สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยว่า Xiaomi หนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เริ่มปลดพนักงานในจีนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤตการว่างงานครั้งใหญ่ โดยการตัดสินใจลดจำนวนพนักงานของบริษัทจีนยังมีขึ้นเพียงไม่นาน หลังจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั่วโลก รวมถึง Meta และ Twitter ที่เลิกจ้างพนักงานหลายพันคน
ทั้งนี้ เพียงไม่นานหลังจากที่มีรายงานข่าวปลดแรงงาน ทางโฆษกของทาง Xiaomi ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการ ‘การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรตามปกติและการปรับปรุงองค์กร’ ก่อนย้ำว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพนักงานน้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ แต่สื่อของรัฐหลายแห่งในจีนได้รายงานในสัปดาห์นี้ว่า Xiaomi จะเลิกจ้างงานหลายพันคนในหลายแผนก รวมถึงหน่วยธุรกิจสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทาง Xiaomi ได้ปรับลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่ไปแล้ว ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 นี้ ทาง Xiaomi สามารถจัดการลดพนักงานลงแล้วเกือบ 1,900 คน จากจำนวนพนักงานประจำประมาณ 35,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประจำอยู่ที่ประเทศจีน อ้างอิงตามเอกสารทางการเงิน ภายในสิ้นเดือนกันยายน
การปลดพนักงานยังมีขึ้นในช่วงที่รายรับของบริษัทลดลงเกือบ 10% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากมาตรการสกัดกั้นไวรัสโควิดที่ค่อนข้างเข้มงวดของจีน และความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่ลดลง โดยยอดขายจากสมาร์ทโฟนซึ่งคิดเป็น 60% ของรายได้ทั้งหมดของ Xiaomi ลดลงแล้ว 11%
สำหรับการปลดพนักงานของสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ของจีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังดิ้นรนกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินนโยบายจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เข้มงวด ส่งผลให้โรงงานและกิจกรรมของผู้บริโภคหยุดชะงัก ธุรกิจต่างๆ จึงพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ทั้งนี้ ตามสถิติล่าสุดของรัฐบาลจีน อัตราการว่างงานในเขตเมือง ซึ่งเป็นมาตรวัดการจ้างงานอย่างเป็นทางการที่กว้างที่สุดของรัฐบาลจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.7% ในเดือนพฤศจิกายน แตะระดับสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน
ขณะที่โอกาสในการทำงานสำหรับคนหนุ่มสาวชาวจีนนั้นค่อนข้างมืดมนเป็นพิเศษ อัตราว่างงานของผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี แตะระดับ 17.1% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยทำไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ 19.9%
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายลงในปีหน้า เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยราว 11.6 ล้านคนตบเท้าเดินหน้าเข้าสู่ตลาดงาน ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่อ้างอิงจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อเดือนที่แล้ว
แม้ว่าอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการของจีนจะไม่ได้แบ่งข้อมูลตามอุตสาหกรรม แต่ผลลัพธ์ของบริษัทและการสำรวจของภาคเอกชน ชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งงานในตลาดทั่วทั้งเศรษฐกิจกำลังหายไป และอาจไม่มีที่ไหนที่มองเห็นวิกฤตงานได้มากไปกว่าภาคเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยดาวรุ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากความพยายามของรัฐบาลจีนจัดระเบียบบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Xiaomi ซึ่งนอกจาก Xiaomi แล้ว บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Alibaba (BABA) และ Tencent กลับไม่มีการเติบโต แถมยังต้องเผชิญกับการหดตัวของรายได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ทาง Alibaba ได้ลดจำนวนพนักงานลงไปแล้วมากกว่า 15,000 คน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน Tencent สั่งปลดพนักงานไปประมาณ 4,000 คน
นักวิเคราะห์ประเมินว่า การปลดพนักงานอาจเป็นเรื่องปวดหัวอย่างมากสำหรับรัฐบาลจีน ซึ่งระบุว่าการป้องกันการสูญเสียงานจะเป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูงสุดในปีหน้า
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับการประท้วงต่อต้านครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เพื่อกดดันให้รัฐบาลผ่อนคลายนโยบายสกัดกั้นการระบาดของโควิดซึ่งเข้มงวดเกินไป มีการเดินขบวนบนท้องถนนในหลายเมือง กระทั่งรัฐบาลจีนยอมถอย ประกาศผ่อนคลายการใช้มาตรการคุมเข้มโควิดในช่วงต้นเดือนธันวาคม
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยในเดือนกรกฎาคม ผู้ซื้อบ้านชาวจีนทั่วประเทศพร้อมใจออกโรงขู่ว่าจะหยุดชำระหนี้จำนองสำหรับโครงการบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ขณะที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงยังปะทุขึ้นในภาคกลางของจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังผู้ฝากเงินหลายพันคนไม่สามารถเข้าถึงเงินออมที่ฝากไว้กับทางธนาคารในชนบทหลายแห่งทั่วประเทศนี้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เชือดไก่ให้ลิงดู? ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของคนใหม่ Twitter ลงดาบไล่ออก ‘พารัก อักราวาล’ ผู้รั้งตำแหน่งซีอีโอ แต่คาดจะได้รับเงินชดเชยมากถึง 1.6 พันล้านบาท
- วิศวกรซอฟต์แวร์รายหนึ่งเขียนระบาย ถูก Facebook ‘เลิกจ้าง’ หลังย้ายจากอินเดียมาแคนาดาได้เพียง 2 วัน
- นักเศรษฐศาสตร์เตือน จะเกิด ‘การเลิกจ้างครั้งใหญ่’ ในมนุษย์เงินเดือนกลุ่มเทคโนโลยี-การเงิน-อสังหา อันเกิดจาก ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’
อ้างอิง: