×

‘ASEAN Outlook จับเทรนด์อาเซียน โอกาสของธุรกิจอยู่ตรงไหน’ เคล็ดลับมองเกมให้ขาด หาโอกาสที่แท้จริงให้เจอ จาก THE SME HANDBOOK by UOB Season 5 [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
09.12.2022
  • LOADING...

โอกาสท่ามกลางสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีที่เห็นชัดเจนคือ ห่วงโซ่อุปทานของโลกกำลังเปลี่ยนไป อานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิตทั่วโลกทำให้ ‘อาเซียน’ เป็นตลาดเนื้อหอม

 

 

อาจเรียกได้ว่านี่คือจังหวะดีหากภาคธุรกิจจะขยับธุรกิจไปสู่ตลาดอาเซียน แต่ท่ามกลางโอกาสทอง สิ่งสำคัญคือต้องมองเทรนด์ให้ขาด หาโอกาสที่แท้จริงของตลาดในอาเซียนให้เจอ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่ฉายภาพตลาดอาเซียนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ว่ามีประเทศไหนที่น่าเข้าไปตั้งฐานที่มั่น และธุรกิจไหนจะเติบโตได้ดีในตลาดอาเซียน เรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและสิ่งสำคัญที่คนทำธุรกิจมักมองข้าม ในหัวข้อ ‘ASEAN Outlook จับเทรนด์อาเซียน โอกาสของธุรกิจอยู่ตรงไหน’ บทเรียนที่ 4 จาก คัมภีร์ธุรกิจไทยบุกอาเซียน ฉบับพร้อมใช้ เตรียมธุรกิจทุกไซซ์ให้พร้อมก่อนไปบุกตลาดอาเซียน จากพอดแคสต์ THE SME HANDBOOK by UOB Season 5

 

ความตึงเครียดของสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี ทำให้อาเซียนได้รับประโยชน์เด่นชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนสู่อาเซียน ซึ่งวางตำแหน่งตัวเองเป็นฐานการผลิตร่วม และมีห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง นโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด และเป็นมิตรกับทุกประเทศ ทำให้อาเซียนโดดเด่นยิ่งขึ้น 

 

ปัจจัยที่ทำให้สงครามการค้าไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ คือ ยุทธศาสตร์ชาติของอเมริกา หรือ National Security Strategy ที่มองไปถึงปี 2050 ว่าจีนยังเป็นภัยคุกคามในทุกมิติ ส่งผลให้เงินจากหลายภูมิภาคทั่วโลกทั้งจากยุโรป อเมริกา จีน ยังคงมีแนวโน้มที่จะไหลเข้าสู่อาเซียน 

 

 

จับตา ‘อินโดนีเซีย’ ม้ามืดที่นักลงทุนทั่วโลกเฝ้ามอง

รศ.ดร.ปิติ ชี้ชัดประเทศที่มีโอกาสที่สุดคือ ‘อินโดนีเซีย’ โดยเฉพาะในปี 2023-2024 “เนื่องจากทุกบริษัทที่ปรึกษามองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าจะทำธุรกิจในอนาคตต้องมีฐานที่มั่นที่อินโดนีเซีย เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่สุด”

 

ข้อได้เปรียบที่ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศเนื้อหอมสำหรับนักลงทุนคือ

 

  • ประชากร 270 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก 
  • เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก 
  • เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและสหรัฐอเมริกา
  • มีสินแร่ที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะสินแร่ที่เกี่ยวข้องกับอนาคต เช่น Rare Earth (กลุ่มแร่หายาก) หรือเรื่องของพลังงานและเหล็ก 
  • อายุเฉลี่ยของวัยแรงงานยังอยู่ในช่วง 19-20 ปี 
  • คุณภาพการศึกษาและคุณภาพประชากรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 
  • GDP สูงขึ้นตลอด แม้ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี
  • ผ่านกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพเรียบร้อย 
  • กำลังเร่งปฏิรูประบบกฎหมาย

 

“เราเห็นความพยายามของอินโดนีเซียในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องของการเชื่อมโยงเกาะต่างๆ จากเดิมที่เคยโฟกัสพื้นที่ชายฝั่ง แต่การเข้ามาของ โจโก วิโดโด (ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน) เปลี่ยนวิธีคิด นำไปสู่นโยบายหลักที่เรียกว่า Maritime Fulcrum มีทะเลเป็นจุดเปลี่ยน มองทะเลเป็นโอกาส เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจประมง เศรษฐกิจการท่องเที่ยว พลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะ และเรื่องการใช้ประโยชน์จากทะเล กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่าโดดเด่นมากในศตวรรษที่ 21 ทำให้จุดอ่อนของอินโดนีเซียกลายเป็นจุดอ่อนที่กลับมาบริหารจัดการได้” 

 

‘เวียดนาม ไทย มาเลเซีย’ แต้มต่อที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

ถัดจากอินโดนีเซีย รศ.ดร.ปิติ มองไปยัง 3 ประเทศที่ยังน่าสนใจคือ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย เพราะมีตลาดภายในประเทศที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

“มาเลเซีย รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูง แต่ปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้ง สำหรับประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดี ทำเลที่ตั้งดี ตลาดขนาดใหญ่กว่ามาเลเซีย มีประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านและ Expat เข้ามาทำงานมากขึ้น แต่จุดอ่อนของไทยคือเรื่องการเมือง และจุดอ่อนของมาเลเซียและไทยคือ ยังไม่มีการปฏิรูปกฎหมาย 

 

“ฝั่งเวียดนาม รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีต่ำกว่าไทยและมาเลเซีย แต่มีแต้มต่อคือ FTA (Free Trade Area) เนื่องจากเวียดนามปฏิรูปกฎหมาย ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จึงสามารถเจรจากับประเทศที่มีกฎหมายแบบเดียวกันได้ แต่เวียดนามยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง และเรื่องของการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

 

 

เหตุผลที่ทุกธุรกิจเติบโตได้ในตลาดอาเซียน

เมื่อถามว่า กลุ่มธุรกิจไหนที่น่าจะเติบโตได้ดีในตลาดอาเซียน คำตอบของ รศ.ดร.ปิติ คือ “ทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่มีข้อจำกัด” เหตุผลคือทุกประเทศในอาเซียนมีการเติบโตแบบ K-Shape และเป็นตลาดหลายชั้น ตั้งแต่กลุ่มตลาดบน A++ ไล่ลำดับเป็นขั้นบันไดลงมาจนถึงล่างสุด จึงมีตลาดให้สามารถเข้าไปหาโอกาสในการทำธุรกิจได้ ทำสินค้าอะไรออกมาก็มีตลาดในภูมิภาคอาเซียนรองรับหมด นอกจากจะเข้าไปขยายตลาด ยังควรมองไปที่การเข้าไปขยายฐานการผลิตด้วย 

 

 

มองอาเซียนผ่านสายตาตลาดโลก โอกาสการเติบโตในเวทีโลกอยู่ตรงไหน

รศ.ดร.ปิติ แยกเป็นสองกลุ่มคือ การเมืองและเศรษฐกิจ ประเทศที่ต้องเฝ้าระวังคือเมียนมา ที่อาจมีปัญหาการเมืองลุกลามหากมีแนวโน้มถูกบีบคั้นต่อ และเริ่มคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศต่อเนื่อง อาจเห็นการอพยพคนจากเมียนมาเข้าสู่ภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

 

แต่ก็เห็นสัญญาณที่ดีเมื่อปลายปี 2022 ในเวทีโลกมีการประชุมครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลายเวที ทั้งการประชุม APEC การประชุม G20 และการประชุม East Asia Summit สิ่งที่ รศ.ดร.ปิติตั้งข้อสังเกตคือ การประชุมที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ อย่างการที่อินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G20 ทั้งที่ความจริงต้องจัดที่อินเดียก็ตาม

 

“มีการคุยกันระหว่างอินโดนีเซียและอินเดียตั้งแต่ต้น เพราะอินโดนีเซียปีหน้าต้องจัดการประชุม East Asia Summit และเตรียมเลือกตั้งประธานาธิบดี เกรงว่าจะบริหารจัดการไม่ได้จึงเกิดข้อตกลงนี้ขึ้น และปรากฏว่าการประชุมใหญ่ท้ายปีประสบผลสำเร็จมาก อินโดนีเซียกับอินเดียเริ่มเห็นแนวโน้มว่า ปีหน้าถ้าอยากให้เกิดอิมแพ็กระดับโลก ก็ควรจัดประชุม G20 ที่อินเดีย และจัด East Asia Summit ที่อินโดนีเซียในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แล้วยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มหาสมุทรอินเดียเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกก็น่าจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ” รศ.ดร.ปิติกล่าว

 

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ความสำเร็จของประเทศไทยในการผลักดันข้อตกลงอาร์เซ็ป (RCEP) เมื่อปี 2019 จนเกิดการลงนาม คงต้องขยายความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ และมองไปถึงการขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมถึงเรื่องการอัปเกรดข้อตกลงการค้าสินค้า ASEAN Trade in Goods Agreement ให้ครอบคลุมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีมาตรฐานสูงมากยิ่งขึ้นของทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน เพื่อจะเป็นแม่แบบให้ภูมิภาคอื่นๆ เป็นต้นทางในการเชื่อมโยง

 

“ประเทศไทยเองยังคงผลักดันเรื่องของ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง มีการพูดถึงการวางแผนล่วงหน้า 4 ปีว่า ต่อจากนี้จะมีรูปธรรมอย่างไรได้บ้างที่จะทำให้ 2 ใน 3 GDP ของทั้งโลก 21 เขตเศรษฐกิจเดินหน้าจัดตั้งเขตการค้าเสรีตรงนี้” รศ.ดร.ปิติกล่าว  

 

 

คำแนะนำถึงนักธุรกิจไทยควรเตรียมความพร้อมด้านไหนถ้าอยากบุกตลาดอาเซียน

“อย่างแรกคือ Mindset ต้องมองสภาพของประเทศนั้นๆ ในรูปแบบที่เป็นจริง อย่ามองโลกสวย มองด้วยเลนส์ที่ถูกต้อง อย่าเอาแต่ฟังเขาเล่าว่า ต้องลงไปในพื้นที่จริงๆ จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ ได้ดีที่สุด 

 

“สิ่งต่อมาคือ มองประเทศเหล่านี้เป็นคู่ค้าไม่ใช่คู่แข่ง เมื่อไรที่เขาเติบโต เราจะได้อานิสงส์จากตลาดที่ขยายขึ้นตามไปด้วย และอย่ามองแค่ตลาดในการทำธุรกิจ แต่ให้มองความสามารถของเขาในการที่จะเป็นสะพานไปสู่ประเทศอื่นๆ หลายคนเลือกลงทุนในกัมพูชา เพราะกัมพูชามีแต้มต่อพิเศษกับประเทศพัฒนาแล้วในรูปแบบของ GSP สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีมากกว่าประเทศอื่นๆ 

 

“และคงต้องจำไว้เรื่องของกระแสเงินสด เรื่องของระบบการชำระเงิน อัตราการแลกเปลี่ยน การวางแผนธุรกิจที่ดี รวมถึงเรื่องของการหาตัวแทน หาคนที่จะคบด้วย อันนี้ต้องทำการบ้านหนักมาก เพราะมันไม่มีโมเดลตายตัวว่าจะไปตั้งเป็นผู้แทนการค้า เป็นคนจัดจำหน่าย หรือจะเป็นพาร์ตเนอร์ร่วม 

 

“อีกเรื่องที่สำคัญคือ ทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าคุณมีของดีอะไรอยู่ต้องจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็นสิทธิบัตร ความลับทางการค้า ตราสินค้า ลิขสิทธิ์หรืออะไรก็ตาม ทำให้ถูกต้องให้มีการคุ้มครองให้ได้ เพราะในที่สุดแล้วเรื่องที่มักจะผิดใจกันบ่อยๆ คือ คนที่เราให้เขาเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย เขาเอาตราของเราไปจดทะเบียนในประเทศเพื่อนบ้าน จึงเกิดความเสียหายมานักต่อนัก 

 

“สุดท้ายคือเรื่องพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากภาครัฐของไทย เช่น สำนักงาน Thai Trade ของกระทรวงพาณิชย์ สถานทูต ตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมหอการค้า สมาคมนักธุรกิจ รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการต่างๆ ที่พร้อมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือนักธุรกิจไทยอยู่แล้ว”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X