องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) เปิดเผยคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2560 โดยไทยได้ 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ดีขึ้นกว่าปีก่อน 2 คะแนน ขยับจากที่ 101 ขึ้นไปอยู่ที่ 96 จาก 180 ประเทศ
สำหรับคะแนนดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในไทย ทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติใช้แหล่งข้อมูลในการคำนวณ 8 แหล่งข้อมูล จากทั้งหมด 9 แหล่งข้อมูล
โดยในปี 2560 มีแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 3 แหล่งข้อมูล ได้แก่
1. Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF) ซึ่งใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ได้ 37 คะแนน ลดลง 3 คะแนน
2. International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งคือการนำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ได้ 43 คะแนน ลดลง 1 คะแนน
3. Varieties of Democracy Project (V-Dem) ซึ่งวัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ได้ 23 คะแนน ลดลง 1 คะแนน
ประธาน ป.ป.ช. ยังไม่พอใจคะแนน เชื่อปมนาฬิกาหรูประวิตรมีผล
วันนี้ (22 ก.พ. 61) พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คะแนนรวมที่ออกมาถือว่ายังไม่น่าพอใจ เพราะเป้าหมายของเราในปี 2564 คือต้องได้ 50 คะแนน
ดังนั้นการได้คะแนนเท่านี้ถือว่ายังไม่ตรงตามเป้า ซึ่งต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่าคะแนนที่เราลดลง 3 ดัชนีมีองค์ประกอบเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง โดยจะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา เพราะการยกระดับคะแนน CPI ถือเป็นยุทธศาสตร์ย่อยในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงคะแนนแหล่งข้อมูลด้านความหลากหลายทางประชาธิปไตยและการทุจริตของคนในรัฐบาล (V-Dem) ซึ่งไทยได้คะแนนลดลง โดยมองว่าเป็นดัชนีตัวหนึ่ง ซึ่งคะแนนก็ลดลงไปเพียง 1 คะแนน
ประธาน ป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การทำผลสำรวจก็อาจใช้วิธีไปสำรวจตามกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งต้องดูว่าการเลือกกลุ่มตัวอย่างจะเป็นตัวแทนของประชากรภาพรวมได้หรือไม่ มันมีปัจจัยมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เชื่อถือเขา ผลที่ออกมาเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่เราต้องนำมาวิเคราะห์ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกดัชนีจะถูกต้องทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ประธาน ป.ป.ช. ยอมรับว่า เรื่องการตรวจสอบบุคคลในรัฐบาลมีส่วนทำให้คะแนนแหล่งข้อมูลบางตัวของไทยได้คะแนนลดลง เนื่องจากสื่อมวลชนไทยให้ความสนใจในเรื่องการเมืองเยอะ ซึ่งถ้าเขามาดูการรายงานข่าวสารและประชาชนให้ความสนใจก็มีความเป็นไปได้ เพราะมันหนีไม่พ้นที่เขาต้องเอาจุดสนใจของสังคมมาวิเคราะห์ แต่ส่วนตัวคิดว่าอีกสักพักหนึ่ง เมื่อทุกอย่างคลี่คลายไปตามกระบวนการ สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อถามว่าจะเร่งดำเนินการปมนาฬิกาหรูของบุคคลในรัฐบาล เพื่อชี้แจงนานาชาติไปในตัวด้วยหรือไม่
ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ตอนนี้เป็นภารกิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ คิดว่าเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนตนเองนั้นไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว
อย่างไรก็ตามจะแจ้งให้เลขาฯ ป.ป.ช. ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าให้สาธารณชนรับทราบบ่อยขึ้น และจะเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในเดือนมีนาคมนี้
ดัชนีคอร์รัปชันรัฐบาลประยุทธ์กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างกันแค่ไหน
สำหรับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของไทย ช่วงปี 2555-2560 อยู่ระหว่าง 35-38 คะแนน
โดยช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2555-2557 คะแนนอยู่ที่ 37, 35 และ 38 คะแนนตามลำดับ ส่วนช่วงรัฐบาล คสช. ระหว่างปี 2558-2560 คะแนนอยู่ที่ 38, 35 และ 37 คะแนนตามลำดับ จะเห็นได้ว่าคะแนนไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก
ส่วนคะแนนของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนปีนี้ สิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 84 คะแนน และได้อันดับ 6 ของโลก ขณะที่ประเทศในอาเซียนที่ได้คะแนนมากกว่าไทย คือ บรูไน (62 คะแนน) มาเลเซีย (47 คะแนน) ติมอร์-เลสเต (38 คะแนน)
เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาว กัมพูชา และกัมพูชา ได้คะแนนน้อยกว่าไทยตามลำดับ
สำหรับไทยมีคะแนนเท่ากับ อินโดนีเซีย บราซิล โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ปานามา เปรู และแซมเบีย โดยประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในปี 2560 คือ นิวซีแลนด์ ได้ 89 คะแนน
อ่านเพิ่มเติมที่ thestandard.co/corruption-perceptions-index-2017