×

จับตา เงินบาทแข็งค่า ทดสอบแนวรับสำคัญที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดคาด Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว

13.01.2023
  • LOADING...
เงินบาท ‘แข็งค่า’

ค่าเงินบาทเช้านี้ (13 มกราคม) แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดในวันก่อนหน้าที่ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.25% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ 

 

โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดให้โอกาสถึง 95% ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% และยังคาดการณ์ว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับแถว 5.00% ก่อนที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 4.50% ได้ในปลายปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยดัชนีหุ้นเทค Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.64% ส่วนดัชนี S&P 500 ปิดตลาด +0.34%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.63% ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคและหุ้นสไตล์ Growth (ASML +1.1%, Adyen +1.1%) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า Fed จะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +1.4%, TotalEnergies +1.1%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่ล่าสุดแตะระดับ 78.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสำหรับน้ำมันดิบ WTI และระดับ 83.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสำหรับน้ำมันดิบเบรนท์

 

ด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งคาดหวังให้ Fed ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ย่อตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 3.45% อย่างไรก็ดี แม้พันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จะเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และนโยบายการเงินที่ตึงตัวของบรรดาธนาคารกลางหลักอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุด แต่ทว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ รวมถึงของไทย ได้ปรับตัวลงมาพอสมควรนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ นักลงทุนจึงควรรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นบ้างในการทยอยเข้าซื้อสะสม มากกว่าการไล่ราคาซื้อในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า Fed จะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อล่าสุดได้ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.3 จุด ส่วนบรรดาสกุลเงินหลักต่างก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เช่น เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.086 ดอลลาร์ต่อยูโร เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ 

 

นอกจากนี้การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ได้ช่วยให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์) สามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านแถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ขณะที่โฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า วันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจคือ รายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) โดยหากคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจในมุมมองที่เชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงได้จริง และจะทำให้ Fed ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย

 

พูนระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้นมาจากปัจจัยหลักทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ สำหรับวันนี้ในภาวะตลาดเปิดรับความเสี่ยง คาดว่าเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง โดยมีโอกาสที่ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 33 บาทต่อดอลลาร์ แต่เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นแรงจนหลุดแนวรับสำคัญ เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ของผู้เล่นต่างชาติมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังประเมินว่า บรรดาผู้ส่งออกอาจไม่ได้รีบเข้ามาขายเงินดอลลาร์ เพราะส่วนใหญ่อาจรอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง อาทิ อ่อนค่าใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ จึงยังมองกรอบเงินบาทวันนี้อยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X