บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อแม่ทัพอย่าง ระเฑียร ศรีมงคล ที่กุมบังเหียนมานับ 10 ปี กำลังจะก้าวลงสู่ตำแหน่ง พร้อมส่งต่อให้แม่ทัพคนใหม่ที่คาดหวังจะนำพา ‘กำไรหมื่นล้าน’ ให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2570
“ช่วงที่ผ่านมากำไรของ KTC เพิ่มขึ้นทุกปี ยกเว้นปี 2563 ที่เป็นปีโควิด ปีนี้และปีหน้าเราก็จะทำ New High แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมมีความฝั่นว่าปี 2567 ซึ่งจะมีซีอีโอคนใหม่ เราจะทำ New High และภายใน 3 ปี หลังจากนั้นกำไรจะแตะระดับหมื่นล้านบาท” ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนในระหว่างแถลงทิศทางธุรกิจประจำปี 2566 ณ ริมทะเลเดดซี ประเทศจอร์แดน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “เราจะไม่คอนเซอร์เวทีฟแล้ว” ระเฑียร ศรีมงคล ประกาศนำ KTC มุ่งสู่ ‘Moonshot’ ในปี 2565
- เศรษฐกิจฟื้นหนุน KTC กำไรครึ่งปี 3,641 ล้านบาท โต 9.9% ตั้งเป้ารุกเพิ่มสมาชิก
- KTC – ฟื้นตัวดี แต่ Valuation ไม่น่าสนใจ
ปี 2566 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ระเฑียรย้ำว่า แม้ตัวเขาจะไม่อยู่ แต่สิ่งที่จะทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปคือทีมบริหารที่แข็งแกร่งอย่าง ประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานการตลาดบัตรเครดิต, เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุดสายงานสินเชื่อรถยนต์ และ พิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุดสายงานสินเชื่อบุคคล
ปี 2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ KTC ทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ กระบวนการ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง โดยจะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ (Flat Organization) และมีหน่วยงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ซึ่งการจะไปถึงจุดที่กำไรหมื่นล้านจะต้องเกิดจากการเตรียมการใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับองค์กร ตลอดจนธุรกิจหลักใน 3 ส่วน คือ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์
- การพัฒนาคนให้มีศักยภาพ ตลอดจนเพิ่มคนให้เพียงพอต่อเป้าหมายของธุรกิจ
- บูรณาการในเรื่องของข้อมูล เลือกเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า รวมไปถึงวางแผนธุรกิจต่อไปในอนาคต
“เราต้องปรับตัวในทุกรูปแบบ รวมถึงการเตรียมคนเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ เหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำ New High อย่างปี 2565 ก็คาดว่าตัวเลขกำไรจะอยู่ที่ 7 พันล้านบาท”
เรื่องนี้ บล.หยวนต้า ประเมินว่า ผลการดำเนินงานของ KTC จะเร่งตัวขึ้นทั้ง YoY และ QoQ ใน 4Q65 หลังเข้าสู่ช่วง High Season ของธุรกิจที่จะมีการจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตมากกว่าช่วงอื่นของปี เนื่องจากร้านค้าต่างๆ มีการจัดโปรโมชันด้านราคา จำนวนมาก
อีกทั้งคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ความต้องการในการใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ KT ยังเริ่มทำกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อเร่งปิดยอดก่อนจบปี ทำให้คาดว่าทั้งพอร์ตสินเชื่อและ Asset Yield จะมีแนวโน้มขยับขึ้น QoQ จึงคาดว่า KTC จะมีกำไรสุทธิปี 2565 จำนวน 7,251 ล้านบาท โต 23.3%
ธุรกิจบัตรเครดิต เน้นขยายฐานไปหากลุ่มรายได้สูง
ธุรกิจบัตรเครดิตยังเป็นธุรกิจหลักที่ KTC ให้ความสำคัญมาตลอด โดยสถานการณ์ตอนนี้เกือบทุกหมวดใช้จ่ายมีการเติบโตสูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด
“ตอนต้นปีเราต้องการให้ยอดใช้จ่ายเติบโต 10-15% แต่ตอนนี้โต 22% ซึ่งเป็นตัวเลขมากกว่าที่เราคาดหวัง หลักๆ กำลังซื้อมาจากกลุ่มที่มีรายได้สูง โดยเราตั้งเป้าบัตรใหม่ 2.5 แสนใบ ทำได้จริง 1.6 แสนใบ แต่การใช้จ่ายกลับสูงขึ้นมากในหมวด เช่น ประกัน น้ำมัน ท่องเที่ยว ช้อปปิ้งออนไลน์ และโรงพยาบาล” ประณยากล่าว
สำหรับแผนกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตในปี 2566 จะเน้นแนวคิด Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยปรับกระบวนการทำงานในทีมการตลาดให้กระชับ คล่องตัวมากขึ้น บน 5 แกนสำคัญ คือ
- การบริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ด้วยการกระตุ้นให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
- การเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป
- จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตร KTC เน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ หมวดร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรม (Dining & Hotel Dining) หมวดช้อปปิ้งออนไลน์และหมวดท่องเที่ยว
- ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในการจัดแคมเปญการตลาดและกิจกรรมการขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด
- บริหารจัดการการสื่อสารการตลาด (Marketing Communications) ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ KTC ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
โดยในปี 2566 ตั้งเป้ามีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 1.8 แสนใบ และคาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% จากปี 2565 หรือประมาณ 2.64 แสนล้านบาท
ธุรกิจสินเชื่อ ‘KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน’ ตั้งเป้ายอดสินเชื่อ 9.1 พันล้านบาท
ด้านธุรกิจสินเชื่อ เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุดสายงานสินเชื่อรถยนต์ มองว่า หลังจากการเปิดประเทศสู่ภาวะปกติพบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการสินเชื่อสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ลงทุนและใช้จ่าย อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปเติมเต็มความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้น
“อย่างไรก็ดี เรายังต้องสังเกตสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดสินเชื่อมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและแข่งขันรุนแรงจากผู้ประกอบการธนาคารและนอนแบงค์”
สำหรับแผนกลยุทธ์ของ KTC พี่เบิ้ม ในปี 2566 จะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ ทั้งการให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติใน 1 ชั่วโมง รับเงินทันที และเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสารและรายได้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
โดยธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร ซึ่งได้ปรับรูปแบบบริการให้เจ้าหน้าที่ธนาคารฯ สามารถทำรายการผ่านแท็บเล็ตในการรับสมัครสินเชื่อให้กับลูกค้าและอนุมัติแบบครบวงจรภายใน 1 ชั่วโมง รวมทั้งจะเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังแพลตฟอร์มหลักต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ KTC พี่เบิ้ม ได้วางบทบาทเป็นสินเชื่อทางเลือกคนไม่ท้อ เราจึงเปิดรับทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะคนทำมาหากินที่สู้ชีวิตและผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนใหญ่จากสถาบันการเงินอื่นๆ โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมียอดอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเป็น 9.1 พันล้านบาท
KTC PROUD คาดหวังพอร์ตโต 7%
ขณะที่ พิชามล จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุดสายงานสินเชื่อบุคคล กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อ บัตรกดเงินสด KTC PROUD เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้สินเชื่อได้ครบทุกฟังก์ชัน จนวันนี้บัตรใบเดียวก็สามารถทำได้ทั้งการเบิกใช้วงเงิน รูด โอน กด และผ่อน
แผนกลยุทธ์ในปี 2566 จะพัฒนาไปในทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มที่การเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบายล์แอปในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) และช่องทางการเบิก-ถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอป KTC Mobile ให้สะดวกขึ้น โดยเพิ่มบัญชี PromptPay ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง และเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วย
“เราคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่อีก 1.1 แสนราย”
เตรียมระดมเงินกู้อีก 1.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ระเฑียรกล่าวว่า KTC จะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
โดยจะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4,640 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ KTC
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 KTC จะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) 20:80 และต้นทุนการเงินอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 2.5-3.0%