×

‘กระทรวงพลังงาน’ ยอมหั่น ‘ค่า Ft’ ให้เอกชนลง 35.52 สตางค์ หวังลดผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า มีผลใช้รอบบิลค่าไฟฟ้า ม.ค.-เม.ย. 66

29.12.2022
  • LOADING...

กระทรวงพลังงานระบุ หลังให้ บมจ.ปตท. และ กฟผ. ทบทวนประมาณการราคาพลังงาน กกพ. มีมติให้ลดค่า Ft ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลงเหลือ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย ลดลง 35.52 สตางค์ต่อหน่วย จากมติเดิมที่ต้องจ่ายค่า Ft 190.44 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า

 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในการประชุมวานนี้ (28 ธันวาคม) กกพ. มีการประชุมเพื่อพิจารณาผลการคำนวณค่า Ft เพิ่มเติมอีกครั้ง โดยหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. หรือ PTT ทบทวนประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซล อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. สำหรับการคำนวณอัตราเอฟที (Ft) ตามที่ กกพ. ได้พิจารณาไปแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565

 

ทั้งนี้ จากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงต้องจ่ายค่า Ft ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ต้องจ่ายค่า Ft ในอัตรา 154.92 สตางค์ต่อหน่วย ค่า Ft ดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย โดยจะมีผลในรอบบิลค่าไฟฟ้าเดือนมกราคม-เมษายน 2566                                                                                                                                                       

 

นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป ผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภทจะได้รับการปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือน ดังนี้ 

 

  1. ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย เดิมอยู่ที่ 38.22 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ลดลงอยู่ที่ 24.62 บาทต่อเดือน ส่วนประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU เดิมอยู่ที่ 38.22 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ลดลงอยู่ที่ 24.62 บาทต่อเดือน

 

  1. กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ เดิมอยู่ที่ 46.16 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ลดลงอยู่ที่ 33.29 บาทต่อเดือน

 

  1. กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU เดิมอยู่ที่ 228.17 บาทต่อเดือน อัตราใหม่ลดลงอยู่ที่ 204.07 บาทต่อเดือน

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากภาคธุรกิจจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 5.69 บาทต่อหน่วย โดยระบุว่าค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้อาจจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X