×

James Cameron กับ 5 เรื่องราวของผู้กำกับและนักสำรวจที่นำโลกใต้ทะเลและภาพยนตร์ให้โคจรมาบรรจบกัน

06.12.2022
  • LOADING...
James Cameron

หลายคนอาจรู้จักชื่อของ James Cameron ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ระดับแถวหน้าของฮอลลีวูด ซึ่งมีผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามมาแล้วหลายเรื่อง พร้อมทั้งยังเป็นผู้กำกับที่พยายามจะทลายขีดจำกัดของการสร้างภาพยนตร์ด้วยการพัฒนาเทคนิคงานสร้างให้ก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้น เพื่อสร้างสรรค์ภาพในจินตนาการให้ออกมาสมจริงมากที่สุด

 

แต่อีกด้านหนึ่ง James Cameron ยังมีบทบาทเป็น ‘นักสำรวจ’ ที่ทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาและออกสำรวจโลกใต้ทะเลลึกอย่างจริงจัง ทั้งการดำน้ำลงไปสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน หรือจะเป็นการดำลงไปสำรวจก้นทะเลที่ลึกที่สุดของโลก

 

และความหลงใหลในการสำรวจโลกใต้ทะเลเหล่านี้ยังส่งอิทธิพลมาถึงการกำกับภาพยนตร์ของ James Cameron อีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ Avatar: The Way of Water ภาพยนตร์ลำดับที่ 2 ของแฟรนไชส์ Avatar ที่จะพาผู้ชมมาร่วมสำรวจท้องทะเลอันน่าอัศจรรย์ของ Pandora

 

ก่อนที่ผู้ชมจะได้ไปรับชมเรื่องราวเหนือจินตนาการของ Avatar: The Way of Water ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ THE STANDARD POP ขอชวนทุกคนมาร่วมชมเรื่องราวของ James Cameron กับความหลงใหลในโลกใต้ทะเลตั้งแต่วัยเด็กที่จุดประกายให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นนักสำรวจ และการโคจรมาบรรจบกันระหว่างโลกใต้ทะเลและภาพยนตร์ใน Avatar: The Way of Water

 

 

 

หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่จุดประกายให้ James Cameron ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ระดับแถวหน้าของฮอลลีวูด คือหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาเติมเต็มจินตนาการให้กับเขาตั้งแต่วัยเด็ก โดยในช่วงที่เขากำลังเรียนไฮสคูล เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการท่องโลกเหนือจินตนาการบนหน้าหนังสือ ซึ่งทำให้เขาเริ่มสนใจและศึกษาเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และอวกาศมากขึ้น พร้อมกับการหยิบดินสอปากกาขึ้นมาวาดเขียนเรื่องราวของตัวเองลงสู่หน้ากระดาษ

 

กระทั่งวันหนึ่ง James Cameron ได้ชมรายการของ Jacques Cousteau นักเขียน นักสมุทรศาสตร์ และนักสร้างสารคดีชื่อดัง ที่พาไปรู้จักกับเรือดำน้ำเทคโนโลยีสุดล้ำ ณ ขณะนั้นอย่าง Alvin ซึ่งทำให้เขาค้นพบว่าภายในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์อยู่มากมาย ทั้งสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเลที่มนุษย์ยังไม่เคยรู้จัก เสมือนเป็นอวกาศอันกว้างใหญ่ที่อยู่ภายในโลกของเรา James Cameron จึงตัดสินใจเริ่มเรียนดำน้ำอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 15 ปี

 

และนับแต่นั้นเป็นต้นมา James Cameron ก็ทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาและท่องโลกใต้ทะเลที่เขาหลงใหลมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการสานฝันที่อยากจะบอกเล่าเรื่องราวในจินตนาการของตัวเองให้ออกมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ จนในที่สุด James Cameron ก็ได้หยิบนำสองสิ่งที่เขาหลงใหลอย่างโลกใต้ทะเลและภาพยนตร์ให้โคจรมาบรรจบกันใน The Abyss (1989)

 

 

