ธปท.-คลัง คงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 ไว้ที่ 1-3% เท่าเดิม จับตาการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว กดดันเงินเฟ้อระยะปานกลาง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศเรื่องเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2566 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
1. ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มในระยะข้างหน้า
ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดลงของอุปทานพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supply Chains) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน (Cost-Push Shocks) เป็นสำคัญ
โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ได้แก่
- ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก
- การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะปรับลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566 เมื่อแรงกดดันด้านอุปทานดังกล่าวทยอยคลี่คลายลง แต่อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะปานกลางยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภูมิทัศน์ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่อาจเกิดเร็วขึ้น
2. ข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2566 ไว้ที่ 1-3%
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. มีข้อตกลงร่วมกัน โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2566 โดยการกำหนดเป้าหมายดังกล่าวมีความเหมาะสม เนื่องจาก
- การคงเป้าหมายเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน และช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
- ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง การปรับเป้าหมายนโยบายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้า
- การกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้าง 2% มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลาง รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงินภายใต้สถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และปัจจัยที่ส่งผลต่อพลวัตเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างรายได้ให้ประชาชน ซึ่ง กนง. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
3. ข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน
กระทรวงการคลัง และ ธปท. จะหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ
- การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา
- แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป
- การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
4. ข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 2566 อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ภายนอกประเทศ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตได้ ดังนั้น กนง. จะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว รวมถึงประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง
- สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว
- แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
- ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย
นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
5. การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