หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ที่ทุกคนจับตามองและพยายามประเมินว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อใดคือ นโยบาย Zero-COVID ของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการคาดการณ์กันในหลากหลายแง่มุมว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจีนจะตัดสินใจยกเลิกมาตรการนี้เมื่อใด และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นบวกโดยทันทีเลยหรือไม่
พัฒนาการของ Zero-COVID ในจีน
ก่อนอื่นคงต้องมาพิจารณากันก่อนว่านโยบาย Zero-COVID มีจุดเริ่มต้นมาจากจุดไหน และในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดเหตุประท้วงรุนแรง! ในโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ในจีน สะท้อนความไม่พอใจ Zero-COVID จับตากระทบการผลิต iPhone
- ‘UN’ เผยประชากรโลกแตะ 8 พันล้านคนแล้ว ‘อินเดีย’ จ่อแซงจีนปีหน้า หลังอายุขัยเฉลี่ยมนุษย์สูงขึ้น
- นักลงทุนผวา! จีนสั่งล็อกดาวน์ระลอกใหม่ ฉุดหุ้น-น้ำมันทั่วเอเชียร่วงระนาว
หลังการระบาดของไวรัส SARS-CoV-2 ในช่วงปลายปี 2019 ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน หลังจากนั้นไวรัสดังกล่าวถูกขนานนามว่า โควิด-19 ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่าการระบาดของโควิดเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุขของประเทศ และจำเป็นจะต้องกำจัดให้ได้ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยสิ่งใด
มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้คือการกักตัวผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิด รวมทั้งกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่การแพร่ระบาดใหญ่ในเมืองต่างๆ จะตามมาด้วยการตรวจหาเชื้อแบบปูพรม รวมทั้งการสั่งล็อกดาวน์เมืองต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในเมืองอาจจะไม่ถึงหลักร้อย แนวทางที่เกิดขึ้นกลายมาเป็นที่รู้จักภายใต้เชื่อ Zero-COVID ก่อนจะพัฒนามาเป็น Dynamic Zero-COVID หลังจากที่มีการยอมรับแล้วว่าการติดเชื้อคงจะยังมีอยู่ต่อไป แต่ต้องพยายามหยุดยั้งไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ
หลังจากรัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมโควิดครั้งใหญ่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ผ่อนปรนมาตรการในหลายด้าน เช่น การอนุญาตให้ผู้ติดเชื้อและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดที่ไม่ได้แสดงอาการหรือมีการไม่รุนแรงสามารถกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยไม่จำเป็นจะต้องไปกักตัวในสถานที่ของรัฐ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวในประเทศหรือการเข้าพื้นที่สาธารณะก็ไม่จำเป็นจะต้องแสดงผลตรวจอีกแล้ว รวมไปถึงการที่รัฐบาลปรับแนวทางพิจารณาที่เหมาะสมมากขึ้นเกี่ยวกับการตัดสินใจล็อกดาวน์เมืองต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การใส่หน้ากากยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสถานที่ต่างๆ เช่นเดียวกับการเดินทางจากต่างประเทศเข้าไปยังจีนยังจำเป็นจะต้องกักตัว แต่ระยะเวลาในการกักตัวก็ถูกปรับลดลงจาก 7 วันในโรงแรม และ 3 วันที่บ้าน มาเหลือ 5 วันในโรงแรม และ 3 วันที่บ้าน รวมไปถึงการยกเลิกบทลงโทษสายการบินที่นำผู้ติดเชื้อเข้ามายังจีน
ในมุมของประชาชนชาวจีน หลังจากที่เริ่มเห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลับมาใช้ชีวิตตามปกติเช่นเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ประชาชนจำนวนนับพันรายตัดสินใจออกมาประท้วงและต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้น
ความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในช่วงส่งท้ายของ Zero-COVID
จีนคือประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และด้วยประชากรจีนที่มีกว่า 1.4 พันล้านคน ถือเป็นหนึ่งในกำลังซื้อสำคัญที่ช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะหลัง หากจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง พร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ย่อมส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ก่อนหน้านี้ John Woods ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Credit Suisse คาดว่า “จีนจะเปิดประเทศได้ช่วงปลายไตรมาส 1 ซึ่งล่าช้ากว่าการเปิดประเทศของฮ่องกงราว 6 เดือน หลังจากที่การฉีดวัคซีนในจีนเริ่มมากขึ้น”
John Woods คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปีหน้ามีโอกาสจะเติบโต 4.5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่างๆ เกี่ยวกับโควิด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ภายใต้นโยบาย Zero-COVID ไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มี Zero-COVID อีกแล้ว อาจจะทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก
ความผันผวนที่ว่านี้ เริ่มต้นตั้งแต่ความไม่แน่นอนของช่วงเวลาที่รัฐบาลจีนจะยกเลิกการใช้ Zero-COVID อย่างแท้จริง แม้ว่าเราจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันจากรัฐบาลจีนออกมาอย่างเป็นทางการว่า Zero-COVID จะถูกยกเลิก
ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่เคยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกมาสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ใกล้เคียงสุดอาจจะเป็นกรณีที่ ซุนชุนหลาน รองนายกรัฐมนตรีของจีนที่เคยกล่าวไว้เมื่อ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า “การต่อสู้กับโควิดของเราเดินมาสู่รูปแบบใหม่”
ขณะที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ซึ่งเดิมทีถูกคาดหวังไว้ว่าจะส่งสัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับการยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ผ่านการประชุมด้านเศรษฐกิจประจำปีที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดแล้วสีจิ้นผิงก็ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยกล่าวต่อเพียงว่า “ความสามัคคีและการร่วมมือกัน” เป็นทางเดียวที่จะต่อสู้กับปัญหาอย่างโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้น
Weifeng Zhong ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน จาก George Mason University กล่าวว่า “ด้วยการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล ทำให้ความผันผวนจะยังคงมีอยู่ในระดับสูง และจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปอีกหลายเดือน แม้รัฐบาลจะไม่มีความตั้งใจที่จะกลับไปล็อกดาวน์อีกแล้ว”
ขณะที่ Vivian Zhan ศาสตราจารย์ด้านการเมืองจีนของ Chinese University of Hong Kong มองว่า “ขณะนี้ยังเร็วเกินไปและเป็นความเสี่ยงด้านการเมืองหากรัฐบาลจะสื่อสารว่านโยบาย Zero-COVID กำลังจบลง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดด้านนโยบายหากจำเป็นจะต้องใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง”
ขณะที่ Bloomberg ประเมินถึงความเสี่ยงสำคัญ 3 ด้าน หาก Zero-COVID ถูกยกเลิกไปจริง ได้แก่
- ความเสี่ยงด้านสุขภาพ แม้ว่าชาวจีนเกือบ 90% จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่สำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 69% ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นปี มีเพียง 40% ขณะที่การศึกษาในฮ่องกงพบว่า ชาวจีนเกือบ 1 ล้านคน อาจเสียชีวิตจากโควิดเพราะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
- ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ การระบาดหนักของโควิดอาจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนแย่กว่าที่คิด ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ไม่ดีนัก เช่น วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และผลกระทบจากสงครามในยูเครน เราอาจเห็นผู้คนอยู่กับบ้านเป็นหลัก ภาคธุรกิจชะลอตัว โรงงานอาจผลิตสินค้าได้น้อยลง
- ความเสี่ยงด้านการเมือง รัฐบาลจีนรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนแผ่นดินใหญ่ เพียงต่ำกว่า 6 พันคน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด เทียบกับในสหรัฐฯ ที่มีผู้เสียชีวิตราว 1 ล้านคน แม้ว่าจำนวนประชากรจะน้อยกว่ามาก หากตัวเลขพุ่งสูงขึ้นในอนาคต อาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล
มากไปกว่านั้น การเปิดประเทศของจีนจะผลักดันการนำเข้าน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และวัตถุดิบต่างๆ พร้อมๆ กับกระตุ้นความต้องการที่นั่งบนเครื่องบิน ห้องพักโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ
Iris Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่ของ ING Groep NV กล่าวว่า “แน่นอนว่าสิ่งนี้จะผลักดันอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกให้สูงขึ้น หากจีนกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่อีกครั้ง จะมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ยอดขายมากขึ้น การผลิตมากขึ้น”
อีกเหตุผลที่บ่งชี้ว่า จีนอาจเป็นตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อในปีหน้าคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยความเป็นไปได้ที่ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัว รวมกับความหวังการเปิดประเทศใหม่ น่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าและตลาดการเงินของจีน ตามรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขานิวยอร์ก เรื่อง ‘What Happens in China Does Not Stay in China’ พบว่าจีนมีบทบาทสำคัญต่อการบริโภค การเติบโตของเศรษฐกิจ และจิตวิญญาณของนักลงทุนทั่วโลก
โดย Fed พบว่า นโยบายสินเชื่อแบบขยายตัว (Expansionary Credit Policy) ในจีน นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากในราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การผลิตทั่วโลก และ GDP นอกประเทศจีน ซึ่งได้แรงหนุนจากอุปสงค์ของจีนที่สูงขึ้น
แน่นอนว่าในระยะยาว การยกเลิกนโยบาย Zero-COVID และการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของจีนจะส่งผลบวกมากกว่าลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ เศรษฐกิจโลกอาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนที่มากขึ้น จากนโยบายที่อยู่กับเรามาร่วม 3 ปี
อ้างอิง:
- https://www.wsj.com/articles/chinas-zero-covid-policy-is-ending-but-not-everyone-is-celebrating-11670937991
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-12-06/how-china-looks-to-be-easing-its-covid-zero-strategy-quicktake-lbc3t6dj?sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-12-15/xi-stays-silent-as-covid-zero-strategy-he-championed-crumbles?sref=CVqPBMVg
- https://www.ft.com/content/c6c48443-8f15-49c7-8ba1-bf3a24939a52