RIT Capital Partners หรือเครื่องมือการลงทุนขนาดใหญ่ของอังกฤษที่จัดตั้งโดยตระกูล Rothschild กำลังฉายสัญญาณเตือนกับความเสี่ยงของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เมื่อวันพฤหัสบดี (5 มกราคม) หุ้น RIT ปรับตัวลงเกือบ 10% หลังการเผยแพร่บทความเชิงลบของ Telegraph ที่มีต่อหุ้น RIT โดยอ้างอิงข้อมูลจากโบรกเกอร์ Investec ทั้งนี้ หุ้น RIT ทรัสต์เพื่อการลงทุนหรือกองทุนปิดที่กระจายการลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีราคาลดลง 23% ในปีที่แล้ว สะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่อพอร์ตลงทุนของบริษัท
ที่ผ่านมานักลงทุนต่างมีความสับสนต่อการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ทำให้ไม่กล้า ‘ช้อนซื้อ’ หรือตามซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ขณะที่หุ้นเติบโตที่มีมูลค่าสูงต้องเจออุปสรรคมากมายในช่วงสองปีที่ผ่านมา นักลงทุนจึงหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนมากขึ้น
ทั้งนี้ Investec ได้ปรับคำแนะนำหุ้น RIT จาก ‘ซื้อ’ เป็น ‘คงสัดส่วน’ โดยอ้างอิงถึงความเสี่ยงในการลงทุนบริษัทเอกชนนอกตลาดของกองทรัสต์ที่มีมากกว่า 40% ของพอร์ตการลงทุน ขณะที่ค่าเฉลี่ยตลอดทศวรรษมีมากกว่า 25% เท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการขาดความชัดเจนในการเปรียบเทียบมูลค่าระหว่างบริษัทมหาชนและบริษัทเอกชน นักวิเคราะห์จึงกังวลว่าเมื่อถึงเวลาค้นพบมูลค่า บริษัทเอกชนหลายแห่งอาจได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมีความเห็นตรงข้าม โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมา RIT Capital ยังคงแนวทางการลงทุนในรูปแบบเดิม เป็นเรื่องปกติที่บางรายการจะไม่แสดงมูลค่า อีกทั้งการลงทุนในบริษัทเอกชนโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีย่อมมีมูลค่าถูกกว่าอยู่แล้ว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเป็นเจ้าของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนร่วมลงทุน ตลอดจนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการจัดสรรสินทรัพย์ของสถาบันหลายแห่ง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้นักลงทุนค้นหาโอกาสใหม่ๆ ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ และการมีต้นทุนเงินที่ต่ำของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีหมายความว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทนกับความยุ่งยากหรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการระดมทุน
แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าดึงดูดมากขึ้น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็น ‘บั๊ก’ ที่รอการแก้ไข คือการที่สินทรัพย์นอกตลาดไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งหมายความว่ามูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้อ้างอิงจากตลาด แต่ขึ้นอยู่กับการประมาณการทางบัญชีซึ่งไม่ได้ปรับปรุงบ่อยเท่านั้น ทำให้สินทรัพย์นอกตลาดดูมีความผันผวนน้อยกว่า ในขณะที่สินทรัพย์ที่จดทะเบียนนั้นต้องเผชิญกับการขายหุ้นนาทีต่อนาที
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อทุกๆ ตลาดต่างชะลอตัวลง การขาดความชัดเจนในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะในเวลาที่ทุกอย่างดูมีมูลค่าด้อยลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- จับตา! หุ้นฮ่องกง ดีดกลับจริงหรือแค่ชั่วคราว หลังผู้นำจีนส่งสัญญาณหนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง
- ส่อง 9 ตลาดหุ้นเอเชีย ‘อินโดนีเซีย’ แชมป์เงินไหลเข้ามากสุด และเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่ยืนบวก
อ้างอิง: