เกิดเหตุประท้วงและนัดหยุดงานในศูนย์กลางการขนส่งทั่วโลก ตั้งแต่ยุโรปไปถึงเกาหลีใต้ เพิ่ม 4 เท่าในปี 2022 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง ด้านผู้เชี่ยวชาญประเมิน สถานการณ์ปีนี้อาจรุนแรงขึ้น หากเศรษฐกิจโลกแย่ลง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเผชิญกับความท้าทายต่อเนื่อง
ตามรายงานของ Crisis24 ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทางทะเล ระบุว่า เกิดการประท้วงหรือนัดหยุดงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของท่าเรืออย่างน้อย 38 ครั้งในปี 2022 มากกว่าปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดใหญ่ทำให้การค้าโลกหยุดชะงักถึง 4 เท่า
โดยผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพแรงงานหลายแห่งอธิบายว่า ในปีที่ผ่านมา แรงงานจำนวนมากรู้สึกถึงผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมาจากราคาเชื้อเพลิงและอาหารสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเกิดสงครามในยูเครน ขณะที่ค่าจ้างกลับหยุดนิ่ง ทำให้แรงงานกล้าที่จะเรียกร้องค่าจ้างมากขึ้น
โฆษกของ Crisis24 ยังกล่าวอีกว่า เหตุความไม่สงบไม่น่าจะลดลงในปีนี้ และในความเป็นจริงอาจเลวร้ายลงด้วย ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกไม่ดีขึ้น
ขณะที่ John Ahlquis ศาสตราจารย์จาก School of Global Policy and Strategy แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าวว่า “ขณะเดียวกัน โควิดสายพันธุ์ใหม่ก็ยังคงสร้างปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน และทำให้พนักงานมีอิทธิพลมากขึ้นในการเจรจาต่อรองสัญญา”
โดยตัวอย่างเหตุประท้วงและการนัดหยุดงานสำคัญในปีก่อนคือ เหตุคนขับรถบรรทุกชาวเกาหลีใต้ประท้วงหยุดงาน 2 ครั้งในระยะเวลา 6 เดือน ทำให้การดำเนินงานของตู้คอนเทนเนอร์ในเมืองปูซานประสบภาวะหยุดชะงัก และเหตุพนักงานท่าเรือของเยอรมนีและสหราชอาณาจักรนัดหยุดงาน ทำให้เกิดวิกฤตในท่าเรือบางแห่งของยุโรป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
อ้างอิง: