ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (5 มกราคม) ปิดตลาดปรับตัวดิ่งหนักเกือบ 400 จุด รับข้อมูลรายงานตลาดงานที่ยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนที่มองว่าสถานการณ์ของตลาดงานดังกล่าวจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ จนทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ Automatic Data Processing, Inc หรือ ADP เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 235,000 ตำแหน่ง ในเดือนธันวาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 153,000 ตำแหน่ง จากระดับ 127,000 ตำแหน่ง ในเดือนพฤศจิกายน และค่าจ้างก็มีการเติบโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ก็ได้มีการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 19,000 ราย สู่ระดับ 204,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย อีกทั้งจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 24,000 ราย สู่ระดับ 1.694 ล้านราย
รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งในการรับมือกับนโยบายของ Fed ที่พยายามจะสกัดเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดงานแกร่งจะถือเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่สำหรับบรรดานักลงทุนในเวลานี้ เพราะปัจจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในเหตุผลสนับสนุนหลักที่จะทำให้ Fed เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกยาว
โดยเมื่อวานนี้ (5 มกราคม) ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปิดตลาดปรับตัวร่วงลง 339.69 จุด หรือ 1.02% มาอยู่ที่ 32,930.08 จุด ด้านดัชนี S&P 500 ลดลง 44.87 จุด หรือ 1.16% ปิดที่ 3,808.10 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 153.52 จุด หรือ 1.47% ปิดที่ 10,305.24 จุด
Gita Gopinath รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ในช่วงสัปดาห์นี้ว่า เมื่อพิจารณาจากตัวบ่งชี้ในตลาดแรงงานบวกกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยดังกล่าวชี้ชัดว่า Fed จะยังไม่มีการเปลี่ยนนโยบายอัตราเงินเฟ้อของตนอย่างแน่นอน โดยสิ่งที่ IMF กังวลคือความยืดหยุ่นอย่างต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งการว่างงานยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการปรับขึ้นค่าจ้างยังคงสูงเกินไปสำหรับ Fed ที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%
ขณะนี้เหล่านักลงทุนต่างจับตารอดูรายงานการจ้างงานในวันนี้ (6 มกราคม) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ตลาดแรงงานตอบสนองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในสภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายในปัจจุบัน โดยขณะนี้หลายฝ่ายต่างคาดหวังให้รายงานการจ้างงานอ่อนแอกว่าที่คาดกันไว้
ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียกลับเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยเมื่อวานนี้ (5 มกราคม) หุ้นในเอเชียขยับพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ท่ามกลางความหวังที่จีนกลับมาเปิดประเทศ สะท้อนถึงการคลี่คลายของวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด ที่ทำให้จีนจะกลับมาใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติได้อีกครั้ง
โดยดัชนี MSCI ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 1% แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ในการซื้อขายช่วงเช้า ขณะที่ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่น เด้งขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบสามเดือน
Joanne Goh นักกลยุทธ์การลงทุนของ DBS Bank ในสิงคโปร์ ระบุว่า การที่จีนกลับมาเปิดประเทศได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาวิกฤตของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในปี 2022 อีกด้วย พร้อมคาดการณ์ว่าจีนน่าจะใช้เวลาปรับตัวประมาณ 6 เดือน ในการทำให้ประเทศกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และไม่คิดว่าแนวโน้มการเติบโตดังกล่าวของจีนจะพลิกกลับแต่อย่างใด
ความเชื่อมั่นในการเติบโตของจีนยังได้รับการสนับสนุนจากการออกมาให้คำมั่นของธนาคารกลางจีนก่อนหน้านี้ ที่ยืนกรานว่าธนาคารกลางจีนจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและโครงการลงทุนที่สำคัญ ตลอดจนสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้มีเสถียรภาพ
โดยเมื่อวานนี้ (5 มกราคม) หุ้นในกลุ่มอีคอมเมิร์ซและผู้บริโภคเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่เติบโตมากที่สุดในตลาดฮ่องกง โดยทำให้ดัชนี Hang Seng เพิ่มขึ้น 2% แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ในขณะที่ความหวังที่จีนจะ Come Back ได้ผลักดันให้ค่าเงินหยวนของจีนแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสนับสนุนหุ้นและสกุลเงินในภูมิภาค โดยหยวนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% อยู่ที่ 6.8750 หยวนต่อดอลลาร์
ส่วนราคาน้ำมันฟื้นคืนราว 1% เมื่อวานนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ขยับลงหนัก 2 วันติด ในช่วงเริ่มต้นปี 2023 โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 83 เซนต์ ปิดที่ 73.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 85 เซนต์ ปิดที่ 78.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่โดยภาพรวมราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของโควิดในจีน บวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซีอีโอ JPMorgan เตือน เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 6-9 เดือน
- หุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดบวกถึง 800 จุด จากที่ร่วงหนักกว่า 500 จุด หลังการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย.
- สหรัฐฯ รายงานเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ที่ 8.2% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ หุ้นสหรัฐฯ ดิ่งทันที!
อ้างอิง: