×

CEBR ประเมิน ‘เศรษฐกิจจีน’ จะแซงหน้าสหรัฐฯ ช้ากว่าเดิม 6 ปี เหตุความตึงเครียดทางการค้า และนโยบาย Zero-COVID

26.12.2022
  • LOADING...
CEBR

เศรษฐกิจจีนจะไม่แซงหน้าสหรัฐอเมริกาจนกว่าจะถึงปี 2036 ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึง 6 ปี เหตุนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน และความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกับฝั่งตะวันตก ทำให้การขยายตัวของจีนช้าลง นอกจากนี้ CEBR ยังฟันธงว่าโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2023 เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำราบเงินเฟ้อ อาจทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศหดตัว

 

ตามรายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) ประเมินว่าจีนไม่น่าจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จนกว่าจะถึงปี 2036 อย่างเร็วที่สุด นับว่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึง 6 ปี สะท้อนว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน และความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกับฝั่งตะวันตก ทำให้การขยายตัวของจีนช้าลง

 

เดิมที CEBR คาดว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2028 ก่อนจะเลื่อนไปเป็นปี 2030 เมื่อปีที่แล้ว แต่ตอนนี้กลับเลื่อนไปจนถึงปี 2036 หรือหลังจากนั้น หากปักกิ่งพยายามเข้าควบคุมไต้หวัน และเผชิญกับการคว่ำบาตรทางการค้า

 

CEBR กล่าวอีกว่า “ผลของสงครามเศรษฐกิจระหว่างจีนและชาติตะวันตกจะรุนแรงกว่าที่เราได้เห็นจากรัสเซียโจมตียูเครนหลายเท่า และน่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงของโลก และการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อ แต่ความเสียหายต่อจีนจะมากกว่านั้นหลายเท่า และสิ่งนี้อาจทำลายความพยายามของจีนที่จะขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกได้”

 

รายงานยังทำนายว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมี GDP แตะ 10 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2035 หรือภายใน 13 ปีข้างหน้า

 

ฟันธงโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่ในปี 2023

นอกจากนี้ CEBR ยังระบุว่าเศรษฐกิจโลกมีขนาดทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว เป็นครั้งแรกในปี 2022 แต่จะหยุดชะงักในปี 2023 เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายยังคงต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 

 

ขณะที่ Kay Daniel Neufeld ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายพยากรณ์ของ CEBR กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยในปีหน้า อันเป็นผลมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

รายงานยังเสริมว่าการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้รับชัยชนะ พร้อมคาดว่าธนาคารกลางจะยึดมั่นในแนวทางเดิมต่อไปในปี 2023 แม้ว่าจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจก็ตาม โดยต้นทุนในการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงคือแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แย่ลงไปอีกหลายปีข้างหน้า

 

รายงานนี้มองโลกในแง่ร้ายมากกว่าการคาดการณ์ล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนตุลาคม ที่ระบุว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะหดตัว และมีโอกาส 25% ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกจะเติบโตน้อยกว่า 2% ในปี 2023 ซึ่งถือเป็นภาวะถดถอยทั่วโลก

 

กระนั้น GDP ของโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2037 หรือภายใน 15 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวไล่ตามประเทศที่ร่ำรวยกว่า โดยดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปจะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของ GDP โลกภายใน 15 ปี ขณะที่ส่วนแบ่งของยุโรปจะลดลงเหลือน้อยกว่า 1 ใน 5

 

ทั้งนี้ CEBR ใช้ข้อมูลพื้นฐานจาก World Economic Outlook ของ IMF และใช้แบบจำลองภายในเพื่อคาดการณ์การเติบโต อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X