หลังจากที่ James Cameron ประสบความสำเร็จจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง Aliens (1986) เขาก็ตัดสินใจหยิบพล็อตเรื่องของ The Abyss ที่เขาเคยเขียนไว้ในสมัยเรียนขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่

 

โดย James Cameron ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนบท The Abyss มาจากการที่เขาได้เข้าร่วมฟังการบรรยายทางวิทยาศาสตร์ในหัวข้อการดำน้ำใต้ทะเลลึกและการใช้ของเหลวในการช่วยหายใจ ซึ่งทำให้เขารู้สึกทึ่งกับโลกใต้ทะเลที่มีความคล้ายคลึงกับการสำรวจอวกาศ ทั้งความมืดมิดไม่มีแสงส่องไปถึง เต็มไปด้วยอันตรายที่เราไม่รู้จัก และต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อเข้าไปสำรวจ

 

James Cameron จึงหยิบนำมุมมองดังกล่าวมาขยายและแต่งแต้มจินตนาการของตนเองเข้าไปจนเกิดเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Abyss ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของทีมนักประดาน้ำเฉพาะกิจที่ต้องออกเดินทางสู่ก้นทะเลลึกเพื่อตามหาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่หายสาบสูญ ก่อนที่จะนำไปสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน

 

ต่อเนื่องกันที่ Titanic (1997) หนึ่งในผลงานของ James Cameron ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ด้วยการกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 2,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคว้ารางวัลออสการ์มาได้ถึง 11 สาขา และหนึ่งในนั้นคือสาขาใหญ่ของงานอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

 

โดยจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ระดับปรากฏการณ์เรื่องนี้มาจากการที่ James Cameron อยากจะลงไปสำรวจซากเรือ RMS Titanic ที่นอนอับปางอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก และเพื่อทำให้ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริง James Cameron จึงเดินทางไปเสนอไอเดียกับค่าย 20th Century Fox (20th Century Studios ในปัจจุบัน) ว่าเขาจะใช้เรือดำน้ำดำลงไปถ่ายภาพซากเรือ Titanic ของจริง เพื่อใช้สำหรับฉากเปิดเรื่อง ซึ่งทางค่ายก็สามารถนำไปใช้ในการโปรโมตภาพยนตร์ได้อีกด้วย

 

เมื่อได้รับไฟเขียว James Cameron จึงได้พัฒนากล้องสำหรับถ่ายภาพในน้ำลึกขึ้นมาและนำไปติดตั้งบริเวณด้านนอกของเรือดำน้ำ เพื่อที่จะสามารถเก็บฟุตเทจของซากเรือ Titanic ให้ได้คมชัดมากที่สุด โดยหลังจากที่เขาและทีมงานได้ลงไปสำรวจซากเรือ Titanic ถึง 12 ครั้ง ก็ทำให้ James Cameron ตระหนักถึงความเศร้าของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์เรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ของตัวละครมาร้อยเรียงเข้ากับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ จนเกิดเป็นเรื่องราวความรักระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

หลังจากที่ James Cameron ได้มีโอกาสลงไปสำรวจเรือ Titanic ซึ่งทำให้เขาค้นพบว่ายังมีอีกหลายสิ่งในโลกใต้ทะเลที่รอให้เขาได้เดินทางไปสำรวจ เขาจึงตัดสินใจพักการกำกับภาพยนตร์และหันไปทำงานเกี่ยวกับการสำรวจใต้ทะเลอย่างเต็มตัว

 

โดยในปี 2002 James Cameron ได้ร่วมมือกับ Gary Johnstone ในการทำสารคดีเรื่อง Expedition: Bismarck ซึ่งพาคนดูไปสำรวจเรือประจัญบานบิสมาร์คของเยอรมนีที่อับปางลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ตามมาด้วย Ghosts of the Abyss (2003) ภาพยนตร์สารคดีที่ James Cameron รับหน้าที่เป็นผู้กำกับเต็มตัว โดย James Cameron และทีมงานได้เดินทางกลับไปสำรวจซากเรือ Titanic อีกครั้ง แต่ครั้งนี้พวกเขาได้นำอุปกรณ์สำรวจที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษในชื่อ Jake และ Elwood เพื่อใช้สำหรับการสำรวจภายนอกและภายในของเรือ Titanic ควบคู่ไปกับการใช้ CGI เพื่อสร้างภาพจำลองให้ผู้ชมเห็นเรือ Titanic ในสภาพที่ยังสมบูรณ์

 

ต่อมา James Cameron ก็ได้จับมือร่วมกับ NASA และนักชีววิทยาทางทะเล ในการเดินทางสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Aliens of the Deep (2005)

 

นอกจากการร่วมมือกับ NASA แล้ว ในปี 2012 James Cameron ยังได้มีโอกาสไปร่วมทำโปรเจกต์สุดท้าทายกับ National Geographic อย่าง Deepsea Challenger ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ James Cameron ได้ร่วมมือกับทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์มากฝีมือ ในการสร้างเรือดำน้ำชื่อ Deepsea Challenger เพื่อทำภารกิจสำรวจร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดของโลก โดย James Cameron ถือเป็นนักสำรวจคนแรกของโลกที่ออกเดินทางไปสำรวจร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาด้วยตัวคนเดียวได้สำเร็จ

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่ James Cameron ได้มีส่วนร่วมในการสำรวจโลกใต้ทะเลเท่านั้น แต่จากผลงานเหล่านี้ก็คงจะแสดงให้ทุกคนเห็นแล้วว่า James Cameron ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการสำรวจโลกใต้ทะเลที่เขาหลงใหลตั้งแต่วัยเด็กอย่างเต็มที่ จนส่งให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักสำรวจใต้ทะเลที่ผู้คนต่างให้การยอมรับในที่สุด

 

 

จาก 3 หัวข้อที่ผ่านมา เราคงจะเห็นแล้วว่าความหลงใหลในนิยายวิทยาศาสตร์และการสำรวจโลกใต้ทะเลตั้งแต่วัยเด็กมีอิทธิพลต่อการกำกับภาพยนตร์ของ James Cameron อย่างแจ่มชัด และผลงานเหล่านั้นก็ส่งให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับแถวหน้าของฮอลลีวูดได้สำเร็จ

 

เช่นเดียวกับ Avatar: The Way of Water ภาพยนตร์แอ็กชันไซไฟฟอร์มยักษ์แห่งปี ที่จะพาผู้ชมไปสำรวจท้องทะเลอันน่าอัศจรรย์ของดาว Pandora ผ่านเรื่องราวของครอบครัว Jake Sully (Sam Worthington) และ Neytiri (Zoe Saldaña) ที่ต้องร่วมมือกันต่อสู้และข้ามผ่านภยันตรายครั้งใหม่

 

ย้อนกลับไปในภาพยนตร์ Avatar (2009) ภาคแรก เราจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งที่ถูกนำเสนอออกมาอย่างเด่นชัด คือการฉายภาพทิวทัศน์ของธรรมชาติอันงดงามบนดาว Pandora ควบคู่ไปกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกคุกคามโดยฝีมือของมนุษย์ และในครั้งนี้ James Cameron ก็ยังคงยึดประเด็นสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นแกนหลักสำคัญในการสร้างสรรค์เรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของแฟรนไชส์ Avatar ที่ถูกวางแผนสร้างภาคต่อไว้ถึง 4 ภาคด้วยกัน

 

โดย James Cameron และทีมเขียนบทใช้เวลาหลายปีในการออกแบบพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของดาว Pandora (James Cameron เริ่มต้นพัฒนาโปรเจกต์ภาคต่อในปี 2012) เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างสรรค์เรื่องราวที่พวกเขาต้องการนำเสนอ

 

และอย่างที่เราได้เห็นกันไปในตัวอย่างว่า Avatar: The Way of Water จะใช้ทิวทัศน์ของมหาสมุทรบนดาว Pandora เป็นฉากหลัง พร้อมกับการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับ Metkayina ชนเผ่า Na’vi ที่อาศัยอยู่บริเวณแนวปะการังและเป็นเผ่าที่มีสายสัมพันธ์ร่วมกับท้องทะเลอย่างลึกซึ้ง

 

โดยการสร้างสรรค์เรื่องราวของชนเผ่า Metkayina ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชาวเมารี ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่ง James Cameron ได้ร่วมมือกับ Cliff Curtis นักแสดงเชื้อสายเมารีและผู้รับบทเป็น Tonowari ในการศึกษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเมารี ไม่ว่าจะเป็นท่าเต้นดั้งเดิมที่เรียกว่า Hana และรอยสักต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้และสร้างภูมิหลังของชนเผ่า Metkayina ภายในเรื่อง เพื่อให้เรื่องราวของพวกเขาสามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมได้อย่างลึกซึ้ง

 

และเพื่อที่จะถ่ายทอดโลกใต้ทะเลของดาว Pandora ให้ออกมาสมจริงมากที่สุด James Cameron และทีมสร้าง จึงตัดสินใจที่จะถ่ายทำใต้น้ำจริงๆ โดยใช้แท็งก์น้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้มากถึง 900,000 แกลลอน และสามารถจำลองกระแสน้ำทะเลได้ในการถ่ายทำ

 

นอกจากนี้ James Cameron ยังได้ร่วมมือกับทาง Weta Digital สตูดิโอวิชวลเอฟเฟกต์ ผู้อยู่เบื้องหลังงานสร้างของ Avatar ภาคแรก มาร่วมพัฒนาเทคนิคในการตรวจจับความเคลื่อนไหวของนักแสดงขณะแสดงในฉากใต้น้ำ นอกจากนี้ทีมนักแสดงนำยังต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำน้ำแบบ Free Dive เพื่อฝึกฝนวิธีการเคลื่อนไหวและการกลั้นหายใจใต้น้ำระหว่างถ่ายทำให้ได้นานที่สุด เราจึงอาจกล่าวได้ว่า Avatar: The Way of Water ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานสุดทะเยอทะยานของ James Cameron ที่ต้องการส่งมอบประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่สมจริงและงดงามให้กับผู้ชมอย่างแท้จริง

 

 

   

 

นอกจากชื่อของผู้กำกับ James Cameron แล้ว Avatar: The Way of Water ยังคับคั่งไปด้วยทีมงานเบื้องหลังมากฝีมือที่จะมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวเหนือจินตนาการ นำโดย Jon Landau ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Titanic และ Avatar ภาคแรก มาดูแลในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ พร้อมด้วย Rick Jaffa และ Amanda Silver จาก Rise of the Planet of the Apes (2011) มารับหน้าที่เขียนบทร่วม

 

Russell Carpenter ผู้กำกับภาพเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Titanic ที่จะกลับมาร่วมงานกับ James Cameron อีกครั้ง, Dylan Cole จาก Maleficent (2014) และ Ben Procter จาก Avatar ภาคแรก มารับหน้าที่ออกแบบงานสร้าง, Bob Buck จากแฟรนไชส์ The Hobbit และ Deborah L. Scott จาก Titanic มารับหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกาย และ Simon Franglen จาก The Magnificent Seven (2016) มารับหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบ

 

เสริมทัพด้วยทีมนักแสดงจากภาคแรกที่จะกลับมาสานต่อเรื่องราว นำโดย Sam Worthington, Zoe Saldaña, Sigourney Weaver, Stephen Lang, Joel David Moore และ Giovanni Ribisi

 

พร้อมด้วยทีมนักแสดงชุดใหม่อย่าง Kate Winslet จาก Titanic, Bailey Bass จาก Anne Rice’s Interview with the Vampire (2022), Chloe Coleman จาก My Spy (2020), Cliff Curtis จาก Fast & Furious: Hobbs & Shaw (2019), Jamie Flatters จาก The School for Good and Evil (2022), Jack Champion จาก The Night Sitter (2018), Trinity Jo-Li Bliss จาก The Really Loud House (2022) และ Britain Dalton จาก Goliath (2021)

 

Avatar: The Way of Water มีกำหนดเข้าฉาย 14 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X