก เคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐบาลทราบว่าพวกเราไม่นิ่งเฉย สังคมต้องการความเป็นธรรม จับคนทำผิด คนยากจน ทำไมดำเนินคดีให้คนผิดได้รับโทษรวดเร็ว แต่กับคนมีอิทธิพลจึงคนละเรื่อง เรื่องนี้ผมว่ากระบวนการพิจารณาคดีที่เรียกว่า ป.วิอาญา นี่คงต้องถูกสังคายนาใหญ่
นอกจากนี้ยังระบุว่าคดีคุณเปรมชัย 1. มีหนังเสือดำถลกไว้เรียบร้อย ทาเกลือ 2. มีต้มหางเสือในหม้อ ที่คุณแคมปิ้ง 3. มีปืน และเสียงปืนจากแคมป์ที่พัก ที่ไม่ได้อนุญาต 4. มีเสียงต่อรองในคลิป
ถ้าแค่นี้ไม่จบ ไม่พอ รอตรวจขี้อะไรไปเรื่อยในความรู้สึกผม ผมว่ายังไงๆ ก็มีฝ่ายทำคดีหาทางช่วยเปรมชัยแน่ๆ ขนาดนี้ 1. ไม่ควรให้ประกัน 2. คนแบบนี้เป็นภัยต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติเห็นๆ 3. หลักฐานขนาดนี้ ถ้าหลุด รัฐบาลนี้ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้นะ”
ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คุณหมอนักอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า หากสังคมเราปล่อยให้ผู้ต้องหาคดีนี้ลอยนวลได้จะส่งผลกระทบ ฉุดรั้งให้สังคมไทยเราถดถอย ไม่มีโอกาสเป็นอารยประเทศกับชาวโลกได้เลย จะสร้างจิตวิทยาสิ้นหวังให้คนในชาติ ที่เคยอยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ ล้มเลิกความพยายาม และหันมาเอาตัวรอดไปวันๆ ตอกย้ำให้เด็กรุ่นใหม่เชื่อว่า ความดี ความถูกต้อง การเคารพกฎกติการ่วมกันไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่าใดๆ เพื่อความอยู่รอดในสังคมไทย เราทุกคนต้องแสวงหาความร่ำรวย และ connection เท่านั้น
ด้าน นายจตุรงค์ สุขเอียด ผู้สื่อข่าวชื่อดังรายการข่าว 3 มิติ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (25 ก.พ.) พร้อมกับระบุว่าคดีนายเปรมชัย ล่าเสือดำ ไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานใหม่ออกไปในแนวกว้าง หาคลุมแผ่ไปทั้งในบ้านนอกบ้าน เอาให้น้อยแต่ให้ลึกลงไป ที่เขาเจตนานำอาวุธเข้าไปล่าเสือดำและสัตว์ป่าหรือไม่ จากหลักฐานในป่านั้นก็น่าจะพอทั้งพยานบุคคลที่เห็นเขาไป พยานที่จับกุม ซากเสือดำที่พบถูกยิงตาย ไม่ใช่ตายเองตามธรรมชาติ เอาให้ชัดแค่นายเปรมชัย ร่วมล่าหรือล่าเสือในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า ประเด็นอื่นค่อยว่ากันไป ติดคุกค่อยไปขยายประเด็นอื่นก็ได้ ลุงตำรวจอย่าเยอะจนย้วย
ล่าสุดวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีนี้ว่า ขออย่าไปตัดสินหรือคาดการณ์ล่วงหน้า เพราะเป็นเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอย่าเอาไปเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ไม่ใช่ว่าคนรวยติดคุกหรือไม่ติดคุก ไม่เช่นนั้นสังคมก็จะปั่นป่วน จึงขอให้เชื่อมั่น อย่างไรก็ตามตนได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปแล้วว่าให้ทำตามข้อเท็จจริง ซึ่งทุกเรื่องรัฐบาลก็สั่งการมาตลอด เหลือเพียงอย่างเดียวคือตนคงต้องไปฟ้องเป็นอัยการ เป็นตำรวจและทำสำนวนเอง เพราะทุกคนคาดหวังกับตน ซึ่งได้พยายามทำตามหน้าที่ในกรอบอำนาจของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว จึงขอให้ทุกคนช่วยกันด้วย
ขณะเดียวกันในวันที่ 5 มี.ค. ที่จะถึงนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะเปิดเวทีสาธารณะ 1 เดือนความคืบหน้า คดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ 61 ณ สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อติดตามควาบคืบหน้าคดีนี้
เช่นเดียวกับที่คนไทยทั้งประเทศ รอดูผลลัพธ์ว่าคนผิดจะถูกลงโทษตามกระบวนการกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่