×

‘นายกฯ-ผู้ว่าการแบงก์ชาติ’ ญี่ปุ่น เรียกร้องภาคเอกชนขึ้นค่าแรงพนักงานให้สูงกว่าเงินเฟ้อ จับตาผลเจรจาค่าจ้าง ตัวกำหนดนโยบาย BOJ

04.01.2023
  • LOADING...
แบงก์ชาติญี่ปุ่น

นายกฯ และผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ขึ้นค่าแรงพนักงานให้สูงกว่าเงินเฟ้อ เพื่อบรรลุการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ก่อนการเจรจาต่อรองค่าจ้างที่กำลังจะมีขึ้น โดยการต่อรองครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเลิกใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินได้เร็วเพียงใด

 

วันนี้ (4 มกราคม) ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ปรับขึ้นค่าจ้างให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่กดดันให้บริษัทต่างๆ ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน เพื่อสนับสนุนความพยายามของ BOJ ในการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2% เนื่องจากก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยตกอยู่ในยุคเงินฝืดมานานหลายปี

 

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นมีขึ้นก่อนการเจรจาต่อรองค่าจ้างในฤดูใบไม้ผลิประจำปี ระหว่างบริษัทต่างๆ และสหภาพแรงงาน โดยการต่อรองครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณว่า BOJ จะยกเลิกการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่ได้เร็วเพียงใด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

คิชิดะยังกล่าวในการแถลงข่าวว่า ความมั่งคั่งที่สะสมโดยบริษัทต่างๆ ล้มเหลวในการส่งผ่านมายังครัวเรือนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลหวังจะมีความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งกล่าวเสริมอีกว่า “ผมต้องการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่าจ้างมีการปรับขึ้นทุกปี”

 

ในวันเดียวกัน คุโรดะได้ย้ำถึงความตั้งใจที่จะรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-Loose Monetary Policy) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% อย่างยั่งยืน

 

โดยระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตที่ค่อนข้างคงที่ BOJ จึงจะสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อให้เป้าหมายเงินเฟ้อยั่งยืนและมั่นคงควบคู่ไปกับการเติบโตของค่าจ้าง

 

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของญี่ปุ่นได้พุ่งสูงขึ้น (ซึ่งมักหมายความว่ามีแรงเทขาย ทำให้ราคาลดลง) หลังจาก BOJ สร้างเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่นักลงทุนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คุโรดะปฏิเสธโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นหลายครั้ง เนื่องจากมองว่าค่าจ้างจะต้องสูงขึ้น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อบรรลุเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืนก่อน

 

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 3.7% จากปีก่อนหน้า โดยนักวิเคราะห์ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ของ BOJ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่ค่าจ้างไม่ได้ปรับเพิ่มมากนัก และสร้างความกังวลว่าการบริโภคจะชะลอตัว

 

ด้านสหภาพแรงงานของญี่ปุ่นตัดสินใจเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้าง 5% ในการเจรจาค่าจ้างในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ซึ่งประกอบกับสภาพตลาดงานที่ตึงตัวขึ้นและการเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าจ้าง นับว่ากำลังสร้างแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ อย่างมาก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising