การทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยหลังมีการผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรคและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ล่าสุดของประเทศปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 88.2% จากที่เคยเพิ่มขึ้นไปสูงกว่า 90% ในช่วงวิกฤตโควิด
แม้ว่าตัวเลขที่ลดลงดังกล่าวดูเป็นสัญญาณในเชิงบวก แต่เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่เกือบ 15 ล้านล้านบาท รวมถึงแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปแบบไม่เท่าเทียม อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้ายังคงมีความน่ากังวลอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ผลสำรวจ Consumer Survey 2022 ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า ปัจจุบันรายได้ของครัวเรือนไทยจำนวนมากยังคงฟื้นตัวไม่ทันรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเปราะบางหรือครัวเรือนที่มีสัดส่วนหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้และทรัพย์สิน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2.1 ล้านครัวเรือน โดยพบว่าครัวเรือนกลุ่มนี้มีโอกาสประสบปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่ายมากกว่า 30%
การสำรวจยังพบสิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทย เช่น 61.2% ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบางมีปัญหาไม่มีเงินเหลือเก็บสำหรับใช้หนี้เดิมและอาจต้องก่อหนี้ก้อนใหม่มาเพื่อใช้หนี้เก่า เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย
ขณะเดียวกัน 15.1% ของครัวเรือนเปราะบางยังเป็นครัวเรือนสูงอายุที่มีคนในครอบครัวทำงานในวัยใกล้เกษียณ ทำให้ระยะเวลาในการหารายได้มาเพื่อลดความเปราะบางมีจำกัด อาจต้องทำงานจนเลยวัยเกษียณ เพื่อให้สถานะทางการเงินกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ครัวเรือนเปราะบางจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ทำให้บางส่วนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งมักมีดอกเบี้ยสูงที่ทำให้ภาระการชำระหนี้สูงตามไปด้วย
ย้ำแนวโน้มปี 2566 ยังน่าห่วง
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังคงมีความน่ากังวลอยู่แม้ว่าตัวเลขล่าสุดจะปรับลดลงก็ตาม เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังกระจายตัวได้ไม่ดี โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่รายได้ฟื้นช้ากว่ากลุ่มคนรายได้สูง และคาดว่ารายได้ของคนกลุ่มนี้จะยังคงโตไม่ทันรายจ่ายต่อเนื่องไปในปีหน้า
“การฟื้นตัวของเรายังกระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีและภาคเกษตรยังไม่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวมากนัก ทำให้ยังมีคนจำนวนมากที่รายได้โตไม่ทันรายจ่าย” อมรเทพกล่าว
อมรเทพกล่าวอีกว่า แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง แต่มูลค่าหนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจต้องก่อหนี้ก้อนใหม่เพื่อนำมาใช้หนี้เก่า ขณะที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ก็มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงธุรกิจรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
“ต้องไม่ลืมว่าหนี้ครัวเรือนของไทยมีหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีแฝงอยู่ด้วย ดังนั้นสินเชื่อที่ต้องจับตาดูและระมัดระวังคือสินเชื่ออเนกประสงค์ อีกประเด็นสำคัญที่ห้ามลืมคือการเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นและการสิ้นสุดลงของมาตรการลดเงินนำส่ง FIDF ที่จะมีผลในปีหน้า ซึ่งจะเร่งให้ภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบางยิ่งสูงขึ้น” อมรเทพกล่าว
แม้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลด แต่มูลหนี้จริงเพิ่ม
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้มุมมองในทิศทางเดียวกันว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยที่ลดลงในปัจจุบันเป็นผลมาจากการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของ GDP ซึ่งเป็นตัวหาร ในขณะที่ยอดหนี้ที่แท้จริงไม่ได้ปรับลดลงตามไปด้วยและยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงกว่าเดิมเล็กน้อย ซึ่งหากนับรวมหนี้อื่นๆ เช่น หนี้นอกระบบ หนี้ กยศ. และหนี้สหกรณ์ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากและไม่ควรชะล่าใจ
พิพัฒน์ระบุว่า แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในขณะนี้จะยังไม่มีสัญญาณที่จะลุกลามไปเป็นวิกฤต แต่การปล่อยให้หนี้อยู่ในระดับสูงต่อไปก็จะสร้างความเสี่ยงให้กับระบบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาวะที่ดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่ขาขึ้นที่ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
“เรามีคนจำนวนมากที่ไม่มีหนี้เลยหรือมีหนี้สอดคล้องกับรายได้ ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่มีหนี้สูงกว่ารายได้ 5-7 เท่า ซึ่งกลุ่มนี้มีความเปราะบาง ในภาวะที่เงินเฟ้อยังสูง ดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มนี้จะถูกกระทบ ซึ่งหากปัญหารุนแรงขึ้นก็จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ” พิพัฒน์กล่าว
พิพัฒน์ประเมินว่า การเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด โดยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ภาระการชำระหนี้สูงขึ้น หรือการลดยอดหนี้ที่จะช้าลงจากการที่ต้องจ่ายส่วนของดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีส่วนที่ไปลดต้นน้อยลงภายใต้มูลค่าการผ่อนชำระเท่าเดิม ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมกลุ่มคนที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า
หวั่นระบบการเงิน-การคลังล้มเหลว
สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นอกจากจะเป็นชนวนของวิกฤตเศรษฐกิจ และสามารถเป็นเชื้อไฟที่ขยายผลของวิกฤตให้รุนแรงและยาวนานขึ้นแล้ว ยังเป็นสัญญาณเตือนของสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ นั่นคือสามารถทำให้ระบบการเงินหรือการคลังล้มเหลวได้ หนี้ครัวเรือนจึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย แม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะปรับลดลงมาจากปี 2021 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยปัจจุบันครัวเรือนไทยมากกว่าครึ่ง (51.5%) เป็นครัวเรือนที่มีหนี้ และในจำนวนนี้ราว 1 ใน 5 เป็นครัวเรือนเปราะบางจากปัญหาหนี้หนัก ซึ่งมีความเสี่ยงจะถูกซ้ำเติมเพิ่มความเปราะบางเข้าไปอีกจากปัญหาค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
สมประวิณระบุว่า การแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางการเงินเป็นประเด็นระยะยาวที่จำเป็นต้องใช้หลายเครื่องมือประกอบกัน ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระ การลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้
ขณะเดียวกันการป้องกันไม่ให้ตกไปเป็นครัวเรือนเปราะบางก็ถือเป็นเรื่องสำคัญและมีต้นทุนต่ำกว่าการแก้ไข โดยสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสะสมเงินทุนสำรองเป็นสภาพคล่องยามฉุกเฉิน เพื่อป้องกันกรณีการขาดหายของรายได้หรือการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายอย่างฉับพลัน โดยอาจทำควบคู่ไปกับการทำประกันชีวิต สุขภาพ หรือประกันภัย เพื่อป้องกันความเสียหายจากกรณีไม่คาดฝันที่อาจเกิดกับชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สินที่จะสร้างรายจ่ายก้อนใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น
นอกจากนี้การมีวินัยทางการเงินก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการก่อหนี้ที่ต้องทำอย่างเหมาะสมกับความสามารถในการชำระของตนเอง หลีกเลี่ยงการก่อหนี้เกินตัว โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภค หรือควรเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยหากยึดตามเกณฑ์ทางสถิติ ภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนนั้นไม่ควรเกิน 30% ของรายได้โดยเฉลี่ย