‘Thai AirAsia’ ชี้ธุรกิจการบินเริ่มฟื้น ประกาศเตรียมเพิ่มเส้นทางบินใหม่รับดีมานด์ โอดปี 2022 ยังขาดทุน แต่ปีหน้าเชื่อว่ากลับมาทำกำไรได้แน่นอน หลังเพิ่มรอบบินทั้งในไทยและต่างประเทศ พร้อมบริหารจัดการต้นทุน และปรับขึ้นราคาค่าโดยสารเพื่อเสริมสภาพคล่อง
สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินแอร์เอเชีย ฉายภาพว่า ในปี 2022 นับเป็นปีที่ยากลำบากของธุรกิจสายการบิน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดอย่างหนักในช่วงไตรมาส 1 และ 2 แต่เมื่อยกเลิก Thailand Pass ในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าสถานการณ์การบินเริ่มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขในเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศอยู่ราวๆ 10 ล้านคน สอดคล้องกับการประเมินตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Thai AirAsia กลับมาบินเส้นทางต่างประเทศอีกครั้ง ประเดิม ‘กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์’ พร้อมราคาเริ่มต้น 1,900 บาท สำหรับสมาชิก BIG
- ‘ไทยแอร์เอเชีย’ เร่งหาสภาพคล่องหล่อเลี้ยงธุรกิจช่วงล็อกดาวน์ ย้ำยังรอความหวังซอฟต์โลนจากภาครัฐอยู่ ส่วนดีลขายหุ้นกู้แปลงสภาพจบเดือนหน้า
- ผู้คนกำลังออกเดินทางท่องเที่ยว แต่สายการบินกลับเจอปัญหา Boeing และ Airbus ผลิตเครื่องบินลำใหม่ไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องความต้องการในการเดินทางที่มีมากขึ้น ขณะที่เที่ยวบินมีจำกัด และในสนามบินยังขาดแคลนบุคลากร ทำให้เที่ยวบินยังเพิ่มไม่ได้เท่ากับก่อนโควิด
ทั้งนี้ ประเมินว่าในปี 2023 ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินจะมีความคึกคักมากขึ้นกว่าเดิม ผู้คนมีความต้องการเดินทางสูงขึ้น และประเทศไทยถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยว
จากการประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 18 ล้านคน หรืออาจสูงถึง 30 ล้านคน โดยตัวแปรหลักจะมาจากจีนที่หากมีการเปิดประเทศจะช่วยทำให้ตลาดฟื้นตัวอย่างมาก เพราะเริ่มเห็นสัญญาณของฮ่องกงและมาเก๊า คาดว่าในช่วงไตรมาส 1 รัฐบาลน่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกประเทศ รวมถึงพิจารณานโยบายจำกัดโควตาเที่ยวบินเข้าประเทศ
เมื่อสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวกลับมา ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของแอร์เอเชียกลับมาเป็นผู้นำตลาดอยู่ที่ 32% ทิ้งห่างจากคู่แข่งอันดับสองที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 21%
แน่นอนว่าสภาพตลาดยังมีการแข่งขันสูง ทั้งสายการบินในประเทศและระหว่างประเทศ แต่ไม่มีการแข่งกันเรื่องสงครามราคาแน่นอน เพราะทุกคนได้เรียนรู้กันมาแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นโอกาสของสายการบินราคาประหยัดที่สามารถอยู่ได้ทั้งในช่วงเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี
เช่นเดียวกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย ขณะนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัวจากการขยายเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกับเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในตลาดอินเดีย ตามด้วยเอเชียใต้และอาเซียน โดยล่าสุดได้เปิดเส้นทางดอนเมือง-ไทเป, ดอนเมือง-ฟุกุโอกะ ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดีและมีจำนวนผู้โดยสารเติบโตขึ้น
เห็นได้จากช่วงเดือนธันวาคมมีมากกว่า 1,000 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยแล้ว 10 ล้านคน สัดส่วนแบ่งเป็นคนไทย 70% และต่างชาติ 30% ต้องยอมรับว่าเส้นทางใหม่ๆ อย่างอินเดีย สามารถเข้ามาทดแทนในช่วงที่จีนยังไม่เปิดประเทศได้ ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงก่อนโควิดจีนทำรายได้กว่า 30%
สันติสุขกล่าวต่อว่า ในปี 2023 ได้วางแผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆ โฟกัสไปในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศเนปาล ปากีสถาน บังกลาเทศ และกาฐมาณฑุ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของตลาด
ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียมีเครื่องบินรวมกันทั้งหมด 53 ลำ ขณะนี้ใช้งานเพียง 43 ลำ ยังมีเครื่องที่จอดอยู่อีก 10 ลำ ถือว่ายังเหลือความสามารถที่จะให้บริการครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปีหน้ายังไม่มีความจำเป็นหาเครื่องบินเพิ่ม แต่ถ้าหากในไตรมาส 2/23 สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น บริษัทจะต้องหาเครื่องบินมาเพิ่ม เพื่อรองรับดีมานด์ในช่วงต้นปี 2024
แต่ยังมีปัญหาเรื่องกำลังคน หากย้อนกลับไปในช่วงโควิด พนักงานสายการบินได้หันไปประกอบอาชีพอื่นและกลับภูมิลำเนา ทำให้พนักงานบริการขาดแคลนและกลับมาไม่ทัน ส่วนของไทยแอร์เอเชีย ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 4,500 คน ยังไม่มีปัญหาและถือว่าเพียงพอต่อการบริการ
ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการทยอยคืนเงินผู้โดยสาร หลังจากช่วงโควิดที่มีการยกเลิกเที่ยวบินต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน 1. พยายามให้ผู้โดยสารเปลี่ยนเป็น Account เพื่อนำกลับมาใช้บริการใหม่ 2. ส่วนที่ต้องการเป็นเงินสด อยู่ระหว่างบริหารจัดการในเรื่องของสภาพคล่องด้วย เพราะต้องรีบจัดการคืนเงินให้กับผู้โดยสาร
ส่วนของผลประกอบการในปี 2022 ต้องยอมรับว่ายังขาดทุนอยู่ ต้องพยายามบริหารจัดการคอสต์ แม้รายได้เริ่มกลับมาแต่รายจ่ายยังสูง หลักๆ มาจากต้นทุนพลังงานและค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน ต้นทุนดังกล่าวสายการบินแบกรับมาตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นปลายปีจึงมีการปรับขึ้นราคาราวๆ 20% แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย เพราะต้นทุนสูงมาก ซึ่งหวังว่าการปรับราคาจะช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น
และยังต้องจับตาดูในปี 2023 หวังว่าจะมีตัวเลขผู้โดยสารกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และคาดการณ์ว่าผลประกอบการจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง ปัจจุบันสัดส่วนผู้โดยสารแบ่งเป็นคนไทย 70% และต่างชาติ 30%
ในที่สุดแล้วการกลับมาทำกำไรจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับสภาพตลาด เพราะยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงิน รวมถึงภาวะเงินฝืด ถ้าหากเกิดขึ้นผู้คนอาจจะใช้จ่ายลดลง และอาจจะเลือกเดินทางในประเทศที่ใกล้กว่าเดิม แต่เชื่อว่าการเดินทางยังจำเป็นและดีมานด์การท่องเที่ยวยังมีอยู่ต่อเนื่อง