×

เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง

06.01.2023
  • LOADING...

‘การเปิดประเทศของจีน’ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันจะดีดตัวขึ้น และผลักดันให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกลับมองว่า การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญน่าจะใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

 

นับจากต้นปีที่ผ่านมาภาวะตลาดน้ำมันโลกยังแทบไม่ต่างจากช่วงสิ้นปี 2022 เลย นั่นคือ ยังมีอุปทานที่ล้นตลาด ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันยังเผชิญกับปัญหาปริมาณการซื้อขายที่เบาบางลงกว่าที่เคยเป็นมาด้วย

 

โดยในวันนี้ (6 มกราคม) ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 74.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ราว 79.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับ 85.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันสุดท้ายของปี 2022

 

Gary Ross ผู้เชี่ยวด้านน้ำมันที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของ Black Gold Investors LLC กล่าวว่า ตลาดน้ำมันโลกในขณะนี้มีอุปทานที่ล้นตลาดอยู่อย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ตลาดต้องหาวิธีจัดการกับสต๊อกน้ำมันขนาดใหญ่นี้ 

 

“ด้วยภาวะอุปทานส่วนเกินในระยะสั้น ประกอบกับการปิดโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ จำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศหนาวจัด เมื่อเร็วๆ นี้ที่ทำให้ตลาดยังมีน้ำมันสำรองอีกมาก คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดน้ำมันยังไม่ฟื้นตัวจากการเปิดประเทศของจีน” ผู้เชี่ยวชาญระบุ

 

5 เหตุผลสำคัญทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง

 

1. การแช่แข็งครั้งใหญ่

ไม่นานก่อนวันคริสต์มาส สภาพอากาศที่หนาวเย็นได้กระทบพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ทำให้โรงกลั่นน้ำมันต้องยุติการผลิตอย่างรวดเร็ว และการผลิตส่วนหนึ่งก็ยังคงหยุดชะงักจนถึงสัปดาห์แรกของปี 2023

 

“เราได้เห็นการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ และนั่นหมายความว่าสมดุลของน้ำมันดิบได้อ่อนตัวลงอย่างแท้จริง” Amrita Sen หัวหน้านักวิเคราะห์น้ำมันจากบริษัทที่ปรึกษา Energy Aspects Ltd. กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg

 

2. เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีนจะชะลอตัวพร้อมๆ กันยังคงอยู่ โดยเมื่อวันอังคาร (3 มกราคม) ตัวเลขการผลิตแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนตกต่ำอย่างมากในช่วงปลายปี 2022 แม้ว่าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีความกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อไป

 

เช่นเดียวกับตัวเลขการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งเปิดเผยในวันพุธที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขการผลิตในยุโรปในเดือนธันวาคมก็ลดลงเช่นกัน

 

3. ฤดูกาลไม่อำนวย

ในช่วงไตรมาสแรกของปีมักเป็นช่วงเวลาที่มีน้ำมันสะสมในคลังจำนวนมาก ตามการคาดการณ์ล่าสุดโดยหน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่าจะมีน้ำมันสำรองประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน นับว่าสูงกว่าความต้องการในไตรมาสแรก โดยคาดการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นก่อนปัญหาสภาพอากาศที่เย็นจัดในสหรัฐฯ

 

4. ปัญหาเชิงเทคนิค

ในสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI Crude Futures) ทะลุเหนือค่าเฉลี่ย 50 วันในช่วงสั้นๆ ก่อนจะปรับตัวลง นับเป็นการเคลื่อนไหวที่กระตุ้นการขายทางเทคนิคเพิ่มเติม โดยแหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยกับ Bloomberg ว่า CTA ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ได้ขายน้ำมันไปในช่วงที่ราคาลดลงเมื่อวันพุธ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลง

 

5. ปัจจัยเสี่ยงต่ออุปทานในจีนยังมีอยู่

ด้าน FGE บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน ระบุว่า การยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดและการตรวจหาเชื้อโควิดของจีนอย่างกะทันหันตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม และจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์

 

FGE ยังกล่าวอีกว่า ขณะที่เมืองใหญ่ๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ผ่านพ้นจุดพีคของการระบาดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงชนบทจะจำกัดการฟื้นตัวของอุปสงค์ในระยะเวลาอันใกล้นี้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X