วานนี้ (27 ธันวาคม) องค์กรการกุศล Christian Aid ได้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดที่รวบรวม 10 อันดับภัยพิบัติจากภาวะโลกรวน ที่สร้างมูลค่าความเสียหายทางการเงินมากที่สุดในปี 2022 โดยแต่ละเหตุการณ์มีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1 แสนล้านบาท
Christian Aid ระบุว่า ตัวเลขเหล่านี้เป็นการประเมินขั้นต่ำจากความเสียหายที่ทำประกันไว้เท่านั้น จึงเท่ากับว่ามูลค่าความเสียหายทางการเงินจริงมีแนวโน้มสูงกว่านี้มาก และไม่นับรวมถึงความทุกข์ยาก และการต้องสูญเสียเพื่อนมนุษย์ไปซึ่งประเมินค่ามิได้
ภัยพิบัติที่สร้างความสูญเสียทางการเงินสูงสุดคือ เฮอริเคนเอียน (Ian) ที่พัดถล่มสหรัฐอเมริกาและคิวบาเมื่อเดือนกันยายน โดยมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 130 คน และทำให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นฐานอีกกว่า 40,000 คน
ส่วนภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์มากที่สุดในแง่ของจำนวนคนคือ เหตุน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน ที่ทำให้พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้บาดาลเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ซึ่งทำให้ประชาชนกว่า 7 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 1,739 คน และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขประเมินความเสียหายที่ได้ทำประกันไว้อยู่ที่ราว 5.6 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก อันเป็นผลพวงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ทั้งฝนที่ตกหนักผิดปกติ คลื่นความร้อนที่รุนแรงและยาวนานขึ้น รวมถึงเฮอริเคนที่มีฤทธิ์ทำลายล้างมากกว่าเดิม และมีความเป็นไปได้ที่ปี 2023 จะมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น และจ่อทวีความรุนแรงหนักกว่าเก่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การดำรงชีวิตในรูปแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนผู้มีอำนาจในแต่ละประเทศที่จะต้องงัดใช้นโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อไป
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง: